มะลิ
ชื่อเครื่องยา | มะลิ |
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา | |
ได้จาก | ดอกมะลิลา |
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา | มะลิลา |
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา) | |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Jasminum sambac Ait. |
ชื่อพ้อง | |
ชื่อวงศ์ | Oleaceae |
ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
ดอกแห้งสีน้ำตาล กลีบดอกเป็นหลอดยาว 1-2 เซนติเมตร ปลายแยกเป็น 5-8 กลีบ เกสรตัวผู้มี 2 อัน กลิ่นหอมเย็น มีกลิ่นเฉพาะตัว รสขม
เครื่องยา ดอกมะลิลา
เครื่องยา ดอกมะลิลา
ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
ไม่มีข้อมูล
สรรพคุณ:
ตำรายาไทย “ดอกมะลิ” จัดเป็นยาในพิกัดเกสร ทั้ง 5, ทั้ง 7 และทั้ง 9 แต่ใช้ทั้งดอก เมื่อพิจารณาจากรสของยา ดอกมะลิถูกจัดเป็น “ยารสหอมเย็น” จึงมีสรรพคุณบำรุงหัวใจ ทำให้ชื่นใจ แก้อ่อนเพลีย ชูกำลัง แก้ร้อนในกระหายน้ำ แต่อย่าใช้มากเกินไป เพราะจะแสลงกับโรคลมจุกเสียด แน่น ดอกมะลิลา มีสรรพคุณ ที่ระบุในตำรายาไทย ใช้บำรุงหัวใจ ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ ทำจิตใจให้ชุ่มชื่น บำรุงครรภ์รักษา แก้ร้อนใน กระหายน้ำ แก้เจ็บตา เนื่องจากมีรสฝาดสมาน จึงช่วยสมานท้อง แก้บิด แก้ปวดท้อง แก้แผลเรื้อรัง ผิวหนังเป็นผื่นคัน น้ำแช่ดอกสดบำรุงหัวใจให้ชุ่มชื่น นำดอกสดตำใส่พิมเสน สุมหัวเด็กแก้ซาง แก้ตัวร้อน แก้หวัด ในตำรายาไทย มีการนำดอกมะลิ ผสมเข้าในตำรับยาหอม ที่มีสรรพคุณบำรุงหัวใจ ทำจิตใจให้ชุ่มชื่น แก้ลมวิงเวียน ตัวอย่างเช่น ยาหอมเทพจิตร ยาหอมนวโกฐ ยาหอมทิพโอสถ และยาหอมอินทจักร์ ซึ่งมีส่วนประกอบหลักเป็นดอกมะลิ
ทางสุคนธบำบัด น้ำมันหอมระเหยจากดอกมะลิ ใช้ในการกระตุ้นระบบประสาทสำหรับผู้ที่มีภาวะอ่อนล้าทางจิตใจ ง่วง เฉื่อยชา อ่อนเพลีย ช่วยปรับอารมณ์และสภาพสมดุลของจิตใจให้ดีขึ้น บรรเทาอาการปวดศีรษะในผู้ที่มีความเครียด ความกลัว บรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ
รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
บำรุงหัวใจให้ชุ่มชื่น ใช้ดอกแห้ง 1.5 – 3 กรัม ต้มน้ำ หรือชงน้ำร้อนดื่ม
องค์ประกอบทางเคมี:
ดอกมะลิสดมีน้ำมันหอมระเหยประมาณร้อยละ 0.2-0.3 จากการศึกษาด้วยวิธี GC-MS พบว่าน้ำมันระเหยง่าย ที่พบในดอก มีมากกว่า 40 ชนิด แต่สารที่ทำให้มะลิลามีกลิ่นเฉพาะคือ linalool ซึ่งเป็นชนิด R-(-)isomer และ methyl anthranilate ขณะที่ ดอกมะลิชนิด J. grandiflorum L.(ในไทยเรียก “สถาน” หรือ “จะขาน”) ซึ่งใช้ผลิตเป็นน้ำหอมหลัก ในอัลจีเรีย มอรอคโค และอิตาลี linalool จะเป็นชนิด S-(-) isomer จึงทำให้มะลิต่างสายพันธุ์มีกลิ่นที่แตกต่างกันไป ตัวอย่างสารที่เป็นองค์ประกอบในน้ำมันหอมระเหยจากดอกมะลิลา เช่น benzyl alcohol, benzyl acetate, jasmine lactone, methyl jasmonte, geraniol, jasmine, jasmone, methyl benzoate, caryophyllene, cadinene, hexenyl benzoate เป็นต้น แต่ถ้านำดอกมะลิแห้งมาสกัดด้วยเมทานอล จะพบองค์ประกอบเป็นสารกลุ่ม irridoid glycoside ชนิด dimeric irridoid glycoside เช่น molihuaside A, C, D, E ชนิด trimeric irridoid glycoside เช่น molihuaside B, sambacoside A สารกลุ่มฟลาโวนอยด์ที่พบ ได้แก่ rutin, kaempferol, quercetin นอกจากนี้ยังพบสารกลุ่ม indole อีกด้วย
ใบ และลำต้นของมะลิลา มีรายงานพบสารสำคัญหลายกลุ่ม เช่น triterpenoid, flavonoid, irridoid glycoside เช่น sambacin, jasminin, quercetin, isoquercetin, rutin, kaempferol-3-rhamnooglycoside, linalool, sambacoside A, E, F, methyl benzoate, benzyl acetate, methyl salicylate, myrcene, d-fenchene, limonene, cis-linalool oxide, trans-3-hexenyl butyrate
การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
ฤทธิ์ขยายหลอดเลือดโคโรนารี และกระตุ้นหัวใจ (coronary vasodilating and cardiotropic activities) : สาร jasmolactone B และ D ที่แยกได้จากดอกมะลิพวงออกฤทธิ์ดังกล่าว จึงอาจสนับสนุนการใช้ดอกมะลิในตำรับยาหอม ซึ่งเป็นตำรับยาพื้นบ้าน ในการรักษาอาการเป็นลม วิงเวียน ที่มีการใช้ในยาไทยมาแต่โบราณ
ฤทธิ์กระตุ้นประสาท : จากการทดสอบกับหนูพบว่า น้ำมันหอมระเหยจากดอกมะลิลา ช่วยทำให้ระยะเวลาการหลับของยา pentobarbital สั้นลง โดยการกระตุ้นประสาทสัมผัสกลิ่น และสารสำคัญคือ phytol
ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus sanguinis ที่เป็นสาเหตุให้เกิดฟันผุ : พบว่าสารสกัด เมทานอล จากดอกมะลิลาแห้ง มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อดังกล่าว โดยมีค่าความเข้มข้นต่ำสุดในการยับยั้งเชื้อ (MIC) เท่ากับ 1 mg/ml ดังนั้นสารสกัดจากดอกมะลิจึงมีผลต่อสุขภาพในช่องปาก
ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย Pseudomonas aeruginosa และเชื้อรา Aspergillus niger : พบว่าสาร caryophyllene oxide, benzyl benzoate, farnesyl acetate, methyl isoeugenol จากดอกมะลิลาออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อดังกล่าว
ฤทธิ์กระตุ้นความรู้สึกทางเพศ : จากการทดสอบตำรับยาที่มีน้ำมันหอมระเหยอยู่ในตำรับ 3-20% (โดยมีน้ำมันหอมระเหยจากมะลิ คิดเป็น 50-90%) มีฤทธิ์กระตุ้นความรู้สึกทางเพศ
ฤทธิ์สงบประสาท และทำให้นอนหลับ: น้ำคั้นจากรากสดมะลิลา 1-8 กรัม ต่อน้ำหนักสัตว์ 1 กิโลกรัม เมื่อฉีดเข้าช่องท้อง หนู กระต่าย และสุนัข มีผลในการสงบประสาท ทำให้สัตว์เคลื่อนไหวน้อยลง และทำให้นอนหลับ ในปริมาณต่างกัน จึงควรระมัดระวังในการใช้ เพราะการใช้มากเกินไปจะทำให้สลบได้
ฤทธิ์ไล่หมัด : น้ำมันหอมระเหยจากดอกมะลิลา มีฤทธิ์ไล่หมัดได้ดีกว่าสารเคมี diethyltoluamide
การศึกษาทางคลินิก:
กลิ่นจากชามะลิ ซึ่งมีสารสำคัญคือ (R)-(-)-linalool ช่วยทำให้สงบในอาสาสมัคร 24 คน
การศึกษาทางพิษวิทยา:
สารสกัดดอกมะลิลา ด้วยน้ำ และอัลกอฮอล์ (1:1) ในขนาดเทียบเท่าผงยา 10 กรัม / กิโลกรัม ไม่เป็นพิษต่อหนูถีบจักร ไม่ว่าจะให้โดยการป้อน หรือฉีดเข้าใต้ผิวหนัง สารสกัดส่วนเหนือดินด้วยน้ำและอัลกอฮอล์ (1:1) เมื่อฉีดเข้าช่องท้องหนูถีบจักร ขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่งคือ 1 กรัม / กิโลกรัม