ก้างปลาแดง

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ก้างปลาแดง

ชื่อสมุนไพร ก้างปลาแดง
ชื่ออื่นๆ ปู่เจ้าคาคลอง ก้างปลา ก้างปลาขาว ก้างปลาเครือ มะแตก แดงน้ำ หมัดคำ หมาเยี่ยว คำอ้าย กระออง ข่าคล่อง
ชื่อวิทยาศาสตร์ Phyllanthus reticulatus Poir.
ชื่อพ้อง Anisonema dubium Blume, Anisonema intermedium Decne., Anisonema jamaicense (Griseb.) Griseb., Anisonema multiflorum (Baill.) Wight, Anisonema puberulum Baill., Anisonema reticulatum (Poir.) A.Juss., Anisonema wrightianum Baill., Anisonema zollingeri Miq., Cicca decandra Blanco, Cicca reticulata (Poir.) Kurz, Diasperus multiflorus (Baill.) Kuntze, Diasperus reticulatus (Poir.) Kuntze , Kirganelia dubia (Blume) Baill., Kirganelia dubia (Blume) Baill., Kirganelia lineata Alston, Kirganelia multiflora Baill., Kirganelia prieuriana Baill., Kirganelia puberula Baill., Kirganelia reticulata (Poir.) Baill., Kirganelia sinensis Baill., Kirganelia wightiana Baill., Melanthesa oblongifolia Oken, Phyllanthus alaternoides Rchb. ex Baill., Phyllanthus chamissonis Klotzsch, Phyllanthus dalbergioides (Müll.Arg.) Wall. ex J.J.Sm., Phyllanthus jamaicensis Griseb., Phyllanthus oblongifolius Pax, Phyllanthus prieurianus (Baill.) Müll.Arg., Phyllanthus puberulus Miq. ex Baill., Phyllanthus pulchellus A. Juss., Phyllanthus scanden
ชื่อวงศ์ Phyllanthaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

          ไม้พุ่ม กึ่งไม้เถา เป็นทรงพุ่มรูปคล้ายทรงกระบอก สูง 4 เมตร เกลี้ยงหรือมีขนเล็กน้อย  ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงสลับกัน รูปไข่ หรือรีแกมขอบขนาน กว้าง 1-2.5 เซนติเมตร ยาว 1.5-4 เซนติเมตร ปลายใบมน หรือหยักเว้าเล็กน้อย ขอบใบเกลี้ยง เนื้อใบบาง มีขนทั้งสองด้าน โคนใบสอบหรือมน ดอก ดอกออกเป็นช่อกระจุกที่ซอกใบ 2-3 ดอก เป็นช่อสั้นๆ ดอกแยกเพศอยู่ร่วมต้นเดียวกัน ดอกเพศผู้ มีกลีบเลี้ยง 4-6 กลีบ ไม่มีกลีบดอก ดอกเพศเมีย กลีบเลี้ยงเหมือนกับของดอกเพศผู้  ผลนุ่ม เมื่อแก่มีสีเกือบดำ หรือสีม่วงแดง เมื่อแห้งจะแตก รูปกลม ขนาด 4-9 มิลลิเมตร ก้านผลยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร ภายในมี 8-16 เมล็ด เมล็ดมีขนาดเล็ก รูปหน้าตัดเป็นเหลี่ยมด้านไม่เท่ากัน

 

                                                            

                                                                                                                                  ลักษณะวิสัย

 

                                                            

                                                                                                                                  ลักษณะวิสัย

 

                                                           

                                                                                                                                 ใบ

 

                                                            

                                                                                                                                   ดอก

 

                                                            

                                                                                                                                  ดอก

 

                                                            

                                                                                                                                   ดอก

 

                                                             

                                                                                                                                  ผลแก่

 

                                                             

                                                                                                                                  ผลสุก

 

                                                            

                                                                                                                                ผลสุก

 

สรรพคุณ:

          ตำรายาไทย  ราก รสจืดเย็น แก้ร้อนใน แก้กระหายน้ำ แก้ไข้หวัดทุกชนิด ลดความร้อนในร่างกาย แก้ซางข้าวเปลือก แก้ฝีแดง และฝีทั้งปวง เป็นยาดับพิษ

 

องค์ประกอบทางเคมี:

          ใบ พบ methyl gallate, ellagic acid, corilagin, methyl brevifolin carboxylate, kaempferol, astragalin, rutin (quercetin- 3- rutinoside), quercetin-3-O- β- D glucopyranoside (isoquercitrin), lupeol, lupeol acetate, β- sitosterol-3-O-β- glucoside, stigmasterol- 3- O- β- glucoside (Sharma and Kumar, 2013)

 

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

ฤทธิ์ลดระดับคอเลสเตอรอล

          สารสกัดน้ำจากส่วนเหนือดินของก้างปลาแดงแสดงฤทธิ์ลดระดับคอเลสเตอรอลในหนูแรท ทดสอบโดยให้อาหารที่เพิ่มระดับ cholesterol, triglyceride, LDL-cholesterol, VLDL-cholesterol และ protein carbonyl level เทียบกับกลุ่มควบคุม เป็นเวลา 45 วัน ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดน้ำของก้างปลาแดงขนาด 250 และ 500 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม แสดงผลลดระดับ total cholesterol (P<0.05), VLDL-cholesterol (P<0.001), triglyceride (P<0.001), LDL-cholesterol (P<0.05) และ protein carbonyl level (P<0.05) ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในขณะที่ระดับ HDL-cholesterol เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญที่ P<0.05 เมื่อเปรียบเทียบกับหนูทดลองที่มีคอเลสเตอรอลสูงแต่ไม่ได้รับสารสกัด (Sharma and Kumar, 2013)

ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย

         ทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียของสารสกัดใบก้างปลาแดงด้วยตัวทำละลายชนิดต่างๆ ได้แก่ methanol, chloroform และ hexane ทดสอบกับเชื้อแบคทีเรียแกรมบวก Staphylococcus aureus และแบคทีเรียแกรมลบ Escherichia coli, Pseudomonas aeruginosa และ Salmonella typhi โดยใช้วิธี agar well diffusion และ broth dilution ผลการทดสอบพบว่าค่าบริเวณใสในการยับยั้งเชื้อ (zone of inhibition) ของสารสกัด methanol, chloroform และ hexane เท่ากับ 9.07-30.18, 8.17-24.57 และ 5.60-14.67 มิลลิเมตร ตามลำดับ ความเข้มข้นต่ำที่สุดที่ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียได้ และความเข้มข้นต่ำที่สุดที่ฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ เท่ากับ  6.25 -100 mg/ml โดยพบว่าเชื้อมีความไวต่อสารสกัด methanol มากกว่าสารสกัดด้วยตัวทำละลายชนิดอื่น (Sharma and Kumar, 2013)

ฤทธิ์แก้ปวดและต้านการอักเสบ

          ทดสอบฤทธิ์แก้ปวดและฤทธิ์ต้านการอักเสบ ของสารสกัดจากใบก้างปลาแดง ด้วยวิธี acetic acid-induced writhing test โดยให้สารสกัด ethyl acetate ขนาด 150 และ 300 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม แก่หนู พบว่าสามารถยับยั้งความเจ็บปวดได้เท่ากับ 51.23 และ 65.12% ตามลำดับ ทดสอบฤทธิ์แก้ปวดด้วยวิธี tail flick test พบว่าทั้งสารสกัดเอทิลอะซีเตท และเมทานอล ขนาด 300 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม สามารถเพิ่มระยะเวลาที่หนูทนต่อความร้อนได้โดยไม่สะบัดหางหนี ได้อย่างมีนัยสำคัญ เท่ากับ 42.38 และ 60.49% ตามลำดับ เมื่อทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบด้วยวิธี carrageenan-induced rat paw oedema พบว่าสารสกัดเมทานอล ขนาด 300 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม แสดงฤทธิ์ยับยั้งการบวมที่อุ้งเท้าหนูแรทได้เท่ากับ 40.03% ที่ชั่วโมงที่ 4 หลังได้รับสารสกัด (Sharma and Kumar, 2013)

ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด

         การทดสอบฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดโดยป้อนหนูถีบจักร ด้วยสารสกัด petroleum ether และ ethanol จากใบก้างปลาแดง ขนาด 500 และ 1000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม  ในหนูแต่ละกลุ่ม ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานด้วยสาร alloxan พบว่าสารสกัดขนาด 1,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม มีฤทธิ์ต้านเบาหวานได้ โดยทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง (Sharma and Kumar, 2013)

ฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรีย

        ใบก้างปลาแดงมีฤทธิ์ต้านเชื้อ Plasmodium falciparum สายพันธุ์ที่ไวต่อยา chloroquine (K67) และ สายพันธุ์ที่ดื้อต่อยา chloroquine (ENT36) โดยมีค่า IC50 ≤ 10 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร  (Sharma and Kumar, 2013)

 

เอกสารอ้างอิง:

Sharma S and Kumar S. Phyllanthus reticulatus Poir. – An important medicinal plant: A review of its phytochemistry, traditional uses and pharmacological properties. IJPSR. 2013;4(7):2528-34.

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 7
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่