เล็บเหยี่ยว

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

เล็บเหยี่ยว

ชื่อสมุนไพร เล็บเหยี่ยว
ชื่ออื่นๆ หมากหนาม หนามเล็บเหยี่ยว มะตันขอ (ภาคเหนือ) ยับยิ้ว (ภาคใต้) พุทราขอ เล็ดเหยี่ยว เล็บเหยี่ยว (ภาคกลาง) แสงคำ (นครศรีธรรมราช) สั่งคัน (สุราษฎร์ธานี ระนอง) ตาฉู่แม โลชูมี (เชียงใหม่) เล็บแมว ยับเยี่ยว (นครราชสีมา)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Ziziphus oenopolia (L.) Mill.
ชื่อพ้อง Rhamnus oenopolia
ชื่อวงศ์ Rhamnaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
             ไม้พุ่มรอเลื้อย เนื้อแข็ง ยาว 3-10 เมตร เถาและกิ่งมีหนามสั้นแหลมโค้งตามลำต้น และกิ่งก้าน เปลือกเถาเรียบหรือขรุขระเล็กน้อย สีดำเทา กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาล เปลือกในสีแดง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปไข่แกมรูปใบรี กว้าง 1-3 เซนติเมตร ยาว 2-6 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบเบี้ยวเล็กน้อย ขอบใบเรียบ แผ่นใบอ่อนทั้งสองด้านมีขนนุ่มสั้นๆ ผิวใบด้านบนเรียบ หรือมีขนเล็กน้อย ผิวใบด้านล่างมีขนนุ่มจำนวนมาก เส้นใบ 3 เส้น ออกจากฐานใบไปปลายใบ ก้านใบยาว 2-8 มิลลิเมตร ดอกออกเป็นช่อที่ซอกใบเป็นช่อกระจุก ขนาดเล็ก ดอกย่อยจำนวนมาก ช่อดอกยาว 4-6 มิลลิเมตร ก้านช่อดอกยาว 0.5-1.0 มิลลิเมตร มีขนเล็กน้อย ใบประดับช่อดอก 1 อัน ยาว 2-3 มิลลิเมตร มีขนกระจายทั่วไป ดอกจำนวน 5-11 ดอก ก้านดอกย่อยยาว 1.0-2.5 มิลลิเมตร มีขนเล็กน้อย กลีบดอกมี 5 กลีบ รูปช้อน ปลายกลม ยาว 0.8-1 มิลลิเมตร กว้าง 0.2-0.5 มิลลิเมตร สีเขียว หรือสีเขียวอมเหลือง ออกสลับกับกลีบเลี้ยง เกสรเพศผู้ มี 5 อัน สีเขียวอมเหลือง ก้านชูเกสรแบน ยาว 0.5-0.8 มิลลิเมตร ติดที่ฐานของกลีบดอก อับเรณูรูปสามเหลี่ยม ยาว 0.1-0.2 มิลลิเมตร สีน้ำตาล เกสรเพศเมีย มีรังไข่เหนือวงกลีบ รังไข่เกิดจาก 2 คาร์เพล แต่ละคาร์เพลมี 1 ช่อง และ 1 ออวุล ก้านและยอดเกสรเพศเมียคล้ายรูปขวด ยาว 0.5-1.0 มิลลิเมตร เกลี้ยง สีเขียวอมเหลือง จานฐานดอกขนาด 1.5 มิลลิเมตร ผิวขรุขระ สีเหลือง กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ หลอดกลีบกว้าง 0.5-1.0 มิลลิเมตร ยาว 1.5-2.0 มิลลิเมตร ปลายแฉกกว้าง 1 มิลลิเมตร ยาว 1.0-1.5 มิลลิเมตร สีเขียว หรือสีเขียวอมเหลือง ปลายกลีบด้านนอกมีขนเล็กน้อย ผลสดรูปทรงกลมหรือรูปไข่ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร ผลอ่อนสีเขียวพอสุกเปลี่ยนเป็นสีม่วงดำ ก้านผลยาว 3-5 มิลลิเมตร มีขนกระจายทั่วไป เมล็ดแข็งมี 1 เมล็ด รูปร่างค่อนข้างกลม กว้าง 5-8 มิลลิเมตร ยาว 6-9 มิลลิเมตร ปลายกลม พบตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าคืนสภาพ ออกดอกราวเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม ติดผลเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม ผลแก่มีรสเปรี้ยว รับประทานได้

 

ลักษณะวิสัย

 

ใบ

 

ดอก และ ใบ

 

ดอก

 

ดอก

 

ผล

 

ผล

 

ผลแก่ และ ผลสุก

 

ลำต้น และ หนาม


สรรพคุณ    
              ตำรายาไทย ราก เปลือกต้น รสจืดเฝื่อนเล็กน้อย ต้มดื่มเป็นยาขับระดูขาว ขับปัสสาวะ แก้มดลูกพิการ แก้ฝีมุตกิด แก้ฝีในมดลูก และแก้โรคเบาหวาน  ผล รสเปรี้ยวหวาน ฝาดเย็น แก้เสมหะ แก้ไอ ทำให้ชุ่มคอ ผลสุกรับประทานได้ มีรสเปรี้ยวอมหวาน เป็นยาระบาย
             ประเทศอินเดีย ราก ใช้ขับพยาธิตัวกลม ช่วยย่อย ฆ่าเชื้อ รักษาภาวะกรดเกิน ปวดท้องจากโรคกระเพาะอาหาร สมานแผล

 

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 11
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่