นมน้อย

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

นมน้อย

ชื่อสมุนไพร นมน้อย
ชื่ออื่นๆ น้ำเต้าแล้ง (นครราชสีมา) น้ำน้อย (เลย) ต้องแล่ง (มหาสารคาม)นมน้อย
ชื่อวิทยาศาสตร์ Polyalthia evecta (Pierre) Finet & Gagnep.
ชื่อพ้อง
ชื่อวงศ์ Annonaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
             ไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง 0.5-1 เมตร เปลือกลำต้นเรียบ สีน้ำตาลดำ กิ่งก้านเล็ก เปลือกต้นมีช่องแลกเปลี่ยนอากาศจำนวนมาก ใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปขอบขนานหรือรูปวงรี กว้าง 2-4 เซนติเมตร ยาว 6-12 เซนติเมตร ฐานใบรูปลิ่ม ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ ผิวใบเรียบ ใบด้านบนสีเขียวเข้ม เกลี้ยง ด้านหลังมีขนสั้น ประปราย เส้นใบไม่เด่นชัด เส้นกลางใบเป็นร่อง ดอกเดี่ยว ออกที่ซอกใบ บริเวณกิ่งอ่อน ตรงรอยร่วงของใบ ระหว่างข้อหรือใต้ข้อ กลีบดอกสีเหลือง เนื้อหนา มี 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ แบ่งเป็นกลีบดอกชั้นนอก คล้ายกลีบเลี้ยง สีเขียวอมเหลือง รูปสามเหลี่ยม แยกกัน กลีบดอกชั้นในหนาอวบ มีขนาดใหญ่กว่ากลีบดอกชั้นนอก สีเหลืองนวล ทอรัส รูปนูน เกสรเพศผู้ รูปลิ่ม มีจำนวนมาก อัดกันแน่น หันออกด้านนอก บนฐานล้อมรอบรังไข่จำนวนมาก ซึ่งอยู่กลางฐาน เกสรเพศเมีย มีรังไข่เหนือวงกลีบ กลีบเลี้ยง บางคล้ายกระดาษ รูปสามเหลี่ยม ด้านนอกของกลีบมีขนสั้นบางสีทอง ด้านในเกลี้ยง ผลเป็นผลกลุ่ม มีหลายผลย่อยรวมเป็นช่อ ผลย่อยรูปทรงกลม ขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร ผลแก่สีน้ำตาลปนแดง เมื่อสุกสีแดง ผลรับประทานได้ ออกดอกช่วงเดือนมิถุนายน ถึงสิงหาคม พบตามป่าละเมาะ ชายทะเล ที่ทิ้งร้าง ชายป่า

 

ลักษณะวิสัย

 

ลักษณะวิสัย

 

ใบ และ  ผล

 

ดอก

 

ดอก

 

ดอก และ ผล

 

ผลสุก


สรรพคุณ    
              ยาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี ใช้ ราก เข้ายากับเครือไส้ไก่ และตะไคร้ป่า ต้มน้ำดื่ม แก้โรคกระเพาะอาหาร เข้ากับรากลกคก และรากหุ่นไห้ ต้มน้ำดื่ม ช่วยบำรุงน้ำนมหญิงหลังคลอด
              ยาพื้นบ้านจังหวัดมุกดาหาร ใช้ ราก แก้ฝีภายใน
              ยาพื้นบ้านจังหวัดอำนาจเจริญ ใช้ ราก แก้ร้อนใน ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้ปวดเมื่อย ต้มรากดื่มขณะอยูไฟหลังคลอดบุตร
              ยาพื้นบ้าน ใช้ ราก ต้มน้ำดื่ม แก้กล้ามเนื้อท้องเกร็ง บำรุงน้ำนม แก้ปวดเมื่อย

 

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 3
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่