มะเดื่อหอม
ชื่อสมุนไพร | มะเดื่อหอม |
ชื่ออื่นๆ | เดื่อขน (เหนือ);หาด (เชียงใหม่); นอดน้ำ (ลำปาง); มะเดื่อขน (นครราชสีมา); นมหมา (นครพนม);นอดหอม มะเดื่อเตี้ย (จันทบุรี); เดื่อหอมเล็ก เดื่อหอมใหญ่ (ตราด); พุงหมู (อุบลราชธานี) |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Ficus hirta Vahl. |
ชื่อพ้อง | |
ชื่อวงศ์ | Moraceae |
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้พุ่ม ขนาดเล็ก มีน้ำยางขาว ไม่ค่อยแตกกิ่ง มีรากเก็บสะสมอาหารเป็นหัวใต้ดิน มีกลิ่นหอม สูงได้ถึง 10 เมตร ลำต้น และกิ่งก้านมีขนแข็ง สากคาย สีน้ำตาลแกมเหลืองอ่อน เมื่อแก่ลำต้นจะกลวง ตาดอกและใบอ่อนมีขนหนาแน่น ใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปขอบขนาน รูปไข่แกมขอบขนาน รูปขอบขนานแกมไข่กลับ หรือรูปขอบขนานแกมใบหอก กว้าง 5-12 เซนติเมตร ยาว 12-25 เซนติเมตร ใบมีพูลึก 3-5 พู หรือขอบเรียบ ฐานใบเบี้ยว ปลายใบแหลมติ่ง ขอบใบจักฟันเลื่อย มีขนทั้งสองด้านของใบ ใบด้านบนมีขนหยาบ สีน้ำตาลอมเหลือง ประปราย ขนยาวและหยาบบนเส้นใบ ด้านล่างขนอ่อนนุ่มกว่า ใบมักแบ่งเป็น 3-5 พู ที่ไม่เท่ากัน โดยเฉพาะในต้นอ่อน ใบแก่บาง เส้นใบที่ฐานยาวน้อยกว่า ½ ของใบ เส้นใบข้าง 7-9 เส้น ก้านใบยาว 2-11 เซนติเมตร มีหูใบแหลม 0.8-2 เซนติเมตร กิ่งก้านมักจะกลวง และที่ข้อพองออกในต้นอ่อน ดอกช่อเกิดภายในโครงสร้างกลวงออกที่ซอกใบ ประกอบด้วยดอกขนาดเล็กจำนวนมาก เบียดกันแน่นบนฐานรองดอก ซึ่งเจริญหุ้มดอก มีช่องเปิดด้านบน ซึ่งมีใบประดับซ้อนทับหลายชั้นปิดอยู่ทำให้ดูภายนอกคล้ายผล รูปไข่ค่อนข้างกลม อยู่บริเวณกิ่งที่มีใบติดอยู่ ดอกแยกเพศ อยู่ในช่อเดียวกัน ดอกเพศผู้มีจำนวนน้อย อยู่บริเวณรูเปิดของช่อดอก กลีบดอกมี 3-4 กลีบ เกสรเพศผู้มี 1-2 อัน ดอกเพศเมีย มีรังไข่เหนือวงกลีบ ผลรวม ผลย่อยเป็นผลสด กลม ขนาดเล็กเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 มิลลิเมตร ออกเดี่ยวหรือเป็นคู่ สีเหลือง เมื่อสุกมีสีแดงอมส้ม มีขนหยาบสีทองหนาแน่น ไม่มีก้านผล ที่ฐานมีกาบแหลม 3 กาบ ขนาด 1.5-5 มิลลิเมตร หน่วยผล ที่มีดอกแบบกอล รูปลูกข่าง ปลายบุ๋ม หน่วยผลที่มีดอกตัวเมียมักจะกลม ขนาดเล็กกว่า พบตามป่าดิบแล้ง ที่โล่งแจ้ง ป่าละเมาะ ป่าโปร่งมีดอกตลอดปี
ลักษณะวิสัย
ใบ
ใบ และ ผล
ผล
ผล และ เมล็ด
สรรพคุณ
ยาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี ใช้ ราก ฝนกับน้ำดื่ม ช่วยบำรุงน้ำนม
ยาพื้นบ้านอีสาน ใช้ ราก ฝนน้ำกิน แก้ผิดสำแดง
ตำรายาไทย ใช้ ราก รสฝาดเย็นหอม แก้พิษงู พิษฝี แก้ตับพิการ หัวใจพิการ ขับลมในลำไส้ บำรุงหัวใจ บำรุงกำลัง ทำให้ชื่นบาน แก้พิษอักเสบ ลำต้นและราก ต้มน้ำดื่มบำรุงหัวใจ ราก ฝนน้ำกิน แก้ผิดสำแดง เป็นยาระบาย ขับลมในลำไส้ บำรุงหัวใจ ผล รสฝาดเย็น แก้พิษฝี
ยาพื้นบ้านภาคใต้ ใช้ ลำต้นหรือราก ต้มน้ำดื่ม บำรุงหัวใจ
การทดสอบความเป็นพิษ
สารสกัดส่วนเหนือดินด้วยแอลกอฮอล์ 50% ,มีพิษเฉียบพลันปานกลาง เมื่อฉีดเข้าช่องท้องหนูถีบจักร (LD50=681 มก./กก.)
ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/