ผักกาดกบ

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ผักกาดกบ

ชื่อสมุนไพร ผักกาดกบ
ชื่ออื่นๆ คำโคก ผักกาดดง ผักกาดนกเขา หนาดแห้ง ผักกาดดิน ดาวเรือง
ชื่อวิทยาศาสตร์ Gynura pseudochina (L.) DC.
ชื่อพ้อง
ชื่อวงศ์ Compositae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
             พืชล้มลุก อายุหลายปี ลำต้นสั้น เป็นเหลี่ยม อวบน้ำ  ตั้งตรง มีเหง้าใต้ดินขนาดใหญ่ ปลายยอดมีขนสั้นนุ่มปกคลุม สูง 10-50 เซนติเมตร ใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับชิดกัน เป็นกระจุกแบบกุหลาบซ้อน มักเรียงชิดกันเป็นกลุ่มที่โคนลำต้น แผ่นใบรูปไข่กลับ หรือรูปขอบขนาน กว้าง 1.5-5 เซนติเมตร ยาว 10-15 เซนติเมตร ปลายมนหรือแหลม โคนสอบเรียวแคบ ขอบใบจักเว้าลึก แบบซี่ฟัน มีขนสั้นๆ ผิวใบด้านบนมีสีม่วงสลับกับเขียว มีขนสั้นกระจาย แผ่นใบหนา ใบอวบน้ำ เส้นแขนงใบข้างละ 10-12 เส้น ก้านใบสั้นหรือไม่มีก้านใบ ดอกออกเป็นช่อแบบช่อกระจุกแน่นแยกแขนง ออกที่ซอกใบและปลายยอด กลีบดอกสีเหลือง รูปหลอด ยาว 10-12 มิลลิเมตร ปลายแยกเป็น 5 แฉก ปลายแฉกด้านหลังมีปุ่มเล็ก มี 60-70 ดอก ก้านช่อ ยาว 30-50 เซนติเมตร ฐานดอกแบน ทั้งก้านช่อดอกและก้านช่อกระจุกแน่นมีขนสีขาวหนาแน่น เกสรเพศผู้ มี 5 อัน อับเรณูปลายมน เกสรเพศเมีย มีขนสั้น รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ รูปทรงกระบอก เกลี้ยง วงใบประดับมี 2 ชั้น ชั้นนอกแยกกัน รูปแถบ ยาว 1-4 มิลลิเมตรวงใบประดับวงใน 10-15 ใบ รูปใบหอก ยาว 10-12 มิลลิเมตร ปลายแหลม มีขนประปราย หรือเกือบเกลี้ยงตรงกลางใบ ผลแห้ง รูปทรงกระบอก ยาวประมาณ 2.5 มิลลิเมตร แพปพัส ยาว 7-9 มิลลิเมตร ร่วงง่าย มีรยางค์ 10 เส้น เมล็ดล่อน พบตามป่าโปร่งในป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ออกดอกช่วงเดือน กุมภาพันธ์ ถึง พฤษภาคม

 

ลักษณะวิสัย

 

ใบ

 

ช่อดอก

 

ดอก

 


สรรพคุณ    
               ตำรายาไทย  ใช้ ทั้งต้น รสเฝื่อนเย็น  เป็นยาบรรเทาอาการปวดและบวม เป็นยาพอกเนื้องอกที่เต้านม แก้โรคไฟลามทุ่ง ใบ รสเฝื่อนเย็น น้ำคั้นใบเป็นยาอมกลั้วคอ แก้เจ็บคอ เหง้า รสเฝื่อน ปรุงเป็นยาแก้ช้ำใน เป็นยาห้ามเลือด แก้โรคบิด รักษาแผลอักเสบ รักษามดลูก แก้มดลูกอักเสบ ชงร่วมกับชาดื่มหลังคลอด ขับประจำเดือน แก้ไข้ รากและใบสด ตำพอกแก้ปวดบวม
              ตำรายาพื้นบ้านนครราชสีมา  ใช้ เหง้า แก้ไข้ แก้บิด รักษาแผลอักเสบ และขับประจำเดือนหลังคลอดบุตร โดยนำเหง้าบดเป็นผงละเอียดผสมกับชาชงดื่ม ทั้งต้น ตำเป็นยาพอก บรรเทาอาการปวดบวม เป็นยาห้ามเลือด แก้โรคไฟลามทุ่ง ใบ คั้นเอาน้ำอมกลั้วคอ แก้เจ็บคอ
             ประเทศแถบอินโดจีน ใช้ ใบ พอกลดอาการบวมของผิวหนัง พอกฝี พอกถอนพิษ อาการปวดแสบปวดร้อน เหง้า ใช้กินรักษาพิษไข้ กระสับกระส่าย
             ในชวา  ใช้ ราก เมื่อระบบหมุนเวียนโลหิตไม่ปกติ

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 0
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่