ส้านใบเล็ก

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ส้านใบเล็ก

ชื่อสมุนไพร ส้านใบเล็ก
ชื่ออื่นๆ ไข่เน่าดง, ตานกกด (ลพบุรี), มะโตน (ชลบุรี), ส้านกวาง (ใต้), ส้านโดยเด (นครพนม), แส้น (ตรัง), เหมือดคนขาว (ชัยภูมิ) มะส้าน ส้านแคว้ง, ปล้อ
ชื่อวิทยาศาสตร์ Dillenia ovata Wall. ex Hook. f.& Thomson
ชื่อพ้อง Dillenia grandifolia
ชื่อวงศ์ Dilleniaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
             ไม้ยืนต้น ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ไม่ผลัดใบ หรือผลัดใบระยะสั้น ลำต้นมักมีปุ่มปม กิ่งอ่อนมีขน เรือนยอดเป็นพุ่มกลมสีเขียวทึบ ปลายกิ่งห้อยลง สูงได้ถึง 30 เมตร ใบเดี่ยว เรียงสลับที่ปลายกิ่ง รูปไข่กลับ หรือรูปวงรี กว้าง 7-13 เซนติเมตร ยาว 10-25 เซนติเมตร เส้นใบหลักเรียงขนานกันชัดเจน เส้นใบข้าง 15-25 คู่ ขอบใบเรียบหรือหยักซี่ฟัน โคนและปลายใบมน หลังใบเกือบเกลี้ยง ท้องใบมีขนนุ่มสีจางกว่าหลังใบ เนื้อใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ก้านใบยาว 3-4.5 เซนติเมตร มีขนสั้นนุ่ม ดอกเดี่ยว ออกที่ซอกใบ ขนาดใหญ่ หรือออกเป็นคู่ที่ปลายกิ่ง มีเส้นผ่านศูนย์กลางได้ถึง 16 เซนติเมตร กลีบดอกสีเหลืองสด มี 5 กลีบ แยกจากกัน กว้าง 4-6 เซนติเมตร ยาว 7 เซนติเมตร รูปไข่กลับถึงรูปกลม ปลายกลีบกลม ฐานสอบเรียว ขอบเป็นคลื่น ผิวเกลี้ยง หลุดร่วงง่าย กลีบเลี้ยงสีเขียว ติดคงทน มี 5 กลีบ รูปรีหรือรูปขอบขนานถึงเกือบกลม กว้างและยาวได้ถึง 3 เซนติเมตร ปลายกลีบมนถึงกลม ขอบเรียบมีขนครุย ผิวด้านในเรียบ ผิวด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม ก้านดอกสั้น 0.5-1.7 เซนติเมตร เกสรเพศผู้จำนวนมาก เรียงเป็น 2 วง ชุดด้านนอกมีอับเรณูสั้นกว่า เกสรเพศเมีย ประมาณ 10 อัน ผลสด รูปกลมแป้น ลักษณะเป็นกาบอวบน้ำ ห่อกันเป็นทรงกลม ขนาด 5-6 เซนติเมตร สีเหลืองหม่น ภายในผลเป็นเนื้อเยื่อหุ้มเมล็ด ฉ่ำน้ำ เนื้อผลหนา สีเหลือง ไม่แตก มีกลีบเลี้ยงติดอยู่คงทน เมล็ด รูปไข่กลับ ยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร ออกดอกเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน  และเป็นผลเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม พบตามป่าเต็งรัง และป่ากึ่งโล่งแจ้ง ที่ระดับถึง 1,200 เมตร

 

ลักษณะวิสัย

 

ลำต้น

 

ใบ

 

ดอก ผล และ ใบ

 

ดอก

 

ดอก

 

ผล

 

ผล

 

ผล

 

ผล และ เมล็ด


สรรพคุณ    
              ยาพื้นบ้านอีสานใช้ ราก แช่น้ำดื่ม แก้อาการท้องเสีย แก่นหรือราก ฝนน้ำกิน แก้ไข้ ผลสุก รสเปรี้ยว นำมาปรุงรสอาหาร

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 3
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่