มังคุด

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

มังคุด

ชื่อเครื่องยา มังคุด
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา
ได้จาก เปลือกผลแก่ ยางจากผล
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา มังคุด
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Garcinia mangostana Linn.
ชื่อพ้อง
ชื่อวงศ์ Guttiferae

ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
           ผลกลมแป้น ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.5-2.5 นิ้ว พื้นผิวเปลือกเรียบเกลี้ยง เปลือกหนาแข็ง เมื่อแก่มีสีม่วงอมน้ำตาล ที่ปลายผลมียอดเกสรเพศเมียติดอยู่ แยกเป็น 4-7 แฉก ที่ขั้วผลมีกลีบเลี้ยง 4 กลีบติดอยู่ บริเวณใต้ผิวผลมีต่อมของน้ำยางอยู่มาก เปลือกผล มีรสฝาด ยางจากผลมีสีเหลือง มีรสฝาด

 

เครื่องยา เปลือกมังคุด

 

เครื่องยา ยางจากผลมังคุด

 

เครื่องยา เปลือกมังคุด

 

ผลมังคุด

 


ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
           ไม่มีข้อมูล
 
สรรพคุณ:
           ตำรายาไทย: เปลือกผล รสฝาด บดเป็นผง ต้ม หรือชงรับประทาน แก้อาการท้องเสีย ท้องเดินเรื้อรัง และโรคเกี่ยวกับลำไส้ ออกฤทธิ์เป็นยาฝาดสมาน แก้บิดมูกเลือด แก้ไข้ท้องเสีย แก้บิด รักษาทางเดินปัสสาวะอักเสบเรื้อรัง ฝนกับน้ำปูนใส ทาแผลเน่าเปื่อยพุพอง แผลมีหนอง สมานแผลสด ทาแก้หิดและโรคผิวหนัง ต้มชะล้าง บาดแผล รักษาแผลที่เป็นหนองและสิวที่เกิดจากการติดเชื้อ ลดการอักเสบและลดรอยด่างดำบนใบหน้า น้ำต้มเปลือกผล ใช้เป็นยากลั้วคอ รักษาแผลในปากและชะล้างแผล ต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราจากโรคผิวหนัง ผสมในครีมรักษาผิว ยางจากผล รสฝาด รับประทาน แก้บิด ท้องร่วง ใส่แผลหนอง

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
           1.รักษาอาการท้องเสีย
           ใช้เปลือกผลแห้งครึ่งผล (4 กรัม) ต้มกับน้ำ ดื่มแต่น้ำ หรือใช้เปลือกผลแห้งย่างไฟให้เกรียม ฝนกับน้ำปูนใส 1/2 แก้ว รับประทานทุก ๆ 2 ชั่วโมง หรือบดเป็นผงละลายน้ำข้าว (น้ำข้าวเช็ด) หรือน้ำสุก รับประทานทุก 2 ชั่วโมง
           2.ชะล้างบาดแผล
           ใช้เปลือกผลสดหรือแห้ง 1-2 ผล สับเป็นชิ้นเล็กๆ ต้มกับน้ำ 1 ลิตร ให้เดือด ประมาณ 15 นาที เติมเกลือประมาณ 1 ช้อนชา ใช้ชะล้างบาดแผลเรื้อรัง แผลมีหนอง หรือใช้เปลือกผลฝนแต้มทารักษาแผล

องค์ประกอบทางเคมี:
           เปลือกมีรสฝาด  มีสาร  mangostin , tannin, tannic acid น้ำยาสีเหลืองจากผลเป็นสารกลุ่ม resin

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
           ต้านเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดหนอง ต้านเชื้อรา ลดการอักเสบ

การศึกษาทางคลินิก:
           ไม่มีข้อมูล

การศึกษาทางพิษวิทยา:
           ไม่มีข้อมูล

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 43
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่