นุ่น

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

นุ่น

ชื่อสมุนไพร นุ่น
ชื่ออื่นๆ ง้าว งิ้วน้อย งิ้วสร้อย งิ้วสาย
ชื่อวิทยาศาสตร์ Ceiba pentandra (L.) Gaertn.
ชื่อพ้อง
ชื่อวงศ์ Bombacaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
            ไม้ยืนต้น ผลัดใบในฤดูแล้ง ประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน ลำต้นสูงใหญ่ เปลาตรง แผ่พุ่มกว้างบริเวณยอด พบหนามตามโคนต้น ลำต้นมีสีเขียว สูง 8-30 เมตร ใบประกอบแบบนิ้วมือ เรียงสลับ ใบย่อย 5-9 ใบ รูปขอบขนานแกมใบหอก กว้าง 1.5-4.5 เซนติเมตร ยาว 5-16 เซนติเมตร ปลายรูปหอกเรียวแหลม ขอบใบเรียบ โคนใบเรียวแหลม ก้านใบและเส้นใบมีสีน้ำตาลแดง ก้านใบย่อยยาว 0.3-0.5 เซนติเมตร ก้านใบร่วมยาว 8-20 เซนติเมตร ดอกช่อกระจะ ออกที่ซอกใบ ขนาด 2-3.5 เซนติเมตร ดอกย่อยจำนวนมาก ลักษณะดอกเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็น 5 กลีบ ยาว 1-1.5 นิ้ว กลีบดอกสีขาวแกมเหลือง กลีบดอกติดกันที่ฐาน กลีบด้านนอกเป็นสีขาวนวล และมีขน ด้านในสีเหลือง เกสรตัวผู้ 5-6 อัน ก้านเกสรตัวเมียไม่แยก ผลเป็นฝักยาวรี  แห้งแตก รูปขอบขนาน กว้าง 2 นิ้ว ยาว 4-5 นิ้ว ปลายและโคนผลแหลม เปลือกแข็ง แตกเป็น 5 พู เมล็ดจำนวนมาก สีดำ มีเส้นใยสีขาวคล้ายเส้นไหมยาวหุ้มเมล็ด เป็นปุยนุ่น นำมายัดใส่หมอน ที่นอน ฝักอ่อนมากๆที่เนื้อยังไม่เปลี่ยนเป็นปุยนุ่น ใช้เป็นอาหารได้ โดยรับประทานสด หรือใส่แกง

 

ลักษณะวิสัย

 

หนามที่โคนต้น

 

หนามที่โคนต้น

 

ลำต้น และ ใบ

 

ใบ

 

ใบ และ ดอกตูม

 

ดอกตูม

 

ดอก

 

ดอก

 

ดอก

 

ผล

 

 


สรรพคุณ    
             ยาพื้นบ้านอีสาน  ใช้  เปลือกต้น ต้มน้ำดื่ม แก้บิด แก้อาหารเป็นพิษ
             ตำรายาไทย  ใช้  ทั้งต้น ต้มน้ำดื่ม แก้ไอ แก้ไข้ เปลือกต้น รสเย็นเอียน แก้ไข้ แก้บิด แก้ร้อนใน ขับปัสสาวะ ทำให้อาเจียน บำรุงกำหนัด ต้มดื่มแก้หืด แก้หวัดในเด็ก ต้มร่วมกับหมาก ลูกจันทน์เทศ และน้ำตาล ดื่มขับปัสสาวะ ใช้ได้ดีในรายที่เป็นนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ดอกแห้ง แก้ไข้ แก้ปวด ราก รสจืดเอียน ต้มน้ำดื่ม เป็นยาบำรุงกำลัง แก้บิดเรื้อรัง แก้ท้องเสีย ทำให้อาเจียน ขับปัสสาวะ แก้พิษแมลงป่อง ตำคั้นเอาน้ำดื่ม แก้เบาหวาน เมล็ด รสเอียนมัน น้ำมันจากเมล็ด รสร้อน เป็นยาระบาย ขับปัสสาวะ ยางไม้ รสฝาดเมา เป็นยาบำรุงกำลัง ฝาดสมาน แก้ท้องร่วง แก้ระดูขาวมากเกินไป ใบ รสเย็นเอียน ตำพอกแก้ฟกช้ำ เผาไฟ ผสมหัวขมิ้นอ้อยและข้าวสุก พอกฝี ต้มน้ำดื่มแก้ไข้ แก้โรคเรื้อน ตำกับหัวหอม ขมิ้น ผสมน้ำดื่มแก้ไอ แก้เสียงแหบ แก้หวัดลงท้อง แก้ท่อปัสสาวะอักเสบ ใบอ่อนรับประทานแก้เคล็ดบวม ผลอ่อน รสหวานฝาดเย็น เป็นยาสมาน ราก แก้บิด แก้ลำไส้อักเสบ คั้นเอาน้ำ ทานแก้โรคเบาหวาน เมล็ด ขับปัสสาวะ


 

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/   

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 0
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่