กระท้อน

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

กระท้อน

ชื่อสมุนไพร กระท้อน
ชื่ออื่นๆ เตียน มะต้อง มะติ๋น มะตื่น ล่อน สตียา สะตู สะโต สะท้อน
ชื่อวิทยาศาสตร์ Sandoricum koetjape (Burm. f.) Merr.
ชื่อพ้อง Azedarach edule Noronha, Melia koetjape Burm.f., Sandoricum indicum Cav., Sandoricum maingayi Hiern, Sandoricum nervosum
ชื่อวงศ์ Meliaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

          ไม้ยืนต้น เรือนยอดเป็นพุ่มกลมหนาทึบ เปลือกนอกสีเทาน้ำตาล เปลือกด้านในมีสีชมพู ลำต้นเปลาตรง มียางขาว สูง 15-30 เมตร ใบ เป็นใบประกอบเรียงตัวเป็นเกลียว เรียงสลับ ใบย่อยแยกเป็น 3 ใบ รูปไข่แกมรูปขอบขนานแกมรี ขอบใบเรียบ กว้าง 6-15 เซนติเมตร ยาว 8-20 เซนติเมตร ใบแก่เมื่อแห้งมีสีส้มแดง ดอก ดอกออกเป็นช่อแยกแขนง มีขนตามก้านดอก ออกดอกที่ซอกใบ กลีบดอกมีสีเหลืองหม่น จำนวน 5 กลีบ มีดอกย่อยจำนวนมาก ผล เป็นผลแบบมีเนื้อ รูปกลมแป้น ฉ่ำน้ำ ผลสีเหลืองออกน้ำตาล ผิวผลมีขนคล้ายกำมะหยี่ เปลือกด้านในสีเนื้อ เนื้อในสีขาวหุ้มเมล็ด

 

                                               

                                                                                                                 ลักษณะวิสัย

 

                                               

                                                                                                                     ลำต้น

 

                                                

                                                                                                                          ใบ

 

                                               

                                                                                                                     ใบ

 

                                                

                                                                                                                    ดอก

 

                                                 

                                                                                                                           ดอก

 

                                                

                                                                                                                    ดอก

 

                                               

                                                                                                                    ดอก

 

                                                

                                                                                                                     ผล

 

                                                 

                                                                                                                   ผล

 

                                                   

                                                                                                                                        ผล

 

สรรพคุณ:

             ตำรายาไทย เปลือกต้น รสเปรี้ยวเย็นฝาด รักษาโรคผิวหนังกลากเกลื้อน แก้พิษงู ใบ มีรสเปรี้ยวเย็นฝาด ขับเหงื่อ ต้มน้ำอาบลดไข้ ผล รสเปรี้ยวเย็นฝาด ใช้เป็นอาหาร แก้ฝาดสมาน ราก มีรสเปรี้ยวเย็นฝาด ใช้ขับลม เป็นยาธาตุ แก้ท้องร่วง แก้บิดมูกเลือด ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ แก้ไข้รากสาด ถ้าเอามาสุมเป็นถ่าน รสฝาดเย็น ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ แก้ไข้รากสาด แก้บิด ผสมในยามหานิล แก้พิษกาฬ ดอกและผล แก้ท้องเสีย แก้ฝี

 

องค์ประกอบทางเคมี:

            ลำต้น พบสารกลุ่ม triterpene ได้แก่ koetjapic acid, katonic acid,  3-oxo-12-oleanen-29-oic acid

 

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

ฤทธิ์ต้านการอักเสบ

          ทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบของสารสกัดจากลำต้นกระท้อน โดยใช้หนูถีบจักรเพศเมีย ที่เหนี่ยวนำการอักเสบที่ใบหูด้วยการทาสาร 12-O-tetradecanoylphorbol-13-acetate (TPA) ขนาด 20 ไมโครลิตร ที่หูด้านใน (0.5 ไมโครกรัมต่อหูแต่ละข้าง) และทาสารสกัดจากลำต้นกระท้อนที่หูด้านขวา (ปริมาณสารสกัดที่ทาคือ กรณีสารสกัดหยาบ หรือส่วนสกัดย่อยทา 5 มิลลิกรัม, สารบริสุทธิ์ ทา 0.5 มิลลิกรัม) หลังจากนั้น 6 ชั่วโมง ตัดใบหูหนูเพื่อนำมาชั่งน้ำหนัก ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดหยาบ methanol, ส่วนสกัดย่อยที่ได้จากการทำ partition สารสกัด methanol ได้แก่ ส่วนสกัด hexane, dichloromethane, ethyl acetate, methanol และน้ำ มีค่ายับยั้งการบวมที่ใบหูหนูได้เท่ากับ 94±7, 90±11, 100±5, 64±10, 77±8 และ 14±8 % ตามลำดับ สารบริสุทธิ์ 3 ชนิด ที่แยกได้จากสารสกัดไดคลอโรมีเทน ได้แก่ koetjapic acid, katonic acid และ 3-oxo-12-oleanen-29-oic acid และสารมาตรฐาน indomethacin มีค่ายับยั้งการบวมที่ใบหูหนูได้เท่ากับ 13±12, 81±12, 94±8 และ 97±3 % ตามลำดับ โดยสาร 3-oxo-12-oleanen-29-oic acid  มีเปอร์เซ็นต์การยับยั้งการอักเสบได้ใกล้เคียงกับยามาตรฐาน indomethacin  (Rasadah, et al., 2004)

 

เอกสารอ้างอิง:

Rasadah MA, Khozirah S, Aznie AA, Nik MM. Anti-inflammatory agents from Sandoricum koetjape Merr. Phytomedicine. 2004; 11(2-3):261-3.

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 6
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่