บวบลม
ชื่อสมุนไพร | บวบลม |
ชื่ออื่นๆ | กล้วยไม้ (เหนือ) บวบลม (นครราชสีมา, อุบลราชธานี) เถาพุงปลา (ภาคตะวันออก ระยอง) โกฐพุงปลา พุงปลาช่อน (กลาง) จุกโรหินี |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Dischidia major (Vahl) Merr. |
ชื่อพ้อง | Dischidia rafflesiana |
ชื่อวงศ์ | Asclepiadaceae |
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ล้มลุก ลำต้นเลื้อยเกาะพันกับต้นไม้อื่น รากงอกออกตามข้อแต่ละข้อ ของเถา สำหรับยึดเกาะ เถากลมสีเขียว ใบเดี่ยวเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ หรือออกใบเดียว ผิวเรียบ ใบอวบน้ำ ใบมีรูปร่าง 2 แบบ คือ แบบแรกมีรูปร่างคล้ายถุง กว้าง 2-2.5 เซนติเมตร ยาว 5-12 เซนติเมตร จะแบนเป็นเหลี่ยม ด้านนอกมีสีเขียว ด้านในมีสีม่วง แบบที่สองเป็นใบธรรมดา รูปใบค้อนข้างกลม ปลายใบมน มีติ่งแหลมสั้นๆ ดอกออกเป็นช่อขนาดเล็ก 6-8 ดอก ออกตามง่ามใบ ตรงข้ามกับใบ กลีบดอกมี 5 กลีบ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้นๆ และป่องเบี้ยวไปอีกข้างหนึ่ง ตรงปลายเป็นรูปกรวย ที่ปากท่อดอกแต้มด้วยสีม่วง มีขนอยู่ด้านนอก ตามขอบกลีบดอกมีขน กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ ผลเป็นฝัก ผิวขรุขระ ฝักยาว 5-7.5 เซนติเมตร พบตามป่าดงดิบเขาทั่วไป
ลักษณะวิสัย
ลำต้น และ ใบ
สรรพคุณ
ยาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี ใช้ ทั้งต้น เข้ายาแก้โรคตับพิการ เถา ต้มน้ำดื่ม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลม ผล ต้มน้ำดื่ม ลดน้ำตาลในเลือด นำผลมาดึงไส้ออก ใส่น้ำ เผาไฟให้อุ่น ใช้หยอดหู นำผลผสมฝอยลม ต้มน้ำดื่ม ขับลมในกระเพาะอาหาร นำผลผสมข้าวเย็นเหนือ ใช้เลิกบุหรี่ นำผลเผาไฟเอาน้ำ ใช้ขับลม หยอดหูน้ำหนวก นำผลผสมมดแดงฮ้าง ต้มน้ำดื่ม แก้ลมพันไส้
ยาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดนครราชสีมา ใช้ ราก ทาแผล เพื่อสมานแผล
ยาพื้นบ้าน ใช้ ทั้งต้น รสฝาดสุขุม ต้มน้ำดื่ม แก้ปวดท้อง เนื่องจากโรคกระเพาะอาหารอักเสบ ใบ รสฝาดสุขม ใช้เป็นยาฝาดสมาน แก้ท้องร่วง แก้ท้องเดิน แก้บิด แก้อาเจียน แก้ปวดเบ่ง มูกเลือด เสมหะผิดปกติ ใช้ภายนอกเป็นยาสมานแผล ราก รสฝาดสุขุม แก้ท้องร่วง แก้อาเจียน แก้บิด แก้ปวดเบ่ง แก้เสมหะพิการ สมานแผล แก้ไข้เพื่อโลหิต แก้ลมปลายไข้ ใช้ภายนอกเป็นยาฝาดสมาน รากนำมาเคี้ยวกับพลู เป็นยาแก้ไอ
ข้อมูลเครื่องยา : phar.ubu.ac.th/herb-thaicrudedrug/
ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/