ปรู๋

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ปรู๋

ชื่อสมุนไพร ปรู๋
ชื่ออื่นๆ ผลู มะเกลือกา ปรู ปลู ปู๋ ปรู่ มะตาปู๋
ชื่อวิทยาศาสตร์ Alangium salviifolium (L.f.) Wangerin. subsp. hexapetalum Wangerin
ชื่อพ้อง
ชื่อวงศ์ Alangiaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
             ไม้ยืนต้น ขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง 5-15 เมตร เปลือกสีน้ำตาลเทา เรียบหรือแตกเป็นสะเก็ด แก่นสีน้ำตาล กระพี้สีค่อนข้างเหลือง กิ่งอ่อนและใบอ่อนมีขน ใบเดี่ยว เรียงสลับ แผ่นใบรูปไข่กลับรูปขอบขนาน หรือรูปหอกกลับ กว้าง 2.5-7 เซนติเมตร ยาว 5-15 เซนติเมตร ปลายกว้างและเป็นติ่งสั้น โคนสอบเรียว ขอบใบเรียบ มีเส้นแขนงใบ 3-5 เส้นออกจากโคนใบ เห็นชัดมากบริเวณท้องใบ ก้านใบยาว 0.5-1 เซนติเมตร ดอกช่อ สีขาวนวล กลิ่นหอมอ่อนๆ ออกเป็นกระจุกตามกิ่งเหนือรอยแผลใบ กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันปลายแยก 5-7 กลีบ กลีบเลี้ยง ส่วนโคนกลีบจะเชื่อมติดกันเป็นท่อรูปกรวย ส่วนปลายกลีบจะแยกออกเป็นแฉก ขนาดยาวประมาณ 0.2-0.5 เซนติเมตร ดอกมีขนขึ้นประปราย ผล รูปกลมรี ออกเป็นกระจุก กว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร สุกสีดำ ปลายผลมีกลีบเลี้ยง และกลางผลจะมีสันแข็งตลอดความยาวของผล ผลรสหวานอมเปรี้ยว รับประทานได้ แห้งไม่แตก พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบเขา หรือป่าชายเลน

 

ลักษณะวิสัย

 

ลักษณะวิสัยขณะออกดอก

 

ลำต้น

 

ใบ

 

ช่อดอก

 

ช่อดอก

 

ผลแก่

 

ผลสุก

 

ผล และเมล็ด


สรรพคุณ    
              แก่น รสจืดเฝื่อน เป็นยาบำรุงกำลัง แก้น้ำเหลือง และแก้ริดสีดวงทวาร เนื้อไม้ รสฝาดเฝื่อน แก้ริดสีดวงลำไส้ และทวารหนัก เปลือกต้น รสฝาด นำมาต้ม เอาน้ำกิน แก้จุกเสียด บำรุงธาตุไฟ แก้ไอ แก้หอบหืด และแก้ท้องร่วง ปิดธาตุ เปลือกราก นำมาตำให้ละเอียด เป็นยาพอก หรือคั้นเอาน้ำล้างแผล แก้โรคผิวหนัง หรือรับประทานเป็นยาแก้พิษ ทำให้เอาเจียน ยาระบาย และเป็นยาช่วยขับพยาธิ บำบัดอาการไข้ และขับเหงื่อ ผล  รสร้อนเบื่อ บำรุงธาตุ ขับพยาธิ แก้จุกเสียด

 

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 0
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่