เนระพูสีไทย

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

เนระพูสีไทย

ชื่อสมุนไพร เนระพูสีไทย
ชื่ออื่นๆ ค้างคาวดำ, มังกรดำ (กลาง), ดีงูหว้า (เหนือ), เนียมฤาษี (เชียงใหม่), ม่านแผลน, ว่านนางครวญ (นครศรีธรรมราช), นิลพูสี (ตรัง), ว่านพังพอน (ยะลา), ว่านหัวฬา, คุ้มเลีย(จันทบุรี), ดีปลาช่อน (ตราด), ม้าถอนหลัก (ชุมพร)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Tcca chantrieri Andre
ชื่อพ้อง Clerodendrum esquirolii H.Lév., Schizocapsa breviscapa (Ostenf.) H.Limpr., Schizocapsa itagakii Yamam., Tacca esquirolii (H.Lév.) Rehder, Tacca garrettii Craib, Tacca lancifolia var. breviscapa Ostenf., Tacca macrantha H.Limpr., Tacca minor Ridl., Tacca paxiana H.Limpr., Tacca roxburghii H.Limpr., Tacca vespertilio Ridl., Tacca wilsonii H.Limpr.
ชื่อวงศ์ Dioscoreaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

          ไม้ล้มลุก อายุหลายปี สูง 50-60 เซนติเมตร มีลำต้นใต้ดินเป็นเหง้า รูปร่างกึ่งทรงกระบอก เหง้าหนา ใบ เป็นใบเดี่ยว มีสีเขียวเข้มเป็นมัน เรียงเวียนสลับ แผ่นใบรูปขอบขนาน หรือวงรีแกมขอบขนานขนาดใบ 20--50(--60) × 7--14(--25) เซนติเมตร มีก้านใบยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร ก้านใบขนาดเล็ก กลม โคนก้านใบแผ่เป็นกาบ แผ่นใบเรียบ หรือแผ่นใบด้านล่างมีขนปกคลุม ฐานใบ รูปลิ่มถึงกลม หรือรูปลิ่ม ปลายใบมีรยางค์คล้ายหางสั้นๆ ดอก มีก้านช่อดอกยาว เจริญขึ้นมาจากดินโดยตรง ดอกช่อซี่ร่ม มีจำนวนดอกย่อยตั้งแต่ 5--7(--18) ดอก วงกลีบรวม รูปหอก มีสีน้ำตาลอมม่วง ยอดเกสรเพศเมีย แบ่งเป็น 3 พู ใบประดับรูปร่างคล้ายปีกค้างคาว เรียงเป็นวง จำนวน 4 ใบ รองรับช่อดอก ใบใหญ่ 2 ใบ อยู่ด้านนอก มีสีม่วงเข้ม รูปใบหอกแกมรูปไข่ ใบเล็กด้านใน 2 ใบ รูปไข่กว้าง ใบประดับของดอกย่อยเรียงยาวเป็นเส้นกลม เหมือนหนวดแมว ประมาณ 10-25 เส้น สีม่วงดำ  ผล เป็นผลสดมีเนื้อ สีน้ำตาลอมม่วง รูปรี หรือรูปกระสวย ขนาดกว้างประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร ยาว 2.5-5 เซนติเมตร มีสันที่ผล 6 สัน วงกลีบรวมยังคงติดที่ผล เมล็ดรูปไต มีหลายเมล็ด ออกดอกและติดผลราวเดือน เมษายน ถึงพฤศจิกายนพบในที่สูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 200-1300 เมตร เกิดในป่าดงดิบชื้น พบในหลายประเทศ ได้แก่ จีน บังคลาเทศ กัมพูชา ลาว อินเดีย มาเลเซีย พม่า ศรีลังกา เวียดนาม และไทย

 

 

 

                                                        

                                                                                                                        ลักษณะวิสัย

 

                                                        

                                                                                                                              ลักษณะวิสัย

 

                                                            

                                                                                                                                   ใบ

 

                                                            

                                                                                                                                     ดอก

 

                                                            

                                                                                                                                    ดอก

 

                                                             

                                                                                                                                     ดอก

 

                                                         

                                                                                                                                   ผล

 

สรรพคุณ:

          ตำรายาไทย เหง้า รสสุขุม แก้ไข้กาฬ ไข้เหนือ ไข้สันนิบาต ดับพิษไข้ ฝาดสมาน แก้บิดมูกเลือด แก้ไข้แก้ท้องเสีย ต้มหรือดองสุราดื่มแก้ความดันโลหิตต่ำ เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ บำรุงกำลังสตรีระหว่างตั้งครรภ์ ใช้เหง้าผสมในตำรับยาแก้ซางในเด็ก แก้ไข้ แก้ลิ้นคอเปื่อย แก้ไอ แก้ปวด เจริญอาหาร แก้ธาตุพิการ บำรุงธาตุ และผสมในตำรับยารักษาโรค ช้าง ม้า ใช้บำรุงให้อ้วนขึ้น เหง้าใช้เป็นยาบำรุงกำลัง ทำให้ไม่ง่วง โดยนำหัวมาฝานบางๆ ตากแห้ง  ชงเป็นชาดื่ม เหง้า หรือใบ การแพทย์พื้นบ้านใช้เหง้า หรือใบ ต้มน้ำกิน เพื่อบรรเทาอาการปวดเมื่อยตามเนื้อตัว แก้ปวดท้อง และแก้อาการอาหารเป็นพิษ  ทั้งต้น รสสุขุม ต้มน้ำอาบแก้ผื่นคันตามร่างกาย

 

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

ฤทธิ์ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร

            ทดสอบฤทธิ์ของสารสกัด ethanol จากเหง้าเนระพูสีไทย ในหนูแรทเพศผู้ สายพันธุ์ Sprague Dawley โดยการป้อนสารสกัดทางปากแก่หนูก่อนเป็นเวลา 60 นาที หลังจากนั้นจึงให้สารชักนำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร ได้แก่ ยาอินโดเมธาซิน ethanol และความเครียด (การทดสอบความเครียดโดยนำหนูแต่ละตัวใส่ในกรงทดสอบ และนำไปจุ่มลงน้ำ ตามระดับน้ำ อุณหภูมิ และเวลาที่กำหนดไว้ เพื่อให้หนูเกิดความเครียด) และทดสอบฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร และปริมาณสารเมือก และสารเฮกโซซามีน (สารตั้งต้นที่ใช้สร้างคอลลาเจนเร่งการหายของแผล) ผลการทดสอบพบว่าสารสกัด ethanol ขนาด 250 และ 500 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ออกฤทธิ์ระงับการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ในทุกการทดสอบได้อย่างมีนัยสำคัญ (p<0.01) และสามารถยับยั้งการหลั่งกรดได้บางส่วน โดยสารสกัดขนาด 250 มิลลิกรัม/กิโลกรัม สามารถยับยั้งการเกิดแผลที่กระเพาะอาหารเมื่อใช้สารชักนำ ได้แก่ ยาอินโดเมธาซิน ethanol และความเครียด ได้เท่ากับ 80, 71 และ 52% ตามลำดับ และสารสกัดขนาด 500 มิลลิกรัม/กิโลกรัม สามารถยับยั้ง ได้เท่ากับ 96, 93 และ 82% ตามลำดับ นอกจากนี้สารสกัดขนาด 500 มิลลิกรัม/กิโลกรัม สามารถเพิ่ม pH และลดความเป็นกรดของกระเพาะอาหารได้อย่างมีนัยสำคัญ (p<0.01 และ p<0.05 ตามลำดับ)  เมื่อทดสอบด้วยวิธี pyrolus ligation (การกระตุ้นการหลั่งกรดด้วยการผูกกระเพาะอาหารส่วนปลาย) นอกจากนี้ยังพบว่าสารสกัดทั้ง 2 ขนาดสามารถเพิ่มปริมาณสารเมือก และเฮกโซซามีนในกระเพาะอาหาร ไม่ให้ถูกทำลายโดยแอลกอฮอล์ได้อย่างมีนัยสำคัญ (p<0.05 เทียบกับกลุ่มควบคุมที่มีแผลในกระเพาะอาหารแต่ไม่ได้รับสารสกัด) ผลการศึกษาครั้งนี้สนับสนุนการใช้เนระพูสีไทยในการบรรเทาอาการปวดท้องเนื่องจากแผลในกระเพาะอาหาร ตามที่ระบุไว้ในการแพทย์พื้นบ้าน โดยกลไกการออกฤทธิ์น่าจะมาจากการกระตุ้นการหลั่งสารเมือก เพื่อปกป้องเนื้อเยื่อกระเพาะอาหารเป็นหลัก (ไชยยง และดวงพร, 2551)

 

เอกสารอ้างอิง:

ไชยยง รุจจนเวท และดวงพร อมรเลิศพิศานต์. ฤทธิ์ระงับการเกิดแผลในกระเพาะอาหารของเนระพูสีไทย. 2551. 10 ปีวิชาการแม่ฟ้าหลวง (Proceedings, 26- 28 พฤศจิกายน 2551, มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย). กรุงเทพมหานคร:สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ.

 

ข้อมูลเครื่องยา : phar.ubu.ac.th/herb-thaicrudedrug/

ข้อมูลตำรับยาเขียวหอม : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 6
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่