รักใหญ่

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

รักใหญ่

ชื่อสมุนไพร รักใหญ่
ชื่ออื่นๆ รัก (กลาง), ฮักหลวง (เหนือ), น้ำเกลี้ยง (สุรินทร์), มะเรียะ รักเทศ (เชียงใหม่), รัก ชู้ สู่ (กาญจนบุรี)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Gluta usitata (Wall.) Ding Hou.
ชื่อพ้อง Melanorrhoea usitata
ชื่อวงศ์ Anacardiaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
             ไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ผลัดใบ สูงได้ถึง 25 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มค่อนข้างกลม เปลือกต้นสีน้ำตาลปนเทาแตกเป็นร่องยาว เปลือกชั้นในสีชมพูอ่อน กิ่งอ่อนและยอดปกคลุมด้วยขนยาวสีขาว กิ่งแก่เกลี้ยง หรือมีขนสั้นๆ ใบคล้ายใบมะม่วงหิมพานต์ มักพบแมลงไข่ไว้ตามใบและจะเกิดเป็นตุ่มกลมๆตามใบ ใบเดี่ยว เรียงสลับเป็นกลุ่มตอนปลายกิ่ง ใบรูปไข่กลับ หรือรูปขอบขนานแกมรูปรี กว้าง 3.5-12 ซม. ยาว 20-30 ซม. ปลายแหลมหรือกลม โคนมนหรือรูปลิ่ม ขอบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ใบแก่มีสีเขียวเข้ม มีไขปกคลุม ผิวใบมีขนสีน้ำตาลทั้งสองด้านโดยเฉพาะเมื่อใบอ่อน มีขนปกคลุมหนาแน่น หลังใบมีขนสีน้ำตาลประปราย ท้องใบมีขนหนาแน่นแต่จะหลุดไปเมื่อใบแก่เต็มที่ เส้นแขนงใบ ข้างละ 15-25 เส้น นูนชัดเจนทางด้านบน เป็นแบบร่างแหชัดเจนทางด้านล่าง ก้านใบยาว 1.5-2.5 ซม. ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่ง หรือใกล้ปลายกิ่งและซอกใบ มักทิ้งใบก่อนออกดอก ดอกเริ่มบานจากสีขาว แล้วเปลี่ยนเป็นสีชมพูและแดงสด ดอกออกเป็นกลุ่มช่อหนาแน่นในซอกใบบนๆ ช่อดอกยาวได้ถึง 35 ซม. ก้านดอกยาว 1-1.5 ซม. มีขนสั้นนุ่ม สีน้ำตาลปกคลุม ดอกย่อยจำนวนมาก ดอกตูม รูปขอบขนาน กว้างประมาณ 2.5 มม. ยาวประมาณ 5 มม. มีขนประปราย ที่ปลายมีขนเป็นกระจุก กลีบดอกสีขาวมีแถบสีเหลืองแกมเขียวตรงกลาง กลีบดอก 5-6 กลีบ แผ่กว้าง ปลายแคบแหลม ด้านหลังกลีบมีขน กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ เชื่อมติดกัน ปลายแยก 5 แฉก ในดอกแก่กลีบเลี้ยงรูปร่างคล้ายหมวก กว้าง 0.7-1.8 มม. ยาว 3-7.5 มม. สีแดง มี 5 กลีบ  ผิวด้านในมีขนสั้นนุ่ม กลีบดอก รูปขอบขนาน กว้าง 1-2 ซม. ยาว 6-7 ซม. ปลายแหลมหรือมน มีขนอุยหนาแน่น กลีบดอกขยายขนาดขึ้น และกลายเป็นปีกเมื่อติดผล จานฐานดอกเกลี้ยง เกสรเพศผู้ประมาณ 30 อัน ยาวประมาณ 1 ซม. รังไข่กลม ก้านเกสรตัวเมีย 1 อัน ติดด้านข้างของรังไข่ ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง ค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 1-3 ซม. มีส่วนของกลีบดอกที่ขยายเป็นปีก ที่โคนก้านผลสีแดง มี 5 ปีก  รูปขอบขนาน ระหว่างโคนปีกกับผลมีก้านเชื่อมยาว 1.5 ซม. ปีกยาว 5-10 ซม. มีเส้นปีกชัดเจน พบขึ้นกระจายทั่วไป ในป่าผลัดใบ ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบเขา ทุ่งหญ้าโล่ง เขาหินปูน ความสูงจากระดับน้ำทะเล 100-1,000 เมตร ออกดอกและติดผล ระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์

 

ลักษณะวิสัย

 

ลำต้น

 

ใบ

 

ลักษณะวิสัย

 

ดอก

 

ดอก

 

ดอกตูม

 

ดอก

 

ดอก

 

ดอก

 

ผล

 

ผล

 

ผล

 

ผล

 

ผล

 

ยางจากลำต้น

 

ยางจากลำต้น (หยดลงมาโดนพืชอื่นที่อยู่ด้านล่าง)


สรรพคุณ    
              ตำรายาไทยใช้ เปลือกต้น รสเมา ต้มน้ำดื่ม แก้กามโรค บิด ท้องร่วง ปวดข้อเรื้อรัง เข้ายาบำรุงกำลัง ขับเหงื่อ ช่วยให้อาเจียน เป็นยารักษาโรคเรื้อน เปลือกราก รสเมาเบื่อ แก้ไอ แก้โรคตับ ท้องมาน พยาธิลำไส้ รักษาโรคผิวหนัง ผล เรียกว่า "ลูกรักเทศ" แก้กุฏฐโรค (โรคเรื้อน) เมล็ด ใช้แก้ปากคอเปื่อย ช่วยย่อยอาหาร แก้ปวดฟัน แก้คุดทะราด ริดสีดวง แก้อักเสบและปวดไส้เลื่อน น้ำยาง รสขมเอียน เป็นยาถ่ายอย่างแรง และกัดเนื้อสด น้ำยางผสมน้ำยางสลัดไดรักษาโรคผิวหนัง กลาก ริดสีดวงทวาร แก้ปวดฟัน รักษาโรคตับ ผสมกับน้ำผึ้ง รักษาโรคที่ปาก เอาสำลีชุบอุดฟันที่เป็นรู แก้ปวด ทำยารักษาโรคเรื้อน โรคตับ และพยาธิ  น้ำยาง มีประโยชน์ใช้ทำน้ำมันเคลือบเงา  น้ำยางใสเมื่อถูกอากาศจะเปลี่ยนเป็นสีดำ และเป็นมัน ใช้ทาไม้รองพื้นสำหรับปิดทอง ในการทำเครื่องเขิน ขั้นตอน “ลงรัก ปิดทอง”
            ยาพื้นบ้านอีสานใช้ ลำต้นหรือราก ผสมลำต้นหรือรากมะค่าโมง ต้มน้ำดื่ม แก้อาเจียนเป็นเลือด แก่น ต้มน้ำอาบรักษาโรคผิวหนัง ผื่นคัน เปลือกต้นหรือใบ ผสมรากสะแอะ ใบหรือรากหวดหม่อน เปลือกต้นหรือใบแจง แก่นฝาง เปลือกต้นกันแสง สังวาลย์พระอินทร์ทั้งต้น ต้มน้ำดื่ม แก้น้ำเหลืองเสีย มีแผลเปื่อยทั้งตัวในคนไข้โรคเอดส์
   

องค์ประกอบทางเคมี

          น้ำยางประกอบด้วย สารกลุ่มแคทีคอล (catechol) รวมเรียกว่า ทิตซิออล (thitsiol) ได้แก่ 4-heptadecadienyl catechol, 4-heptadecanyl catechol อนุพันธ์ฟีนอล เป็นองค์ประกอบหลักประมาณ 60-70%, น้ำ 20-30%, เอนไซม์แลคเคส (laccase), กัม และไกลโคโปรตีนที่ละลายน้ำได้

 

ความเป็นพิษ

1. น้ำยางสดมีพิษ ทำให้ผิวหนังอักเสบ และคันมาก น้ำยาง รสขมเอียน เป็นยาถ่ายอย่างแรง และกัดเนื้อสด

2. ขนจากใบแก่เป็นพิษต่อผิวหนัง เมื่อถูกผิวหนังทำให้คันทั่วตัว อาจทำให้คันอยู่นานเป็นเดือน ผิวหนังอาจบวมพอง ชาวบ้านมีการแก้พิษหลายวิธี เช่น เอาเปลือกและใบสักมาต้มน้ำอาบ, ใช้ใบเหงือกปลาหมอ สับต้มน้ำอาบ ติดต่อกัน 3-4 ครั้ง, ใช้เปลือกพะยอมต้มน้ำอาบ, ชงชาจีนให้แก่จัด ใช้เตรียมเป็นน้ำอาบ

 

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 2
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่