สร้อยสุวรรณา

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

สร้อยสุวรรณา

ชื่อสมุนไพร สร้อยสุวรรณา
ชื่ออื่นๆ เหลืองพิศมร (กรุงเทพฯ), หญ้าสีทอง (เลย), สาหร่ายดอกเหลือง (ภาคกลาง) สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระราชทานนามว่า “สร้อยสุวรรณา”
ชื่อวิทยาศาสตร์ Utricularia bifida L.
ชื่อพ้อง U. alata Benj., U. brevicaulis Benj., U. humilis Vahl, U. recurva Lour., U. wallichiana Benj., Nelipus bifida
ชื่อวงศ์ Lentibulariaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
              พืชล้มลุก อายุฤดูเดียว สูง 10-30 เซนติเมตร เป็นพืชกินแมลง ลำต้นเล็กมากอยู่ใต้ดิน ไม่มีใบหรือรากที่แท้จริง รากเป็นรากเทียม แตกแขนงมาก ยาว 2-3 มิลลิเมตร มีไหลยาว 2-3 เซนติเมตร กว้าง 0.1 มม. ปล้องยาว 4-5 มม. ใบเดี่ยว รูปแถบ ออกตามข้อของไหล แบบเรียงเวียนรอบโคนต้น กว้าง 1-2 มม. ยาวได้ถึง 2 ซม. ปลายมน โคนสอบแคบ ตามใบจะมีถุงดักแมลง เป็นถุงกลมขนาดเล็กมาก เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5 มม. ที่ปากถุงมีหนวด 2 เส้น ยาวแข็ง โค้ง ดอกช่อกระจะ ก้านตั้งตรง แทงออกจากดิน กลีบดอกสีเหลืองสด เส้นผ่านศูนย์กลาง 6-10 มม. ดอกเรียงอยู่บนก้าน แบบสลับ ยาว 3-20 เซนติเมตร ก้านช่อดอกกลมเกลี้ยง ใบประดับรูปไข่ ยาว 1-3 มม. ปลายมน หรือแหลม ที่โคนมีเส้นตามยาว 1-5 เส้น ใบประดับย่อยรูปลิ่ม ปลายแหลม สั้นกว่าใบประดับมาก แต่ละช่อมีดอก 3-10 ดอก ระยะที่ดอกบาน ก้านดอกจะกางออกตั้งฉากกับแกนช่อดอก เมื่อเป็นผลก้านยาว 2-5 มม. งอ และมีปีก 2 ข้าง กลีบเลี้ยงมี 2 กลีบ สีน้ำตาลอ่อน รูปไข่กว้าง ยาว 2.5-7 มม. กลีบบนใหญ่กว่ากลีบล่าง ปลายกลีบมน กลีบล่างปลายหยักเว้าตื้นๆ หรือกลม กลีบดอกรูปปากเปิด ยาว 0.6-1 เซนติเมตร โคนดอกเชื่อมติดกันและยื่นยาวเป็นจงอยแหลมตรงที่ด้านล่าง ส่วนปลายแยกเป็น 2 ปาก ดูคล้ายถ้วยเล็กๆ กลีบด้านบนยาวเป็นสองเท่าของกลีบอื่น ปากบนตรงที่ต่ำกว่าจุดกึ่งกลางเล็กน้อยจะมีรอยคอด ส่วนบนของรอยคอดรูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่กว้าง ปากล่างตรงปากแตรรูปคล้ายหมวกค่อนข้างกลม ที่โคนมีรอยนูน ส่วนล่างที่ยื่นยาวลงไปเป็นจงอยคล้ายรูปลิ่ม โค้งเล็กน้อย เกสรเพศผู้มี 2 อัน ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 1 มม. ตรงอับเรณูมี 2 ช่อง แยกกัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปไข่ ค่อนข้างแบน มี 1 ห้อง ผลแบบผลแห้งแตก รูปหัวใจ ขนาดเล็ก  แบน ยาว 2.5-3 มม. เปลือกผลบาง เมื่อแก่แตกตามแนวบนและล่าง เมล็ด รูปไข่กลับ เบี้ยว ยาว 0.4-0.5 มม. ปลายตัด ชอบขึ้นตามดิน หรือลานหินที่ชื้น ที่มีน้ำขัง และตามท้องนาทั่วไป ออกดอกและติดผลราวเดือนตุลาคมถึงธันวาคม

 

ลักษณะวิสัย

 

ลักษณะวิสัย

 

ดอก

 

ดอก

 

ดอก

 

ดอก และ ผล

 

ผล

 

ผล


สรรพคุณ    
              ตำรายาไทย ทั้งต้น แก้ไข้ แก้บวม แก้ผดผื่นคัน แก้โรคทางเดินปัสสาวะ
              ตำรายาพื้นบ้านอีสาน ใช้ ทั้งต้น ต้มแล้วคั้นดื่มเพื่อบำรุงเลือด

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 3
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่