มะขามแขก

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

มะขามแขก

ชื่อเครื่องยา มะขามแขก
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา
ได้จาก ใบ ฝัก
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา มะขามแขก
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cassia acutifolia Del. (Cassia senna L. Senna alexandrina P. Miller) C. angustifolia Vahl.
ชื่อพ้อง
ชื่อวงศ์ Caesalpiniaceae

ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
           ใบแห้งของมะขามแขกชนิด C. angustifolia มีสีเขียวอมน้ำตาล ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ใบย่อยรูปวงรี หรือรูปใบหอก กว้าง 1.0-1.5 ซม.ยาว 2.5-5.0 ซม. มีขอบใบเรียบ ปลายและโคนใบแหลม โคนใบทั้งสองไม่เท่ากัน และมีขนนุ่มปกคลุม ส่วนใบแห้งของมะขามแขกชนิด C. acutifolia มีรูปร่างป้อมและสั้นกว่าชนิดแรก โดยยาวไม่เกิน 4 ซม. และมักพบใบหักมากกว่าชนิดแรก ใบมะขามแขก มีกลิ่นเหม็นเขียว รสเปรี้ยว หวาน ชุ่ม

 

เครื่องยา ใบมะขามแขก

 

เครื่องยา ใบมะขามแขก

 

เครื่องยา ใบ และ ฝัก มะขามแขก

 

เครื่องยา  ฝักมะขามแขก

 

 

เครื่องยา  ฝักมะขามแขก


ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
              ปริมาณสิ่งแปลกปลอมไม่เกิน 5% w/w, ปริมาณความชื้นไม่เกิน 12% w/w, ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 12% w/w, ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรดไม่เกิน 2% w/wใบมีปริมาณสาร sennosides รวม ไม่น้อยกว่า 1% (sennoside A และ sennoside B) (เภสัชตำรับเกาหลี)         

             ใบมีไฮดรอกซีแอนทราซีน กลัยโคไซด์ ไม่น้อยกว่า 2.5% และฝักไม่น้อยกว่า 2.2% (WHO)

สรรพคุณ:
           ตำรายาไทย: เป็นยาระบายท้อง แก้ท้องผูก ขับลมในลำไส้ ทำให้อาเจียน ถ่ายพิษอุจจาระเป็นมูก ถ่ายน้ำเหลือง ถ่ายพิษไข้ ถ่ายโรคบุรุษ ถ่ายพยาธิ แก้ริดสีดวงทวาร ใบทำให้ไซ้ท้องมากกว่าฝัก ควรใช้ร่วมกับตัวยาขับลม เช่นกระวาน หรือกานพลู เป็นต้น เหมาะกับคนที่กำลังน้อย หรือเด็ก และคนที่เป็นริดสีดวงทวาร

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
           ใช้แก้อาการท้องผูกใช้ ใบแห้งวันละ 3-10 กรัม (1-2 ? กำมือ) ต้มกับน้ำดื่ม หรือบดเป็นผงชงน้ำดื่ม หรือฝัก 4-5 ฝัก ต้มกับน้ำจำนวนพอเหมาะ ดื่มก่อนนอน

องค์ประกอบทางเคมี:
           ใบ และฝัก มีสารกลุ่มไฮดรอกซีแอนทราซีน กลัยโคไซด์ ได้แก่ sennoside A, B, C, และ D , rhein, aloe emodin, emodin

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
           ช่วยขับถ่ายอุจจาระ ต้านการก่อกลายพันธุ์ ต้านเชื้อแบคทีเรีย  

การศึกษาทางคลินิก:
           ช่วยขับถ่ายอุจจาระในผู้ป่วยท้องผูกได้

การศึกษาทางพิษวิทยา:
           การทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลัน สารสกัด 50% เอทานอลจากส่วนเหนือดิน เมื่อฉีดเข้าช่องท้องหนูถีบจักรมีค่า LD50 เท่ากับ 681 มก./กก. นน.ตัว สารสกัด 95% เอทานอล ส่วนเหนือดินเมื่อฉีดเข้าช่องท้องหนูถีบจักรมีค่า LD50 เท่ากับ 500 มก/กก. นน.ตัว ไม่ปรากฏพิษ

ข้อควรระวัง:  
           1.อาจทำเกิดอาการไซ้ท้อง (ปวดมวนท้อง)
           2.ควรใช้รักษาอาการท้องผูกเป็นครั้งคราว ในระยะเวลาสั้นๆ เพราะถ้าใช้ติดต่อกันนานจะทำให้ลำไส้ชินต่อยา ต้องใช้ยาตลอดจึงจะถ่ายได้ จึงควรแก้ไขที่ต้นเหตุ เช่น รับประทานผักหรืออาหารมีกากใย ดื่มน้ำเพียงพอ ออกกำลังกาย ขับถ่ายให้เป็นเวลา ใช้ยาเท่าที่จำเป็น และไม่ควรใช้ติดต่อกันเกินกว่า 2 สัปดาห์
           3.การใช้ยาติดต่อกันนานอาจทำให้ระดับอีเลคโตรไลต์ในเลือดต่ำ ร่างกายสูญเสียโปแตสเซียม เลือดมีภาวะเป็นกรดหรือด่าง การดูดซึมผิดปกติ น้ำหนักลด ทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย ความดันโลหิตต่ำในผู้สูงอายุและอาจทำลายเซลล์ประสาทในลำไส้
           4. ห้ามใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี สตรีตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร สตรีมีประจำเดือน ผู้ป่วยที่เป็นโรคอุดตันในทางเดินอาหารและโรคลำไส้ใหญ่ส่วนล่างอักเสบ

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 109
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่