ตองแตก

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ตองแตก

ชื่อสมุนไพร ตองแตก
ชื่ออื่นๆ ทนดี นองป้อม ลองปอม ถ่อนดี ตองแต่
ชื่อวิทยาศาสตร์ Baliospermum montanum (Willd.) Mull. Arg.
ชื่อพ้อง Baliospermum angulare Decne. ex Baill., Baliospermum axillare Blume, Baliospermum indicum Decne., Baliospermum montanum (Willd.) Müll.Arg., Baliospermum moritzianum Baill., Baliospermum pendulinum Pax, Baliospermum raziana Keshaw, Murthy & Yogan, Croton roxburghii Wall., Croton solanifolius Burm., Jatropha montana Willd., Ricinus montanus
ชื่อวงศ์ Euphorbiaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

          ไม้พุ่ม ขนาดเล็ก สูงถึง 2 เมตร ใบ เป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ ใบรูปหอก รูปไข่ หรือรูปวงรีแกมขอบขนาน กว้าง 3-10 เซนติเมตร ยาว 8-12 เซนติเมตร ใบบริเวณโคนต้นมักมีขอบหยักเว้าเป็น 3-5 แฉก ปลายแฉกมน หรือแหลม ใบมีขนแข็งเอนทั้งสองด้าน ฐานใบมน ขอบใบจักฟันเลื่อย หรือหยักมน  ดอก เป็นดอกย่อยแยกเพศ ดอกตัวผู้มีจำนวนมากอยู่ตอนบนของช่อ ไม่มีกลีบดอก กลีบเลี้ยงสีเหลืองแกมเขียว 4-5 กลีบ ดอกตัวเมียออกที่โคนช่อ ไม่มีกลีบดอก  ผล ผลค่อนข้างกลม ผลแห้ง แตกได้ มี 3 พู กลีบเลี้ยงติดทน และขยายตัวเมื่อติดผล

 

                                                       

                                                                                                                              ลักษณะวิสัย

 

                                                        

                                                                                                                               ลำต้น และใบ

 

                                                         

                                                                                                                                 ลำต้น

 

                                                            

                                                                                                                                ใบ

 

                                                         

                                                                                                                                ใบ

 

สรรพคุณ:

           ตำรายาไทย เปลือกต้น รสเฝื่อน ใช้เป็นยาถ่าย ใบ รสเฝื่อน แช่น้ำรับประทานแก้หืด ใบแห้งต้มน้ำดื่มเป็นยาถ่ายพยาธิ แก้ฟกบวม ผล รสขมฝาด ทาฟันทำให้ฟันมีสีดำ แก้ปวดฟัน รากรสเฝื่อนร้อนขม  เป็นยาถ่ายอย่างอ่อน ใช้ต้มรับประทานถ่ายลม ถ่ายเสมหะเป็นพิษ ถ่ายพิษพรรดึก ไม่ไซ้ท้อง ใช้ในรายที่ถ่ายด้วยยาดำไม่ได้ โรคริดสีดวงทวาร ถ่ายพยาธิ แก้ฟกบวม แก้บวมน้ำ  แก้ดีซ่าน แก้ม้ามอักเสบ แก้โลหิตจาง แก้ตับอักเสบ เมล็ด รสเบื่อขม ใช้เป็นยาถ่ายอย่างแรง (ไม่นิยมใช้) เป็นยาถ่ายแทนสลอดได้ ถ่ายพยาธิ ตำทาถูนวด แก้ปวดตามข้อ แก้ฟกบวม

 

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

ฤทธิ์ปกป้องเซลล์ตับ

          ทดสอบฤทธิ์ปกป้องเซลล์ตับโดยใช้สารสกัด chloroform, alcohol และน้ำ จากรากตองแตก ทดสอบกับหนูทดลองที่ได้รับการกระตุ้นให้เซลล์ตับถูกทำลายด้วยการป้อนยาพาราเซตามอลทางปาก ขนาด 2 g/kg โดยให้สารสกัดกับหนูแรทเป็นเวลา 7 วัน ใช้ยา silmarin ขนาด 200 mg/kg เป็นสารมาตรฐาน จากการทดสอบพบว่าสารสกัด alcohol และน้ำ สามารถลดระดับเอนไซม์ตับ ได้แก่ serum enzyme aspartate aminotransferase (AST), alanine aminotransferase (ALT), alkaline phosphatase (ALP), γ-glutamyl transpeptidase และ lipid peroxidase ซึ่งแสดงถึงการลดการทำลายเซลล์ตับ และพบว่ามีการเพิ่มขึ้นของเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระที่ตับ ได้แก่ reduced glutathione (GSH) เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาพาราเซตามอลเพียงอย่างเดียว ในขณะที่สารสกัด chloroform มีฤทธิ์ปกป้องเซลล์ตับได้ในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับสารมาตรฐาน นอกจากนี้สารสกัด alcohol และน้ำ สามารถปกป้องเนื้อเยื่อตับจากการถูกทำลายโดยยาพาราเซตามอลได้ เมื่อเปรียบเทียบกับสารมาตรฐาน (Mali and Wadekar, 2008)

ฤทธิ์ต้านมะเร็ง

          ทดสอบฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว ของสารกลุ่ม phorbol esters 5 ชนิด ที่แยกได้จากรากตองแตก ได้แก่ montanin, baliospermin, 12-deoxyphorbol-13-palmitate, 12-deoxy-16-hydroxyphorbol-13-palmitate และ 12-deoxy-5β-hydroxyphorbol-13-myristate พบว่าสารทั้ง 5 ชนิด ให้ผลต้านมะเร็งเม็ดเลือดขาว lymphocytic leukaemia P-388 เมื่อทดสอบในหลอดทดลอง ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยมีค่าความเข้มข้นต่ำที่สุดในการยับยั้ง (ED50) เท่ากับ 0.06-3.4 µg/ml (Mali and Wadekar, 2008) (Mali and Wadekar, 2008)

ฤทธิ์ต้านปรสิต

          ทดสอบฤทธิ์ต้านปรสิตโดยใช้สารสกัดน้ำ และ alcohol จากรากตองแตกที่ความเข้มข้นตั้งแต่ 10-100 mg/ml ทดสอบกับพยาธิตัวกลม Ascardia galli และพยาธิไส้เดือน Pheretima posthuma พบว่าสารสกัดจากตัวทำละลายทั้งสองชนิดมีฤทธิ์ต้านปรสิตทั้งสองชนิดได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับความเข้มข้น 100 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร โดยทำให้ปรสิตสลบ (paralysis) และตาย โดยเปรียบเทียบกับยามาตรฐาน piperazine citrate (10 mg/ml)  (Mali and Wadekar, 2008)

 

เอกสารอ้างอิง:

Mali RG, Wadekar RR. Baliospermum montanum (Danti): Ethnobotany, phytochemistry and pharmacology- A review. International Journal of Green Pharmacy, 2008; 2(4):194-199.

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 92
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่