กระวานเทศ
ชื่อเครื่องยา | กระวานเทศ |
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา | |
ได้จาก | ผลแก่, เมล็ด |
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา | กระวานเทศ |
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา) | กระวานแท้ ลูกเอล (Ela) ลูกเอน ลูกเอ็น กระวานขาว กะวาน |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Elettaria cardamomum (L.) Maton |
ชื่อพ้อง | |
ชื่อวงศ์ | Zingiberaceae |
ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
ผลมีลักษณะยาวรี รูปไข่ หัวท้ายแหลม ขนาดผลเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร ยาวประมาณ 4 เซนติเมตร ผลแก่แห้งสีน้ำตาลเข้ม มีกลิ่นเฉพาะตัว ภายในแบ่งเป็น 3 ช่อง เมื่อนำผลตัดขวาง รอยตัดจะเป็นแบบสามเหลี่ยม ส่วนปลายผลจะงอนเหมือนจงอยปากนก เมื่อแก่จะแตกตามยาวเป็น 3 ส่วน ภายในมีเมล็ดมาก แต่ละผลมี 15-20 เมล็ด มีสีน้ำตาลอมดำ อัดแน่นเป็นกลุ่ม รูปร่างเป็นสามเหลี่ยมแบน แข็ง ขนาดประมาณ 5 มิลลิเมตร มีเยื่อหุ้มเมล็ด เมล็ดมีกลิ่นหอมฉุน รสเผ็ดร้อน ปลูกมากในอินเดีย กัวเตมาลา ศรีลังกา และแทนซาเนีย
เครื่่องยา กระวานเทศ
เครื่องยา กระวานเทศ
เครื่องยา กระวานเทศ
เครื่องยา กระวานเทศ
ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
ไม่มีข้อมูล
สรรพคุณ:
ตำรายาไทยใช้ ผล บำรุงธาตุ กระจายโลหิต เสมหะ ขับลม ช่วยเจริญอาหาร และระบาย แก้ท้องอืดเฟ้อ แก้อาการเกร็งของลำไส้ ทางสุคนธบำบัด น้ำมันกระวานเทศ ช่วยกระตุ้นจิตใจในผู้ที่มีภาวะอ่อนล้า กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง แก้เกร็ง ช่วยเจริญอาหาร แก้อาเจียน แก้ท้องอืดเฟ้อ
ในต่างประเทศมีการใช้กระวานเทศผสมเป็นตัวยาประเภทยาบำรุงหัวใจ และรักษาโรคประเภทโรคกระเพาะอาหร ท้องเสีย ขับลม ลดอาการอักเสบ ปวดศีรษะ ปวดหู ปวดฟัน อาการผิดปกติของตับ และคอ กระวานเทศเคยเข้าอยู่ในตำรายาของอังกฤษและอเมริกา: ใช้เป็นยาขับลม และแต่งกลิ่นยาเตรียมหลายชนิด และมีการนำผลกระวานเทศมาผสมกับขิง ผงกานพลู และเทียนตากบ ใช้เป็นยาธาตุขับลม แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ
ในประเทศจีนและอินเดีย: ใช้เป็นยาขับลม และรักษาอาการผิดปกติของทางเดินปัสสาวะ
รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
ไม่มีข้อมูล
องค์ประกอบทางเคมี:
ผลกระวานเทศแห้งให้น้ำมันหอมระเหย (essential oil) ประมาณ 3.5-7% โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในเมล็ด มีลักษณะเป็นน้ำมันสีเหลืองอ่อน องค์ประกอบส่วนใหญ่เป็น 1,8 cineol (20-60%) และ alpha-terpinyl acetate (20-53%), beta-pinene, linalool, sabinene, limonene, aipha-terpineol, alpha-pinene, terpinen-4-ol, linalyl acetate, geranyl acetate, geraniol, myrcene, nerolidol, nerol, beta-caryophyllene
การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
น้ำมันจากเมล็ด ลดอาการเกร็งของลำไส้หนู (แยกลำไส้หนูออกมาทดสอบภายนอก)
การทดสอบฤทธิ์การยับยั้งการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร พบว่าเมื่อเหนี่ยวนำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารหนู (rat) ด้วย เอทานอล พบว่า สารสกัดเมทานอล ในขนาด 500 มก./กก. ลดการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ 70% สารสกัดปิโตรเลียมอีเทอร์ในขนาด 50 และ 100 มก./กก. ลดการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ 50% เมื่อเหนี่ยวนำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารหนู ด้วย ยาแอสไพริน พบว่าสารสกัดปิโตรเลียมอีเทอร์ในขนาด 12.5 มก./กก. ลดการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ 100% และที่ขนาดมากกว่า 12.5 มก./กก. ออกฤทธิ์ได้ดีกว่ายามาตรฐาน รานิทิดีนที่ให้ในขนาด 50 มก./กก.
การศึกษาทางคลินิก:
ไม่มีข้อมูล
การศึกษาทางพิษวิทยา:
ทดสอบกับหนู (mouse) ให้หนูกินสารสกัดเอทานอลของเมล็ดกระวานเทศ ในขนาด 0.3 มก/กก. เป็นเวลา 7 วัน เริ่มเกิดอาการพิษ คือทำให้หนูมีน้ำหนักตัวลดลง