กระพังโหม

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

กระพังโหม

ชื่อสมุนไพร กระพังโหม
ชื่ออื่นๆ พังโหม ย่านพาโหม ตดหมูตดหมา
ชื่อวิทยาศาสตร์ Paederia pilifera Hook. f.
ชื่อพ้อง Hondbesseion piliferum (Hook.f.) Kuntze, Hondbesseion wallichii (Hook.f.) Kuntze, Paederia kerrii Craib, Paederia wallichii
ชื่อวงศ์ Rubiaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

          ไม้ล้มลุกเลื้อยพัน อายุหลายปี ลำต้นและกิ่งก้านกลมมน สีเขียวอ่อน มีขนละเอียด สีขาวหรือสีน้ำตาลปกคลุม ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม กว้าง 3-9 เซนติเมตร ยาว 6-15 เซนติเมตร ผิวใบด้านบนมีสีเขียวเข้มหม่นๆ และมีขนละเอียด ผิวใบด้านล่างสีเขียวอ่อนหม่นๆ และมีขนละเอียด หูใบอยู่ระหว่างก้านใบ ดอกช่อออกที่ซอกใบ ดอกย่อยจำนวนมาก กลีบดอกสีม่วงแกมเทาทางด้านนอก สีแดงเข้มทางด้านใน เชื่อมติดกันเป็นหลอด ผลแห้งรูปไข่ โค้งแบนเล็กน้อย สีน้ำตาลเมื่อสุก (วงศ์สถิตย์, 2539)

                                                                                                                        

                                                                    

                                                                                                                                 ลักษณะวิสัย

 

                                                            

                                                                                                                                  ช่อดอก และใบ

 

                                                            

                                                                                                                                  ช่อดอก

 

                                                            

                                                                                                                                  ช่อดอก

 

สรรพคุณ:

              ตำรายาไทย ทั้งต้น รสขม ใช้ขับลม แก้ธาตุพิการ แก้ตานซาง แก้ท้องเสีย ลดไข้ ทำให้เจริญอาหาร ขับพยาธิไส้เดือน แก้น้ำดีรั่ว เป็นยาอายุวัฒนะ ต้มดื่มขับปัสสาวะ ถอนพิษสุรา ยาสูบ พิษจากอาหาร ใบ รสขม แก้พิษงู แก้ปวดฟัน แก้รำมะนาด ตำพอก แก้เริม งูสวัด แก้ปวดแสบปวดร้อน ใช้เป็นอาหารบำรุงกำลัง สำหรับคนฟื้นไข้หรือคนชรา และเป็นส่วนประกอบหลักในตำรายามหาจักรใหญ่ แก้ท้องอืดท้องเฟ้อในเด็ก ผล รสขมฝาด ทาฟันทำให้ฟันมีสีดำ แก้ปวดฟัน ราก รสขมเย็น ฝนหยอดตา แก้ตาฟาง ตาแฉะ ตามัว ต้มดื่มทำให้อาเจียน ฝนทา แก้ริดสีดวงทวาร ใบและเถา แก้ธาตุพิการ แก้ตานซาง แก้น้ำดีรั่ว แก้ท้องเสีย แก้ตัวร้อน ผสมในตำรับแก้ตานขโมย ขับพยาธิไส้เดือนในเด็ก เป็นยาอายุวัฒนะ

 

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

ฤทธิ์ป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร

          ฤทธิ์ป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ของสารสกัด 50% ethanol จากรากกระพังโหม ทดสอบในหนูแรทสายพันธุ์ albino wistar โดยเหนี่ยวนำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารด้วย absolute ethanol เริ่มการศึกษาโดยป้อนสารสกัดจากรากกระพังโหมขนาด 250, 500, 750 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม หรือยามาตรฐาน omeprazole ขนาด 8 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม แก่หนูแต่ละกลุ่ม เป็นเวลา 15 วัน ในวันที่ 15 ของการทดสอบ จึงให้ absolute ethanol (5 มิลลิลิตร ต่อน้ำหนักตัวในหน่วยกิโลกรัม) เหนี่ยวนำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร ผลการทดสอบพบว่าค่าดัชนีการเกิดแผล (ulcer index) เท่ากับ 20.50±6.40, 15.83±1.00, 7.54±1.40 และ 31.64±0.50 ตามลำดับ และมีร้อยละการยับยั้งการเกิดแผลในกระเพาะอาหารเท่ากับ 75.62%, 81.17%, 91.03% และ 62.37% ตามลำดับ โดยพบว่าสารสกัดทุกขนาด ออกฤทธิ์ได้ดีกว่ายามาตรฐาน omeprazole (p<0.05) การศึกษาเนื้อเยื่อกระเพาะอาหารภายใต้กล้องจุลทรรศน์พบว่าสารสกัดสามารถลดการทำลายของเยื่อบุผิว และลดหรือไม่พบการบวม และนิวโทรฟิว ที่เยื่อบุผิวชั้นล่าง  ผลการตรวจวัดระดับสาร malondialdehyde (MDA) ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยา lipid peroxidation โดยใช้วิธีทดสอบ thiobarbituric acid reaction substances (TBARS) test และการตรวจวัดระดับเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระ ที่บริเวณเยื่อบุผิวของกระเพาะอาหาร พบว่าสารสกัดทุกขนาดสามารถลดปริมาณ MDA ได้อย่างมีนัยสำคัญ และเพิ่มระดับเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระได้แก่ catalase (CAT), superoxide dismutase (SOD) และ glutathione (GSH) ได้อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับ ethanol เพียงอย่างเดียว แต่ไม่ได้รับสารสกัด (p<0.05)โดยสารสกัดขนาด 750 mg/kg สามารถลดปริมาณ MDA และเพิ่มระดับเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระทั้งสามชนิด  ได้มากกว่ายามาตรฐาน omeprazole ขนาด 8 mg/kg  โดยสรุปสารสกัดจากรากกระพังโหม มีฤทธิ์ป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารจากการเหนี่ยวนำของ ethanol ได้อย่างมีนัยสำคัญ (Saenphet, et al., 2014)

 

การศึกษาทางพิษวิทยา:

การทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลัน

          เมื่อป้อนสารสกัด 50% ethanol จากรากกระพังโหม ในขนาด 2 กรัม/กิโลกรัม แก่หนูแรท เพียงครั้งเดียว และสังเกตอาการจนครบ 24 ชั่วโมง ไม่พบอาการไม่พึงประสงค์ หรือการตายของหนู (Saenphet, et al., 2014)

 

เอกสารอ้างอิง:

1. วงศ์สถิตย์ ฉั่วกุล. 2539. ไม้ดอกม่วง. กุลการพิมพ์:กรุงเทพมหานคร.

2. Saenphet K, Saenphet S, Jirakittirat K. Gastroprotective effects and antioxidant activities of Paederia pilifera Hook.f. root extract. Chiang Mai J Sci. 2014;41(5.1):1121-31.

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 31
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่