หวายดง

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

หวายดง

ชื่อสมุนไพร หวายดง
ชื่ออื่นๆ หวายดง หวายใหญ่ หวายนั่ง เสือครอง (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) หวายขม
ชื่อวิทยาศาสตร์ Calamus viminalis Willd.
ชื่อพ้อง C. fasciculatus Roxb., C. litoralis Blume, C. pseudorotang Mart. ex Kunth, Palmijuncus fasciculatus (Roxb.) Kuntze, P. litoralis (Blume) Kuntze, P. pseudorotang (Mart. ex Kunth) Kuntze, P. viminalis (Willd.) Kuntze, Rotang viminalis
ชื่อวงศ์ Arecaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
             ไม้เถา ลำต้นมีขนาดปานกลาง ลำต้นสีเขียวแตกกอ เส้นผ่านศูนย์กลางลำต้นประมาณ 0.5-1 นิ้ว ลำต้นและกาบใบมีหนาม กาบหุ้มลำต้นสีเขียวเข้ม เคลือบด้วยไขสีขาวบาง และมีหนามโดยรอบ ใบประกอบแบบขนนก ก้านใบมีหนาม ใบย่อยที่ประกอบบนก้านใบมีจำนวนประมาณ 75-90 ใบ เรียงตัวกันเป็นกระจุก แบบตรงกันข้าม กระจุกละ 5-8 ใบ ใบรูปแถบเรียวยาว คล้ายใบมะพร้าว ปลายใบแหลม ขอบใบมีหนามแหลมเล็กๆ มีระบบรากแบบรากแขนงประสานกันอยู่ตามลักษณะของพืชตระกูลปาล์มทั่วๆไป มีอวัยวะที่ใช้เลื้อยเกาะ (climbing) เป็นก้านยาว ๆ ยื่นออกมาจากจุดกำเนิดตรงส่วนบนของกาบหุ้มลำต้น และมีหนามโดยตลอด ทำหน้าที่เป็นมือเกี่ยว ดอกเป็นชนิด pleonanthic คือจะสร้างช่อดอกออกมาจากลำต้น ตรงส่วนที่มีกาบใบหุ้ม โดยทยอยสร้างไม่พร้อมกัน หลังจากออกดอกแล้วส่วนยอดก็ยังสามารถเจริญเติบโตเป็นลำต้นไปได้เรื่อยๆ ผลค่อนข้างกลม มีลักษณะเป็นเกล็ดซ้อนทับกันเป็นชั้นๆ ผลอ่อนสีเขียวเมื่อแก่แล้วมีสีเหลืองขาว เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.8-1 เซนติเมตร เนื้อในมีรสฝาด เมล็ดแข็ง ผิวขรุขระ หนึ่งผล มี 1-2 เมล็ด เมื่ออายุได้ 2-3 ปี จะเริ่มติดดอก และให้ผลที่สามารถนำไปขยายพันธุ์ได้ ติดผลราวเดือนมีนาคมถึงเมษายน พบตามป่าเต็งรัง ป่าดงดิบ ที่ชุ่มชื้น

 

ลักษณะวิสัย

 

ราก และ กาบใบ

 

ใบ

 

ลำต้น

 

ต้นที่ติดผล

 

ผล

 

ผล

 

ผล

 

ผลอ่อน (สีเขียว) และ ผลแก่ (สีขาว)

 

ผลแก่


สรรพคุณ    
              ตำรายาไทย หัวหรือรากและยอดหวาย มีรสขมเย็นเมาเล็กน้อย ใช้ปรุงยากินดับพิษร้อน พิษไข้ แก้เซื่องซึม แก้พิษ ตับปอดพิการ แก้ไอ บำรุงน้ำดี แก้ร้อนในกระหายน้ำ  หน่อหวาย คือลำต้นอ่อนของหวาย แทงขึ้นจากเหง้าใต้ดิน มีกาบแข็งเต็มไปด้วยหนามหุ้ม เนื้อในอ่อน กรอบ สีขาว มีรสขม นำมาปรุงอาหาร ก่อนนำไปปรุงอาหารต้องนำไปต้มให้หายขม จากนั้นนำไปทำแกง ดอง หรือจิ้มน้ำพริก หน่อหวาย มีธาตุสังกะสี ในปริมาณสูง ใช้เสริมธาตุสังกะสี ช่วยเจริญอาหาร ลดภาวะเครียด ช่วยส่งเสริมสมรรถภาพทางเพศชาย  เนื้อหุ้มเมล็ด รับประทานได้

 

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง  : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 22
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่