ระงับพิษ

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ระงับพิษ

ชื่อสมุนไพร ระงับพิษ
ชื่ออื่นๆ ดับพิษ (เชียงใหม่), จ้าสีเสียด (ลพบุรี), ปริก (ประจวบคีรีขันธ์), ระงับ, คอนหมา (สุรินทร์) ผักหวานด่าง
ชื่อวิทยาศาสตร์ Breynia glauca Craib.
ชื่อพ้อง
ชื่อวงศ์ Euphorbiaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
              ไม้พุ่มขนาดเล็ก ลำต้นตั้งตรง สูงประมาณ 3-5 เมตร ไม่มีขน กิ่งอ่อนแบนเล็กน้อย ต่อมาจะกลม  ผิวเรียบ เปลือกลำต้นเรียบ สีน้ำตาล ลำต้นแก่จะแตกเป็นสะเก็ดสี่เหลี่ยมแต่ไม่หลุดออกมา กิ่งอ่อน ยอดอ่อน มีสีแดง แตกกิ่งก้านเป็นทรงพุ่ม  ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่แกมใบหอก กว้าง 1.5-3 เซนติเมตร ยาว 2.5-7 เซนติเมตร เนื้อใบเหนียว หนาและแข็ง โคนใบมน ปลายใบแหลม หรือมน ขอบใบเรียบ ปลายสุดเป็นติ่งแข็งเล็กๆ เส้นใบแตกออกจากเส้นกลางใบ ข้างละ 3-4 เส้น หลังใบและท้องใบเรียบ หลังใบสีเขียวแกมน้ำตาล ท้องใบมีนวลสีขาว จับดูรู้สึกเหนียวมือ แผ่นใบห่อตัวเล็กน้อย หูใบกว้าง 0.8-1.2 ยาว 1.6-2.5 มิลลิเมตร ก้านใบสั้น ยาว 2-4 มิลลิเมตร ดอกช่อกระจุก ออกที่ซอกใบ ดอกย่อย 2-3 ดอก แยกเพศ อยู่บนต้นเดียวกัน ดอกตัวผู้ออกเป็นกระจุกเล็กๆ สีเหลืองแกมสีเขียวอ่อน ดอกย่อยเป็นรูประฆังคว่ำ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางดอก 2.6-3 มิลลิเมตร ก้านดอกยาว 3 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงบางเชื่อมติดกัน สีเขียวถึงสีส้ม วงกลีบเลี้ยงขนาดกว้าง 2.2-2.5 ยาว 2.6-3 มิลลิเมตร เกสรเพศผู้มี 3 อัน ก้านเกสรเชื่อมติดกัน ยาว  1.8-2.3 มิลลิเมตร อับเรณูยาว 1.2-1.5 มิลลิเมตร ดอกตัวเมียออกบริเวณง่ามใบ 1-4 ดอก ดอกกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.2-8 มิลลิเมตร ก้านดอกยาว 1.2-2.5 มิลลิเมตร ไม่มีกลีบดอก วงกลีบเลี้ยงยาว 2-3 มิลลิเมตร เชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 6 แฉก ขยายออกและติดคงทน แต่ละแฉกกว้าง 1-3.2 มิลลิเมตร ซ้อนทับกัน กลีบเลี้ยงสีเขียวถึงสีเหลือง ยอดเกสรเพศเมีย ยาว 1.1-1.3 มิลลิเมตร ปลายแยกเป็น 2 แฉก รังไข่รูปกระสวย เส้นผ่านศูนย์กลาง  1.6-2 ถึง 0.9-1 มิลลิเมตร  ผลออกเดี่ยว หรือเป็นกลุ่ม เมื่อแก่แตก รูปกลมแป้น ตั้งขึ้น ไม่ห้อยลง กว้างราว 8 มิลลิเมตร ยาวราว 5 มิลลิเมตร ก้านผลยาว 2.5-6 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยง มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว 6.5-8 มิลลิเมตร แต่ละแฉกเป็นอิสระยาว 1-1.5 มิลลิเมตร ปลายผลเป็นร่อง แยกเป็น 3  แฉก ตื้นๆ ผลอ่อนสีเขียว ผลสุกสีแดง เมล็ดกลม สีแดง มี 6 เมล็ด ขนาด1.7-2  ถึง 3.7-4.2 มิลลิเมตร พบขึ้นตามที่ลุ่มในป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณ และที่รกร้างทั่วไป ออกดอกและติดผลราวเดือนพฤษภาคมถึงพฤศจิกายน

 

ลักษณะวิสัย

 

ลำต้น

 

ใบ และ ลำต้น

 

ใบ

 

ดอกเพศเมีย และ ผล

 

ดอกเพศผู้ และ ดอกเพศเมีย

 

ดอกเพศเมีย

 

ดอกเพศเมีย

 

ดอกเพศเมีย

 

ดอกติดผล และ ดอกเพศเมีย

 

ผล และ ดอกเพศเมีย

 

ผลสุก

 

ผล


สรรพคุณ    
              ตำรายาไทยใช้ ใบ มีรสเย็น ปรุงเป็นยาเขียว แก้ร้อนใน กระหายน้ำ แก้พิษไข้หัว เซื่องซึม ไข้กลับ ไข้จับสั่น กระทุ้งพิษ  ราก มีรสเย็น เป็นยากระทุ้งพิษไข้ แก้ไข้จับสั่น ไข้กลับ ไข้ซ้ำ ไข้เซื่องซึม กระทุ้งพิษ แก้ไข้พิษทุกชนิด แก้ร้อนในกระหายน้ำ
             ยาพื้นบ้านอีสานใช้ ลำต้น ต้มน้ำดื่ม รักษาโรคกระเพาะอาหาร  

 
องค์ประกอบทางเคมี
            ใบพบ friedelin, friedelan-3β-ol, kaempferol, kaempferol-3-O-rutinoside, quercetion-3-O-glucoside, arbutin, 3-oxo-sitosterone, β-sitosterol

 

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง :  phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 4
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่