ผักแขยง
ชื่อสมุนไพร | ผักแขยง |
ชื่ออื่นๆ | กะออม กะแยง(ตะวันออกเฉียงเหนือ) กะแยงแดง(อุบลราชธานี) ผักพา(เหนือ) |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Limnophila geoffrayi Bonati. |
ชื่อพ้อง | |
ชื่อวงศ์ | Scorphulariaceae |
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ล้มลุกฤดูเดียว สูง 10-35 เซนติเมตร ลำต้นเรียวยาว ตั้งตรง กลมกลวง อวบน้ำ มีขนหนาแน่น ทั้งต้นมีกลิ่นหอมฉุน เผ็ดร้อน ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม ทุกข้อ ตลอดลำต้น รูปขอบขนานแกมใบหอก รูปขอบขนานหรือรูปไข่แกมวงรี กว้าง 3-10 มิลลิเมตร ยาว 1-3 เซนติเมตร ขอบใบหยักมนแกมฟันเลื่อย ปลายใบแหลม โคนใบห่อติดลำต้น ไม่มีก้านใบ ดอกช่อกระจะออกที่ซอกใบและปลายกิ่ง ออกพร้อมกันทั้งต้น ดอกย่อย 2-10 ดอก ดอกเป็นรูปหลอดเล็กๆคล้ายถ้วย รูปกรวย ยาว 0.5 นิ้ว ปลายบานเล็กน้อย แยกออกเป็น 4 กลีบ กลีบดอกสีม่วง ผิวด้านนอกเรียบ ผิวด้านในตอนล่างของกลีบดอกมีขน ผลแห้งแตกได้ รูปกระสวย เมล็ดรูปร่างกลมรี สีน้ำตาลดำ ขนาดเล็กมาก ชอบขึ้นบริเวณที่มีน้ำขังเล็กน้อย เป็นวัชพืชในนาข้าว ชาวอีสานใช้ใส่ในแกงต้มปลา อ่อมต่างๆ มีกลิ่นหอม ช่วยดับกลิ่นคาว
ลักษณะวิสัย
ลักษณะวิสัย
ใบ
ช่อดอก
ดอก
ดอก
สรรพคุณ
ตำรายาพื้นบ้านอีสาน ใช้ ทั้งต้น เป็นยาขับน้ำนม ขับลม และเป็นยาระบายท้อง น้ำคั้นจากต้นใช้แก้ไข้(นำต้นสด 15-30 กรัม มาต้มน้ำกิน) แก้คัน ฝี และกลาก แก้อาการบวม เป็นยาระบายอ่อนๆ แก้พิษงู ให้นำต้นสด ประมาณ 15 กรัม ตำให้ละเอียด ผสมกับต้นฟ้าทะลายโจรสด 30 กรัม นำไปผสมกับน้ำส้มปริมาณพอควร คั้นแล้วทานน้ำส่วนกากพอกรอบๆแผล อย่าพอกบนแผล ทั้งต้นแห้ง ที่เก็บไว้นาน 1 ปี ต้มน้ำดื่ม แก้พิษเบื่อเมา
ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/