คงคาเดือด
ชื่อสมุนไพร | คงคาเดือด |
ชื่ออื่นๆ | ช้างเผือก สมุยกุย หมากเล็กหมากน้อย ตะไล ตะไลคงคา |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Arfeuillea arborescens Pierre ex Radlk. |
ชื่อพ้อง | - |
ชื่อวงศ์ | Sapindaceae |
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:
ไม้ยืนต้น ขนาดกลาง สูง 8-20 เมตร เปลือกต้น เรียบสีน้ำตาลอ่อน ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับ ปลายคู่ ใบย่อย 1-4 คู่ ใบคล้ายใบมะเฟือง รูปไข่หรือรูปใบหอก กว้าง 2.5-4 เซนติเมตร ยาว 4.5-7 เซนติเมตร ขอบใบเรียบ ด้านล่างมีขนคล้ายรูปดาว ดอก ดอกออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ช่อดอกยาวประมาณ 19 เซนติเมตร ดอกเล็กเป็นช่อสีชมพูอมม่วง และเหลืองอ่อนๆ มีกลิ่นหอม กลีบดอกสีน้ำตาล กลีบเลี้ยง 5 กลีบ กลีบดอก 2-4 กลีบ ยาว 2.5-4 มิลลิเมตร ไม่มีเกล็ด เกสรตัวผู้ 6-9 อัน ไม่มีขน หมอนรองดอกแบน ผล ผลแห้งแตกได้ ขนาด 2.5-5 เซนติเมตร เป็นผลแบบแคปซูล มีปีก 3 ปีก เมล็ด มีขนปกคลุม พบตามป่าเบญจพรรณ และป่าชื้นทั่วไป
ลักษณะวิสัย
ลำต้น และใบ
ช่อดอก
ช่อดอก และใบ
ช่อดอก
ช่อดอก
ช่อดอก
สรรพคุณ:
ตำรายาไทย ต้น แก้ไอ แก้ไข้ ฆ่าพยาธิ เปลือกต้น รสเย็นติดจะฝาดขม เป็นยารับประทาน แก้ร้อนใน แก้กระหายน้ำ แก้ซางตัวร้อน ทำให้เจริญอาหาร ต้มน้ำอาบแก้คัน แก้แสบร้อนตามผิวหนัง แช่น้ำอาบแก้ไอ แก้ไข้ เนื้อไม้ รสเย็นฝาดขม ฝนกับน้ำรับประทานเป็นยาฆ่าพยาธิ แก้ซางตัวร้อน แก้แสบตามผิวหนัง แก้พิษร้อนในกระหายน้ำ ดับพิษไข้ เจริญอาหาร ใบ ต้มน้ำอาบแก้คัน แก้ไอ แก้ไข้ ฆ่าพยาธิ ไม่ระบุส่วนที่ใช้ แก้พุพอง แก้น้ำเหลืองเสีย แก้โรคผิวหนังเปื่อยเน่า
องค์ประกอบทางเคมี:
สารบริสุทธิ์ที่แยกได้จากลำต้น ได้แก่ (+)-proto-quercitol, 3,5-Bis-[3,3-dimethylallyl]-p-hydroxybenzaldehyde, cyclictris (ethylene terephthalate), stigmasteryl-3-O-β-D glucopyranoside,scopoletin, 5-hydroxymethyl-furfuraldehyde และ p-hydroxybenzoic acid (ปรีชา, 1998)
การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย
สาร 5-hydroxymethyl furfuraldehyde ที่แยกได้จากลำต้น มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียก่อโรคในมนุษย์ 6 ชนิด คือ E. coli, B. cereus, S. aureus, S. derby, E.coli 0157:H7 และ L. monocytogenes และยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ที่ทําให้อาหารเน่าเสีย (flat sour spoilage) อย่างมีนัยสําคัญ รวมทั้งเชื้อรา Cladosporium cucumerinum (ปรีชา, 1998)
การศึกษาทางพิษวิทยา:
สาร 5-hydroxymethyl-furfuraldehyde และ p-hydroxybenzoic acid ที่แยกได้จากลำต้น แสดงความเป็นพิษต่อไรทะเล (Artemia salina L.) โดยมีค่า LC50 เท่ากับ 71.0 และ 33.1 µg/ml ตามลำดับ (ปรีชา, 1998)
เอกสารอ้างอิง:
ปรีชา ภูวไพรศิริศาล. องค์ประกอบทางเคมีจากลำต้นคงคาเดือด (Arfeuillea arborescens Pierre) และฤทธิ์ทางชีวภาพ. วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาวิชาเคมีภาควิชาเคมี, 1998.