ยอ

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ยอ

ชื่อเครื่องยา ยอ
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา ยอบ้าน
ได้จาก ผล
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา ยอ
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา) มะตาเสือ แยใหญ่ ยอบ้าน
ชื่อวิทยาศาสตร์ Morinda citrifolia Linn.
ชื่อพ้อง
ชื่อวงศ์ Rubiaceae

ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
           ผลรูปกลม หรือรูปทรงกระบอกมน ขนาด 3-10 ซม. เชื่อมติดกันเป็นผลรวม ผิวไม่เรียบ มีตาเป็นตุ่มๆ รอบผล ผลสดแก่สีขาวอมเขียว หรือออกเหลือง เมื่อแก่จัดมีสีขาวและมีกลิ่นเหม็นฉุน ภายในมีเมล็ดสีน้ำตาลเข้มจำนวนมาก ผลโตเต็มที่  มีรสขมเล็กน้อย   เอียน  รสเผ็ดร้อน ปร่า              

 

เครื่องยา ผลยอ

 

เครื่องยา ผลยอ

 

เครื่องยา ผลยอ

 


ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
           ไม่มีข้อมูล

สรรพคุณ:
           ตำรายาไทย: ผลมีรสเผ็ดร้อน ช่วยขับลมในลำไส้ ขับผายลม บำรุงธาตุ ทำให้เจริญอาหาร ผสมในยาแก้สะอึก อมแก้เหงือกเปื่อย เหงือกบวม ขับระดูเสีย ขับเลือดลม ฟอกเลือด ขับน้ำคาวปลา แก้เสียงแหบแห้ง แก้ตัวเย็น แก้ร้อนในอก แก้กระษัย แก้อาเจียน  โดยนำมาหมกไฟหรือต้มกับน้ำกิน หรือนำมาจิ้มกับน้ำผึ้งทาน ตำราสรรพคุณยาไทยกล่าวว่าผลอ่อนกินเป็นยาแก้คลื่นเหียนอาเจียน ผลสุกงอมเป็นยาขับระดูสตรี ผลดิบเผาเป็นถ่านผสมเกลือเล็กน้อย อมแก้เหงือกเปื่อยเป็นขุมบวม หั่นปิ้งไฟพอเหลืองทำกระสายยา เมล็ดเป็นยาระบาย
           ตำรายาไทยมีการใช้ ผลยอ ใน”พิกัดตรีผลสมุฎฐาน” คือการจำกัดจำนวนตัวยาที่มีผลเป็นที่ตั้ง 3 อย่าง มีผลมะตูม ผลยอ ผลผักชีลา สรรพคุณแก้สมุฎฐานแห่งตรีโทษ ขับลมต่างๆ แก้โรคไตพิการ

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
           แก้อาเจียนที่เกิดจากธาตุไม่ปกติ
           ใช้ผลดิบหรือห่าม(ยังไม่สุก) ฝานเป็นชิ้นบาง ๆ  ย่าง  หรือคั่วไฟอ่อน ๆ ให้เหลือง  ใช้ครั้งละ  2  กำมือ  น้ำหนักประมาณ  10-15  กรัม  ต้มหรือชงน้ำดื่มจิบแต่น้ำบ่อย ๆ ขณะที่มีอาการ  ถ้าดื่มครั้งละมาก ๆ จะทำให้อาเจียน

องค์ประกอบทางเคมี:
           ผลพบสาร Asperuloside ซึ่งออกฤทธิ์ลดอาการคลื่นไส้อาเจียน

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
           ไม่มีข้อมูล

การศึกษาทางคลินิก:
           ผู้ป่วยมาลาเรียดื่มน้ำผลยอ 30 มล. ทุก 2 ชม. ช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้ อาเจียนได้

การศึกษาทางพิษวิทยา:
           การทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดผลด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม และให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนู ในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตรวจไม่พบอาการเป็นพิษ 

           ผู้ป่วยโรคไตไม่ควรดื่มน้ำลูกยอ เพราะมีเกลือโปแตสเซียมสูง อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลันได้

           สตรีมีครรภ์ไม่ควรบริโภคลูกยอ เพราะผลยอมีฤทธิ์ขับโลหิต อาจทำให้แท้งบุตรได้

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 37
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่