คดสัง

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

คดสัง

ชื่อสมุนไพร คดสัง
ชื่ออื่นๆ กรด (กลาง) ย่านตุด คดสัง (สุราษฎร์ธานี) หญ้ายอดคำ (เหนือ) จุด ชุด (ใต้) เบน (ขอนแก่น มหาสารคาม) เบนน้ำ (อุบลราชธานี) เปือย (นครพนม) ตรษ
ชื่อวิทยาศาสตร์ Combretum trifoliatum Vent.
ชื่อพ้อง
ชื่อวงศ์ Combretaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
             ไม้เถาหรือไม้พุ่มรอเลื้อย สูงราว 3-5 เมตร กิ่งอ่อนมีขนนุ่มสีน้ำตาลแกมเหลืองปกคลุม เมื่อแก่ผิวจะเกลี้ยง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกที่ข้อเดียวกัน 3-5 ใบ รูปรีหรือรูปใบหอก กว้าง 3-5.5 เซนติเมตร ยาว 8-16 เซนติเมตร ปลายใบแหลม มีติ่งสั้น โคนใบมน หรือค่อนข้างกลมเล็กน้อย เนื้อใบหนา มัน หรือค่อนข้างหนามัน ด้านบนค่อนข้างเกลี้ยง ด้านล่างมีตุ่มหูด หรือมีแถบของขนนุ่มสีน้ำตาลแกมเหลือง พาดขนานตามความยาวของเส้นกลางใบ มีเส้นใบประมาณ 6-8 คู่ ก้านใบยาว 4-7 มิลลิเมตร มีสีน้ำตาลแดงและมีขนนุ่ม เมื่อแก่จัดผิวเกลี้ยง มีสีดำมัน ดอกสีขาวหรือสีขาวอมเหลือง มีกลิ่นหอม ออกเป็นช่อกระจายที่ปลายยอดหรือตามง่ามใบ ช่อดอกยาว 8-20 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงตอนล่างเชื่อมติดกันเป็นท่อ ยาว 1-1.5 มิลลิเมตร มีขนคล้ายเส้นไหมสีเทา ตอนบนแผ่ออกเป็นรูปถ้วยตื้นๆ ปลายแยกเป็น 5 กลีบ รูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่ ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร กว้าง 0.2-0.4 มิลลิเมตร มีขนหนาแน่น กลีบดอกมี 5 กลีบ มีขนนุ่มหนาแน่น เกสรตัวผู้มี 10 อัน ก้านเกสรตัวผู้ยาว 4-5 มิลลิเมตร อับเรณูยาว 0.5 มิลลิเมตร ส่วนท่อเกสรตัวเมียยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร ผลไม่มีก้าน รูปรีแคบ กว้าง 1-1.5 เซนติเมตร ยาว 3-3.5 เซนติเมตร ผิวเกลี้ยง สีน้ำตาลดำ เป็นมัน มีครีบปีกแข็ง 5 ปีก (อาจพบแบบมี 4 หรือ 6 ปีก) ปีกกว้างประมาณ 3-4 มิลลิเมตร ชอบขึ้นบริเวณที่ชุ่มชื้น

 

ลักษณะวิสัย

 

ใบอ่อน

 

ใบ

 

ดอก

 

ผล

 

สรรพคุณ    
             ยาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี  ใช้ ราก ฝนทา แก้ฝีหนอง ลำต้น เข้ายากับแก่นมะขาม เพกา เบนน้ำ และจำปาขาว ต้มน้ำดื่ม แก้นิ่วในไต
             ตำรายาไทย  ใช้ ราก ปรุงเป็นยาชงแก้ตกขาว ใช้ชำระล้างอวัยวะสืบพันธุ์สตรี เปลือกและราก ฝนกับน้ำซาวข้าว กินเป็นยาสมานลำไส้ แก้บิด แก้ท้องร่วง หรือดองเหล้ากินแก้ปวดท้อง แก้จุกเสียด ผล  ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิไส้เดือน ต้มน้ำอมแก้เหงือกบวม และปากเปื่อย นำผลมาผสมกับเมล็ดข้าวโพด แล้วทำให้สุก นำมาปั้นเป็นยาลูกกลอน เอามาเคี้ยวเป็นยาบำรุงและรักษาเหงือก ทั้งต้น รักษาโรคบิด ขับพยาธิ

 

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 2
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่