คนทีเขมา

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

คนทีเขมา

ชื่อสมุนไพร คนทีเขมา
ชื่ออื่นๆ -
ชื่อวิทยาศาสตร์ Vitex negundo L.
ชื่อพ้อง Agnus-castus incisa (Lam.) Carrière, Agnus-castus negundo (L.) Carrière, Vitex arborea Desf., Vitex chinensis Mill., Vitex elmeri Moldenke, Vitex gracilis Salisb., Vitex incisa Lam., Vitex laciniata Schauer, Vitex sinuata Medik., Vitex spicata Lour., Vitex nogondo
ชื่อวงศ์ Lamiaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

          ไม้พุ่ม สูง 3-4 เมตร แตกกิ่งก้านมาก กิ่งอ่อนเป็นเหลี่ยม มีสีเทา มีขนปกคลุม กิ่งและใบ มีกลิ่นหอม แขนงมีขนสั้นนุ่มสีเทา เปลือกต้นบางสีน้ำตาล ใบ เป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ เรียงตรงกันข้าม มีใบย่อย 5 ใบ ใบคล้ายรูปหอกหรือรูปไข่ หรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก กว้าง 1-4 เซนติเมตร ยาว 4-13 เซนติเมตร ขอบใบเรียบหรือหยักเล็กน้อย ปลายใบยาวแหลม หลังใบสีเขียวเข้ม ท้องใบมีสีขาว และมีขนอ่อนปกคลุม ดอก ออกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนงที่ปลายกิ่ง มีดอกขนาดเล็กจำนวนมาก กลีบดอกสีขาวแกมสีเหลืองอ่อน ด้านนอกมีขนละเอียด โคนกลีบดอกติดกันเป็นกรวย ส่วนปลายแยกคล้ายริมฝีปาก ปากบนแยกเป็น 3 แฉก ปากล่าง 2 แฉก ผล ผลสด รูปร่างกลมมีสีน้ำตาล เปลือกแข็ง ภายในมีเมล็ด 1 เมล็ด พบที่สูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 600-2,000เมตร

 

                                                            

                                                                                                                                  ดอก และใบ

 

                                                            

                                                                                                                                  ลำต้น

 

                                                            

                                                                                                                                   ใบ

 

                                                            

                                                                                                                                  ผล และใบ

 

สรรพคุณ:

             ตำรายาไทย กิ่ง แก้ไข้หวัด ไอ เจ็บคอ ปวดข้อ ปวดฟัน แผลพุพองจากไฟไหม้ เปลือกต้น รสหอมร้อน แก้ไข้ แก้ฟกบวม แก้ริดสีดวง แก้ลมเสียดแทง ปวดท้อง แก้พยาธิ ช่อดอก รสหอมฝาด เป็นยาฝาดสมาน แก้ไข้ แก้ท้องเสีย ใบ รสหอมร้อน ใช้ภายนอกแก้กลาก เกลื้อน แก้ฝี แก้เชื้อราที่เท้า บาดแผลจากของมีคม สุนัข หรือตะขาบกัด รักษาไข้หวัด แก้เสมหะ รักษาบิดไม่มีตัว รักษาไข้มาลาเรีย แก้เจ็บคอ แก้หูอื้อ แก้ลำไส้อักเสบ แก้ไข้มาลาเรีย แก้ดีซ่าน  ถอนพิษสาหร่ายทะเล ปวดแสบเป็นพิษ ผสมกับน้ำอาบเพื่อให้มีกลิ่นหอม หรือจะใช้ทาหน้าผากรักษาอาการปวดศีรษะ น้ำคั้นจากใบสดรับประทานแก้ปวดศีรษะ แก้เยื่อจมูกอักเสบ   ผล รสหอมร้อน ใช้ขับเสมหะ แก้หอบหืด ไอ แก้ไข้หวัด ไข้ป่า ไข้มาลาเรีย ไข้รากสาดน้อย แก้เหน็บชา รักษาแผลในกระเพาะอาหาร ราก รสร้อนเมา แก้ลม ขับเหงื่อ แก้ริดสีดวงแห้ง แก้ไข้หวัด ขับเสมหะ แก้ไอ แก้หอบหืด ขับปัสสาวะ แก้โรคกระเพาะอาหาร ขับพยาธิเส้นด้าย แก้โรคปวดข้อ รักษาโรคมาลาเรีย รากและใบ รับประทานหรือประคบ แก้ปวดตามข้อตามกล้ามเนื้อ

 

องค์ประกอบทางเคมี:

        ใบ พบอัลคาลอยด์ ได้แก่ nishindine  สารกลุ่มฟลาโวนอยด์ ได้แก่ 5,6,7,8,3’, 4’, 5’ heptamethoxy flavone,  5-O- desmethoxynobieletin flavone, gardenin A, gardenin B, corymbosin, vitexicarpin, 5-hydroxy 3,6,7,3’4 pentamethoxy flavone, casticin, artemitin, 4,4-dimethoxy trans stilbene (stilbene derivative), acerosine  สารกลุ่มไกลโคไซด์ ได้แก่ luteolin-7-glucoside สารกลุ่ม iridoid glycoside ได้แก่ 2-p-hydroxybenzoyl mussaenosidic acid, agnuside, lagundinin, aucubin, nishandaside,    4’,5,7-trihydroxy-3’-O-β-D-glucuronic acid-6”-methyl ester, negundoside  สารกลุ่มฟีนอล ได้แก่ linalool  สารกลุ่ม monoterpene ได้แก่ α-pinene, camphene, citral, sabinene สารกลุ่ม sesquiterpene ได้แก่ virdiflorol สารกลุ่ม furanoeremophilane ได้แก่ α-cedrene สารกลุ่ม diterpene ได้แก่ vitexilactone สารกลุ่ม triterpene ได้แก่ betulinic acid, ursolic acid, friedelin

         เมล็ด พบสารกลุ่ม lignans (phenyl dihydronaphthalene type) ได้แก่ vitedoin A, vitedoamine A, vitexdoin A, vitedoamine B, vitexdoin B-E (phenylnaphthalene type), negundin A, negundin B   สารกลุ่ม diterpene ได้แก่ itedoin C (trinorlabdane type), negundol

        เปลือกต้น พบสารกลุ่มฟีนอล ได้แก่ vanillic acid  สารกลุ่มฟลาโวนอยด์ ได้แก่ luteolin, leucoanthocyanidin สารกลุ่มไกลโคไซด์ ได้แก่ leucocyanidin-7-O-rhamnoglucoside

        แก่น พบสารกลุ่ม triterpeneได้แก่ β-amyrin, epifriedelinol

        ราก พบฟลาโวนอยด์ ได้แก่ vitexoside  สารกลุ่ม lignans (phenyl dihydronaphthalene type) ได้แก่ vitrofolal E สารกลุ่ม furanoeremophilane ได้แก่ β-carophyllene, β-salinene

        ดอก พบ monoterpene ได้แก่ p-cymene   สารกลุ่ม furanoeremophilane ได้แก่ germacren-4-ol, nerolidol, valencene

        ผล พบสารกลุ่ม furanoeremophilane ได้แก่ germacrene D, nerolidol, valencene  (Abidin, et al.,2015)

 

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

ฤทธิ์ปกป้องตับ

       ทดสอบฤทธิ์ปกป้องตับของสารสกัด ethanol จากเมล็ดคนทีเขมา โดยใช้สาร carbon-tetrachloride ในการเหนี่ยวนำให้เกิดความเป็นพิษต่อตับในหนูทดลอง ผลการทดสอบพบว่าสารสกัด ขนาด 250 mg/kg (1/6 of LD50) มีประสิทธิภาพในการปกป้องตับ

      การทดสอบฤทธิ์ปกป้องตับในหนูของสารสกัด ethanol จากใบคนทีเขมา โดยใช้ยาต้านเชื้อแบคทีเรีย เป็นสารเหนี่ยนำให้เกิดพิษต่อตับ ได้แก่ isoniazid, rifampin และ pyrazinamide ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดขนาดที่มีประสิทธิภาพในการปกป้องตับ คือ 250 และ 500 mg/kg ซึ่งยืนยันผลทดสอบทางห้องปฏิบัติการโดยใช้ชิ้นเนื้อตับ และตรวจวัดระดับเอนไซม์ตับ พบว่าสารสกัดมีฤทธิ์ปกป้องตับโดยยับยั้ง lipid peroxidation, ทำให้เกิดความสมดุลของระดับแคลเซียมภายในเซลล์ และยับยั้ง calcium-dependent proteases

     นอกจากนี้ยังมีการทดสอบฤทธิ์ปกป้องตับของสารสกัด ethanol ของคนทีเขมาโดยใช้ thioacetamide เหนี่ยวนำให้เกิดพังผืดในตับของหนูแรทเพศผู้เป็นเวลา 12 สัปดาห์ เปรียบเทียบกับยามาตรฐาน silymarin ขนาด 100 mg/kg และ 300 mg/kg ของน้ำหนักตัว พบว่าสารสกัดสามารถปกป้องความเป็นพิษต่อตับที่เกิดยาการเหนี่ยวนำด้วยยาได้เทียบเท่ากับยามาตรฐาน

      โดยสรุปสารสกัดจากคนทีเขมาสามารถนำมาพัฒนาเพื่อใช้เป็นยาปกป้องตับ จากความเป็นพิษที่เหนี่ยวนำด้วยยาชนิดต่างๆ ได้ (Abidin, et al.,2015)

ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ

        สารสกัดเมทานอลจากใบ มีฤทธิ์ยับยั้งอนุมูลอิสระ DPPH ในหลอดทดลอง โดยมีค่าความเข้มข้นที่ยับยั้งได้ร้อยละ 50 (EC50) เท่ากับ 18.70 μg/ml (สารมาตรฐานวิตามินซี EC50 เท่ากับ 2.85 μg/ml) (Abidin, et al.,2015)

ฤทธิ์แก้ปวด

         น้ำมันหอมระเหยจาก ใบ และส่วนอื่นๆ ของคนทีเขมามีฤทธิ์ลดอาการปวดในสัตว์ทดลองผ่านระบบประสาทส่วนกลาง และระบบประสาทส่วนปลายได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากนี้ยังพบว่าขนาดของสารสกัดที่ต่ำกว่าขนาดที่ใช้รักษาจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของยาแก้ปวด เช่น aspirin, meperidine ฯลฯ จึงอาจใช้ร่วมกับยาแก้ปวดเพื่อเสริมฤทธิ์กัน (Abidin, et al.,2015)

ฤทธิ์ต้านเชื้อ HIV

           ทดสอบฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ HIV-1 reverse transcriptase (RT) ซึ่งเป็นเอนไซม์เป้าหมายในการรักษาโรคเอดส์ ของสารสกัด 85% เอทานอล  จากใบคนทีเขมา โดยใช้ชุดทดสอบ non-radioactive HIV-RT colorimetric ELISA ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดขนาด 200 μg/ml มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของ HIV-1 RT ได้อย่างมีนัยสำคัญที่ 92.8% ทั้งนี้ฤทธิ์ต้าน HIV อาจเป็นผลมาจากสาร kaempferol, quercetin และ myricetin ที่พบปริมาณมากในสารสกัด (Abidin, et al.,2015)

 

การศึกษาทางพิษวิทยา:

          การทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลันไม่พบความเป็นพิษเฉียบพลัน และเมื่อป้อนสารสกัด ethanol จากใบคนทีเขมาให้แก่หนูแรท โดยพบว่ามีค่า LD50 เท่ากับ 7.58 g/kg (Abidin, et al.,2015)

          การทดสอบความเป็นพิษพบว่า เมื่อฉีดสารสกัดของพืชที่อยู่เหนือดิน สกัดด้วย ethanol และน้ำ (1:1) เข้าช่องท้องของหนูถีบจักร ขนาดที่ทำให้หนูตายครึ่งหนึ่ง มากกว่า 1 กรัม/กิโลกรัม (สมบูรณ์ และคณะ, 2553)

 

เอกสารอ้างอิง:

1. สมบูรณ์ เกียรตินันท์, ลีนา ผุ้พัฒนพงศ์, อดิศร พุกะนัดด์, อำพล บุญเปล่ง, ชนิดา จรัสไพบูลย์, พินิต ชินสร้อย, ประภาส มาสขาว, ประศาสน์ สวัสดิอำไพรักษ์, นฤมล พงษ์โพธิ์, ทศพร อยู่ฤทธิ์. 2553. พืชสมุนไพรประเภทต้น เล่ม 1. สำนักพิมพ์คณะรัฐมนตรีและราชกิจจานุเบกษา:กรุงเทพมหานคร.

2. Abidin L, Ahmad A, Mir SR, Mujeeb M, Khan SA. Ethnobotany, phytochemistry and pharmacological potential of Vitex negundo L. (five-leaved chaste tree): An updated review. Journal of Coastal Life Medicine, 2015; 3(10):826-33.

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 6
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่