มะเม่า

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

มะเม่า

ชื่อสมุนไพร มะเม่า
ชื่ออื่นๆ ขะเม่าผา เม่าไข่ปลา เม่าทุ่ง มังเม่า เม่าตาควาย เม่าสร้อย มะเม่าข้าวเบา
ชื่อวิทยาศาสตร์ Antidesma ghaesembilla Gaertn.
ชื่อพ้อง Antidesma acidum
ชื่อวงศ์ Euphorbiaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
            ไม้ยืนต้น หรือไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงได้ถึง 20 เมตร เปลือกต้นสีน้ำตาลเทา แตกเป็นสะเก็ดเล็กๆ กิ่งอ่อนและยอดอ่อน มีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาล ใบเดี่ยว เรียงสลับ ในระนาบเดียวกัน แผ่นใบกว้างรูปไข่ถึงรูปรี กว้าง 3.5-4.5 เซนติเมตร ยาว 5-7 เซนติเมตร ปลายมนกลมหรือเป็นติ่งแหลมเล็กน้อย โคนมนกลมถึงหยักเว้า ขอบใบเรียบ ผิวใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน หรือมีขนเล็กน้อยตามเส้นใบและด้านหลังใบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษถึงกึ่งหนาคล้ายแผ่นหนัง มีขนสั้นนุ่มถึงเกลี้ยงทั้งสองด้าน เส้นแขนงใบข้างละ 5-8 เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแหชัดเจน ก้านใบยาว 0.5-1 เซนติเมตร มีขนประปรายถึงหนาแน่น หูใบรูปลิ่มแคบ ยาว 4-6 มิลลิเมตร ร่วงง่าย ดอกออกเป็นช่อแบบช่อเชิงลด ตามซอกใบใกล้ยอดและปลายกิ่ง ยาว 1-2 เซนติเมตร แยกเพศอยู่ต่างต้น ดอกมีขนาดเล็กมาก มีดอกย่อยจำนวนมาก สีเขียว ขนาดเล็ก ดอกเพศผู้มีช่อดอกยาว 4-6 เซนติเมตร แกนช่อมีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลแดง ใบประดับรูปใบหอก ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร  มีขนสั้นนุ่ม ดอกเพศผู้ยาว 2-3 มิลลิเมตร ไม่มีก้าน กลีบเลี้ยง 4-6 กลีบ แยกจากกัน รูปคล้ายสามเหลี่ยมถึงรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร ปลาแหลมถึงมน ผิวด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม ด้านในเกลี้ยง  ไม่มีกลีบดอก เกสรเพศผู้มี 4-6 อัน ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ก้านชูอับเรณูสีขาว มีขน อับเรณูมี 2 พู ค่อนข้างกลม สีขาว มีเกสรเพศเมียที่เป็นหมัน รูปกรวยกลับ มีขนสั้นนุ่ม ปลายเกสรเพศเมียแยกเป็น 3 แฉก ช่อดอกยาว 2-3 เซนติเมตร แกนช่อมีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลแดง ใบประดับรูปใบหอก ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร  มีขนสั้นนุ่ม ดอกเพศเมียยาว 1.5-2 มิลลิเมตร ก้านดอกย่อยยาวได้ถึง 1 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยง 5-6 กลีบ แยกจากกัน รูปคล้ายสามเหลี่ยม ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ปลายแหลม ผิวด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม ด้านในเกลี้ยง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปไข่หรือกลม มีขนสั้นนุ่ม มี 1 ช่อง มีออวุล 2 เม็ด ผลเป็นช่อ ช่อผลยาว 4-7 เซนติเมตร ค่อนข้างกลมหรือรี ขนาดเล็ก เส้นผ่านศูนย์กลาง 4 มิลลิเมตร ผิวมีขน ผนังชั้นในแข็ง ผลอ่อนสีขาว ผลสุกมีสีแดงคล้ำถึงดำ เมล็ดขนาดเล็ก 1-2 เมล็ด พบตามป่าเต็งรัง ที่โล่งลุ่มต่ำ ป่าละเมาะ เรือกสวนทั่วไป และป่าพรุ ออกดอกราวเดือนมีนาคมถึงเมษายน ติดผลราวเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม ใบอ่อนและผลดิบใช้ปรุงอาหารให้มีรสเปรี้ยว ผลสุกมีรสเปรี้ยวรับประทานได้

 

ลักษณะวิสัย

 

ดอก

 

ดอก

 

ใบ  และ  ผล

 

ผล

 

ผลสุก


สรรพคุณ    
              ตำรายาไทย  ใช้  ใบและผล ต้มน้ำอาบแก้อาการซีดเหลือง โลหิตจาง เลือดไหลเวียนไม่ดี เปลือกต้น ฝาดสมาน บำรุงกำลัง ใบ ทาแก้ปวดศีรษะ แก้โรคผิวหนัง ท้องบวม ผล ใช้ทำยาพอกแก้อาการปวดศีรษะ แก้รังแค แก้ช่องท้องบวม ใช้ผสมกับน้ำอาบแก้อาการไข้ ลำต้นและราก รสจืด บำรุงไต ขับปัสสาวะ แก้กระษัย แก้มดลูกพิการ และตกขาว แก้ซางเด็ก บำรุงไต แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย
             ชาวเขาเผ่าแม้ว  ใช้   ใบ และผล ต้มน้ำอาบแก้อาการโลหิตจาง ซีด เลือดไหลเวียนไม่ดี

 

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 3
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่