มะนาว

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

มะนาว

ชื่อเครื่องยา มะนาว
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา
ได้จาก เปลือกผล น้ำในผล เมล็ด
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา มะนาว
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา) ส้มมะนาว(ภาคกลาง) ส้มนาว(ภาคใต้) โกรยซะม้า(เขมร-สุรินทร์) หมากฟ้า(ไทยใหญ่-แม่ฮ่องสอน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Citrus aurantiifolia (Christm.) Swingle
ชื่อพ้อง Citrus × acida Pers., C. × davaoensis (Wester) Yu.Tanaka, C. depressa var. voangasay Bory, C. × excelsa Wester, C. hystrix subsp. acida Engl., C. × javanica Blume, C. × lima Macfad., C. × limettioides Yu.Tanaka, C. × limonellus Hassk., C. × macrophylla Wester, C. medica var. acida Brandis, C. medica f. aurantiifolium (Christm.) M.Hiroe, C. × montana (Wester) Yu.Tanaka, C. × nipis Michel, C. × notissima Blanco, C. × papaya Hassk., C. × pseudolimonum Wester, C. × spinosissima G.Mey., C. × voangasay (Bory) Bojer, C. × webberi var. montana Wester, Limonia × aurantiifolia Christm.
ชื่อวงศ์ Rutaceae

ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
           ผลกลม สด ฉ่ำน้ำ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3.5-5 ซม. เปลือกบาง เรียบ สีเขียวเป็นมัน  มีต่อมน้ำมันกระจายทั่วไปที่ผิวผล  เมื่อสุกสีเหลือง ภายในผลแบ่งเป็นห้องแบบรัศมีมีถุงเป็นเยื่อบาง ๆ รูปยาวเรียวขนาดเล็กจำนวนมาก ภายในมีน้ำรสเปรี้ยวบรรจุอยู่ เมล็ดกลมรี สีขาว มีหลายเมล็ด น้ำจากผลมะนาวที่โตเต็มที่  มีรสเปรี้ยวจัด เปลือกผลมีรสขม

 

เครื่องยา ผิวมะนาว

 

ผลมะนาว

 

 


ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
           ไม่มีข้อมูล
 
สรรพคุณ:
           ตำรายาไทย: น้ำมะนาว มีรสเปรี้ยว ช่วยลดอาการไอ  ขับเสมหะ เนื่องจากในน้ำมะนาวมีกรดอินทรีย์หลายชนิด  มีรสเปรี้ยวกระตุ้นให้มีการขับน้ำลาย  ทำให้ชุ่มคอ  จึงช่วยลดอาการไอได้  และรสเปรี้ยวยังช่วยกัดเสมหะให้หลุดออกมาด้วย ใช้เป็นน้ำกระสายยาผสมยากวาดคอเด็กแก้ไข้หวัด  น้ำมะนาวนำมาผสมกับเกลือและน้ำตาลทรายแดง จิบเป็นยาแก้ไอ ขับเสมหะ กินเป็นยาฟอกเลือด แก้เลือดออกตามไรฟัน กัดเถาดานในท้อง ล้างเสมหะในคอ ทำให้ผิวนุ่มนวล แก้ซาง บำรุงเสียง ขับระดู แก้เล็บขบ แก้ขาลาย ดับกลิ่นเหล้า กลิ่นรักแร้ ฆ่าพยาธิในท้อง รักษาผม ขับลม รักษาลมพิษ แก้ริดสีดวง แก้ระดูขาว แก้พิษยางน่อง เป็นยาบำรุง แก้น้ำกัดเท้า แก้สิวฝ้า ใส่แผลสดห้ามเลือด ป้องกันการเป็นหวัด ทำเครื่องดื่มสมุนไพร ทำให้ชุ่มคอ ชื่นใจ ช่วยระบาย นอกจากสรรพคุณทางโภชนาการ ยังสามารถใช้อย่างอื่นๆ เช่น คั้นเอาน้ำชโลมหลังจากสระผมด้วยแชมพู ทำให้ผมดำสลวยเป็นเงางามแล้ว หากผ่าซีก ถูใบหน้า ลำคอเบาๆทิ้งไว้ 15 นาที แล้วล้างออก เมื่อทำบ่อยๆ จะทำให้ใบหน้าอ่อนนุ่ม สดใส และป้องกันสิว ผลสดคั้นเอาน้ำทาบริเวณถูกแมงป่องต่อยหรือตะขาบกัดจะลดอาการอักเสบของแผล  ผิวผล สีเขียวสด ลดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด แก้ลมเวียน แก้ปวดท้อง จุกเสียดแน่น เป็นยาขับเสมหะ แก้เบื่ออาหาร  ทาแก้ผิวแห้งตกสะเก็ด แก้สิวฝ้า แก้ส้นเท้าแตก แก้ไอ รักษาแผลจากแมลงมีพิษ  น้ำมันระเหยง่ายจากผิวผลมะนาว ใช้แต่งกลิ่น เป็นยาขับลมในกระเพาะอาหาร เป็นยากระตุ้น ผิวผลสดใช้ขยี้สูดดม ลดอาการคลื่นไส้ อาเจียน เป็นลม ผลดองเกลือ จนเป็นสีน้ำตาล ใช้เป็นยาขับเสมหะ ทำให้ชุ่มคอ
           ตำรายาไทยผิวมะนาวจัดอยู่ใน “เปลือกส้ม 8 ประการ” ประกอบด้วย ผิวส้มเขียวหวาน ผิวส้มจีน ผิวส้มซ่า ผิวส้มโอ ผิวส้มตรังกานู ผิวมะงั่ว ผิวมะกรูด และผิวมะนาว (หรือผิวส้มโอมือ) มีสรรพคุณแก้ลมกองละเอียด กองหยาบ แก้เสมหะโลหะ ใช้ปรุงยาหอม แก้ทางลม
           นอกจากนี้บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา ปรากฏการใช้ผิวมะนาว ในยารักษาอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) ปรากฏตำรับ”ยาหอมเทพจิตร” มีส่วนประกอบของผิวมะนาว อยู่ใน ”เปลือกส้ม 8 ประการ” ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณในการแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
           อาการไอ  ระคายคอจากเสมหะ      
                   ใช้น้ำจากผลที่โตเต็มที่  เติมเกลือเล็กน้อย  จิบบ่อย ๆ หรือ จะทำน้ำมะนาวเติมเกลือและน้ำตาลเล็กน้อย
           อาการท้องอืดท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด       
                   ใช้เปลือกผลสด 1/2-1 ผล ฝานเป็นชิ้นเล็ก ๆ บาง ๆ ชงด้วยน้ำเดือด ปิดฝาทิ้งไว้ 5-10 นาที ดื่มแต่น้ำขณะมีอาการ หรือหลังอาหาร 3 เวลา

องค์ประกอบทางเคมี:
           น้ำจากผลมีกรด citric acid, malic acid, ascorbic acid,  ผิวมะนาวมีน้ำมันหอมระเหยที่มาจากการกลั่นผิวผล ร้อยละ 0.3-0.4 ประกอบด้วยสารต่าง ๆ ได้แก่  d-limonene (42-64%), alpha-berpineol (6.81%), bergamotene ผสมกับ terpinen-4-ol (3%),  alpha-pinene (1.69%), geraniol (0.31%), linalool, terpineol, camphene, bergapten (furanocoumarin)

           เมล็ดมะนาว พบองค์ประกอบทางเคมี ได้แก่ limonin, limonexic acid, isolimonexic acid, β-sitosterol glucoside, limonin glucoside

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:    

ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ

      การศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดเมทานอลจากผิวผล และใบมะนาว ใช้การทดสอบในหลอดทดลองด้วยวิธีทางเคมี ในการต้านอนุมูลอิสระ DPPH (1,1-diphenyl-2-picrylhydrazyl) radical scavenging assay และ ABTS•+ ( 2,2'-azino-bis(3-ethylbenzothiazoline-6-sulfonic acid) radical cation, วิธี β-carotene bleaching test (เพื่อดูการปกป้อง β-carotene จากอนุมูล linoleate ของสารทดสอบซึ่งแสดงถึงการยับยั้งการเกิดออกซิเดชันของไขมันได้) และ วิธี ferric reducing ability power assay (FRAP) เพื่อศึกษาสมบัติในการรีดิวส์ของสารต้านอนุมูลอิสระ ผลการทดสอบด้วยวิธี DPPH พบว่าสารสกัดเมทานอลจากใบมะนาว และผิวผลมะนาวจาก 3 แหล่งในประเทศอิตาลี สามารถยับยั้งอนุมูลอิสระ DPPH โดยมีค่า IC50 ของสารสกัดใบ และผิวผลอยู่ระหว่าง 75.4±1.5 ถึง 89.7±2.7 และ 78.3±1.8 ถึง 93.8±2.5 µg/mL ตามลำดับ การทดสอบด้วยวิธี ABTS assay พบว่าการสกัดใบ และผิวผลมะนาวด้วยเมทานอล มีค่าการยับยั้งอนุมูลอิสระ ABTS โดยมีค่า IC50 อยู่ระหว่าง 21.9±1.8 ถึง 28.8±2.5 และ 18.7±1.1 ถึง 41.4±1.5 µg/mL ตามลำดับ (สารมาตรฐาน ascorbic acid มีค่า IC50 ในการยับยั้ง DPPH และ ABTS เท่ากับ 5.0±0.8 และ 0.96±0.03 µg/mL ตามลำดับ)  การทดสอบด้วยวิธี β-carotene bleaching test พบว่าสารสกัดที่ออกฤทธิ์ดีคือ สารสกัดใบด้วยเฮกเซน และสารสกัดผิวผลด้วยเฮกเซน โดยสามารถยับยั้งการการฟอกจางสี β-carotene  ที่เวลา 30 นาที (แสดงถึงการมีฤทธิ์ปกป้อง β-carotene จากการทำลายของอนุมูลอิสระได้) มีค่า IC50 อยู่ระหว่าง 8.5±0.5 ถึง 15.4±0.9 และ 9.7±0.7 ถึง 12.7±0.4 µg/mLตามลำดับ (สารมาตรฐาน propyl gallate มีค่า IC50 เท่ากับ 1.0±0.04µg/mL)  การทดสอบด้วยวิธี FRAP (การ reduce Fe3+เป็น Fe2+)  พบว่าสารสกัดเฮกเซนออกฤทธิ์ได้ดีกว่า โดยสารสกัดเฮกเซนจากผิวผลและใบ, สารสกัดเมทานอลจากผิวผลและใบ และสารมาตรฐาน BHT มีปริมาณของ Fe2+ ที่เกิดจากการรีดิวส์อยู่ในช่วง 159.2±3.8 ถึง 205.4±4.0, 112.1±2.2 ถึง 146.0±3.5 และ 63.2±4.5 µg/mL ตามลำดับ (Loizzo, et al., 2012)  โดยสรุปสารสกัดเมทานอลจากใบ และผิวผลมะนาวมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในทุกการทดสอบ

ฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์โคลีนเอสเตอเรส

      ศึกษาฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์โคลีนเอสเทอเรส (ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ทำลายสารสื่อประสาท acethylcholine ในสมอง ที่เกี่ยวข้องกับความจำ เอนไซม์นี้ มี 2 ชนิดหลัก คือ AChE และ BChE  โดย BChE จะพบมากในระยะท้ายของโรคอัลไซเมอร์ การยับยั้งเอนไซม์โคลีนเอสเทอเรส  จะทำให้ระบบที่เกี่ยวข้องกับความจำในสมองดีขึ้น และเป็นเป้าหมายในการรักษาโรคความจำเสื่อมอัลไซเมอร์) ทำการทดสอบในหลอดทดลองด้วยวิธีทางเคมี คือ Ellman’s method ผลการทดสอบการยับยั้ง AChE พบว่าสารสกัดเฮกเซนจากผิวผลออกฤทธิ์ได้ดีที่สุดโดยมีค่า IC50 เท่ากับ 91.4±1.4 µg/mL การยับยั้ง BChE พบว่าสารสกัดเฮกเซนจากใบออกฤทธิ์ได้ดีที่สุดโดยมีค่า IC50 เท่ากับ 84.0±2.9 µg/mL (สารมาตรฐาน physostigmine มีค่า IC50ในการยับยั้ง AChE และ BChE เท่ากับ 0.2±0.02 และ 2.4±0.04 µg/mLตามลำดับ) (Loizzo, et al., 2012)  

ฤทธิ์ยับยั้งมะเร็งลำไส้ใหญ่

      รายงานการศึกษาองค์ประกอบทางเคมี จากผิวผลมะนาวพบว่ามีน้ำมันหอมระเหยอย่างน้อย 22 ชนิด โดยมีองค์ประกอบหลัก คือ limonene (30%) และ dihydrocarvone (31%)  ทดสอบสารสกัดจากมะนาวขนาด 100 µg/ml พบว่าสามารถยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ SW-480 ได้ร้อยละ 78 ภายหลังจาก 48 ชั่วโมง ที่สัมผัสกับสารทดสอบ และทำให้ DNA แตกหักเสียหาย จากการศึกษาต่อเนื่องได้ค้นพบสารกลุ่มคูมาริน จำนวน 3 ชนิด ได้แก่ 5-geranyloxy-7-methoxycoumarin, limettin และ isopimpinellin เมื่อทดสอบในขนาด 25 μM พบว่าสามารถยับยั้งเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ SW-480 ได้ร้อยละ 67 ภายหลังจาก 72 ชั่วโมง ที่สัมผัสกับสารทดสอบ (Narang and Jiraungkoorskul, 2016)

ฤทธิ์ยับยั้งมะเร็งตับอ่อน

       รายงานการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีในน้ำมะนาว พบว่ามี rutin, neohesperidin, hesperidin, hesperetin และสารกลุ่ม limonoid ได้แก่ limonexic acid, isolimonexic acid และ limonin การทดสอบน้ำมะนาวในขนาด 100 µg/ml พบว่าสามารถยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งตับอ่อน Panc-28 cancer ได้ร้อยละ 73-89 ภายหลังจาก 96 ชั่วโมงที่สัมผัสกับสารทดสอบ  จากการศึกษาต่อเนื่องได้ค้นพบองค์ประกอบทางเคมีจากเมล็ดมะนาว ได้แก่ limonin, limonexic acid, isolimonexic acid, β-sitosterol glucoside และ limonin glucoside การทดสอบสารที่แยกได้จากมะนาวพบว่าสามารถยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งตับอ่อน Panc-28 โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 18–42µMภายหลังจาก 72 ชั่วโมง ที่สัมผัสกับสารทดสอบ (Narang and Jiraungkoorskul, 2016)

ฤทธิ์ยับยั้งมะเร็งเต้านม

       รายงานการศึกษาน้ำมะนาวในขนาดความเข้มข้น 125–500 µg/ml พบว่าสามารถยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งเต้านม MDA-MB-453 ได้ ภายหลังจาก 24 ชั่วโมง ที่สัมผัสกับสารทดสอบ  การศึกษาสารสกัดจากผิวมะนาว ขนาด 6 และ 15 µg/ml พบว่าสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเต้านม MCF-7 ในระยะ G1 และ G2/M ได้ภายหลังจาก 48 ชั่วโมงที่สัมผัสกับสารทดสอบ (Narang and Jiraungkoorskul, 2016)

ฤทธิ์ต้านมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

        มีรายงานว่าสาร limonin ที่แยกได้จากเมล็ดมะนาวสามารถยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งต่อมน้ำเหลือง L5178Y lymphoma cells ได้ โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 8.5–9.0 µg/ml (Narang and Jiraungkoorskul, 2016)

ฤทธิ์ต้านเชื้อกลุ่มสแตปฟิโลคอคไคที่แยกได้จากสุนัข

       การศึกษาฤทธิ์ของน้ำมะนาว และน้ำมะกรูด ต่อเชื้อกลุ่มสแตปฟิโลคอคไค ที่ให้ผลบวกต่อการทดสอบ โคแอคกุเลสที่เป็นสาเหตุสำคัญในการก่อโรคผิวหนังอักเสบในสุนัข จำนวน 15 ไอโซเลต (isolates) โดยมี S. aureus ATCC 25923 สายพันธุ์มาตรฐานเป็นเชื้อควบคุม ทำการทดสอบควบคู่ไปด้วยโดยวิธีเจือจางในอาหารเหลว ใน 96 wellU-shape plate ผลการทดสอบพบว่าน้ำมะนาว และน้ำมะกรูด มีค่าความเข้มข้นต่ำสุดในการยับยั้งเชื้อในกลุ่มนี้ อยู่ที่1.60 % (v/v) และ 1.34-1.74 % (v/v) ตามลำดับ ส่วนความเข้มข้นต่ำสุดในการฆ่าเชื้อนี้ อยู่ที่ 1.87-3.33 % (v/v) และ 3.10 % (v/v) ตามลำดับ จากการศึกษาสรุปได้ว่าน้ำมะนาว และน้ำมะกรูดมีฤทธิ์ในการยับยั้ง และฆ่าเชื้อสแตปฟิโลคอคไค ที่ให้ผลบวกต่อการทดสอบโคแอคกุเลสจากการทดสอบในหลอดทดลอง  (โคแอคกุเลส เป็นน้ำย่อยที่เชื้อกลุ่มสแตปฟิโลคอคไคสร้างขึ้น ทำให้พลาสมาของคนหรือสัตว์ เกิดการตกตะกอน ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ใช้กำหนดว่าเชื้อสเตรนใดที่เป็นตัวก่อโรค) ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะนำไปพิจารณาเป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ทางการค้า ที่ใช้สำหรับสัตว์ต่อไป เพื่อลดการติดเชื้อทางผิวหนัง อย่างไรก็ตาม ควรมีการทดลองในการใช้กับสัตว์โดยตรงก่อน เพื่อศึกษาผลข้างเคียงอื่นๆ ที่มีผลกระทบต่อการยับยั้งเชื้อ และผลต่อตัวสัตว์ (พิทยา และคณะ, 2551)

การศึกษาทางคลินิก:
           ไม่มีข้อมูล

การศึกษาทางพิษวิทยา:
           การใช้น้ำมันหอมระเหยกับผิวหนังในปริมาณที่มากกว่า 0.7% ต้องหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสง เนื่องจากน้ำมันที่ได้จากการบีบผิวผล อาจทำให้เกิดพิษเมื่อสัมผัสกับแสงได้ และเกิดมีสารสีเกินที่ผิวหนัง บริเวณใบหน้า และลำคอ เพราะมีสาร furanocoumarin แต่น้ำมันจากผิวผลที่ได้จากการกลั่นไม่มีสารนี้

 

เอกสารอ้างอิง:

1. พิทยา ภาภิรมย์, อรุณี บุตรตาสี, วชิราภรณ์ กัมปนาวราวรรณ. ฤทธิ์ของน้ำมะนาว และน้ำมะกรูดต่อเชื้อสแตปฟิโลคอคไค ที่ให้ผลบวกต่อการทดสอบโคแอคกุเลส ที่แยกได้จากสุนัข. วารสารวิจัย มข. 2551;13(7):866-872.

2. Loizzo MR, Tundis R, Bonesi M, Menichini F, Luca D, Colica C, et al. Evaluation of Citrus aurantifolia peel and leaves extracts for their chemical composition, antioxidant and anti-cholinesterase activities. J Sci Food Agric. 2012;92(15):2960-2967.

3. Narang N, Jiraungkoorskul W. Anticancer activity of key lime, Citrus aurantifolia. Pharmacogn Rev. 2016;10(20):118-122.

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 130
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่