รางจืด

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

รางจืด

ชื่อเครื่องยา รางจืด
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา
ได้จาก ใบ ราก เถา
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา) ยาเขียว เครือเขาเขียว กำลังช้างเผือก หนามแน่(เหนือ) ย่ำแย้(อุตรดิตถ์) น้ำนอง คาย(ยะลา) ดุเหว่า(ปัตตานี) รางเย็น ทิดพุด แอดแอ รางจืดเถา
ชื่อวิทยาศาสตร์ Thunbergia laurifolia L.
ชื่อพ้อง
ชื่อวงศ์ Thunbergiaceae

ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
           เถาที่มีอายุมากจะมีเนื้อแข็งขนาดกลาง เถามีเนื้อไม้ เถาอ่อนสีเขียว กลม เป็นข้อปล้อง เถาแก่สีน้ำตาล ใบรูปไข่ปลายเรียวแหลม ปลายใบแหลม หรือแหลมยาว โคนใบกลม ตัด รูปหัวใจหรือคล้ายลูกศร ขอบใบเรียบ จักซี่ฟันตื้นๆ ห่างๆ แผ่นใบเกลี้ยง เส้นโคนใบส่วนมากมี 5 เส้น เส้นแขนงใบย่อยแบบร่างแหเห็นชัดเจน ใบยาว 4-18 เซนติเมตร หลังใบผิวเรียบมัน สีเขียวเข้ม ท้องใบเรียบสีอ่อนกว่า เนื้อใบบาง ใบ ราก และเถา รสจืดเย็น

 

เครื่องยา เถารางจืด

 

เครื่องยา ใบรางจืด

 

เครื่องยา ใบรางจืด

 


ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
       ใบ  ปริมาณความชื้นไม่เกิน 9% w/w  ปริมาณสิ่งแปลกปลอมไม่เกิน 2% w/w  ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 23% w/w  ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรด ไม่เกิน 11% w/w  ปริมาณสารสกัดเอทานอล ไม่น้อยกว่า 5% w/w  สารสกัดน้ำ ไม่น้อยกว่า 14% w/w  
 
สรรพคุณ:
           ตำรายาไทย: ใบ ราก และเถา รสจืดเย็น ตำคั้น หรือเอารากฝนกับน้ำ หรือต้มเอาน้ำยาดื่มถอนพิษ แก้ไข้ ถอนพิษยาเบื่อเมา แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ประจำเดือนไม่ปกติ แก้ปวดหู ตำพอก แก้ปวดบวม เถาและใบ รับประทานแก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้พิษร้อนต่างๆ ราก รสจืดเย็น แก้อักเสบ แก้ปวดบวม แก้เมาค้าง แก้อาการปวดหัวมึนหัวอันเนื่องมาจากพิษสุรา ถอนพิษสุรา พิษตกค้างในร่างกาย ใช้รากเข้ายารักษาโรคอักเสบและปอดบวม รากและเถา ใช้กินเป็นยารักษาอาการร้อนในกระหายน้ำ รักษาพิษร้อนทั้งปวง ทั้งต้น รสจืดเย็น ถอนพิษยาเบื่อเมา หรือใช้ปรุงเป็นยาเขียว ถอนพิษไข้ ถอนพิษผิดสำแดง พิษเบื่อเมาเนื่องจากเห็ดพิษ สารหนู หรือยาฆ่าแมลง และพิษทั้งปวง  รักษาหอบหืดเรื้อรัง แก้ผื่นคันจากอาการแพ้ต่างๆ ปรุงยาแก้มะเร็ง หมอยาแผนไทยใช้เพื่อช่วยจับสารพิษในตับหรือล้างพิษในตับ
           สมุนไพรพื้นบ้านล้านนา: ใช้ ใบและราก ปรุงเป็นยาถอนพิษไข้ เป็นยาพอกบาดแผล น้ำร้อนลวก ไฟไหม้ ทำลายพิษยาฆ่าแมลง พิษจากสตริกนินให้เป็นกลาง พิษจากดื่มเหล้ามากเกินไป หรือยาเบื่อชนิดต่างๆ (ระบุว่ารากรางจืดมีตัวยามากกว่าใบ 4-7 เท่า))
           ตำรายาพื้นบ้านนครราชสีมา: ใช้ ใบ แก้โรคเบาหวาน โดยใช้ใบประมาณ 58 ใบ มาโขลกให้ละเอียดผสมกับน้ำซาวข้าวรับประทานครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3 เวลา
           ประเทศมาเลเซีย: ใช้ใบแก้ประจำเดือนผิดปกติ แก้ปวดบวม

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
           1.รับประทานครั้งละ 2-3 กรัม โดยชงกับน้ำร้อน 100-200 ซีซี วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหารหรือเมื่อมีอาการ
           2.นำใบรางจืดที่ไม่อ่อนหรือแก่เกินไปจำนวน 5-7 ใบ โขลกให้ละเอียดผสมกับน้ำดื่ม หรือน้ำซาวข้าว จำนวน 250 ซีซี หรือคั้นน้ำรางจืด ดื่มครั้งละ 1 แก้ว (250 ซีซี) วันละ 1 ครั้ง หรือรับประทานเมื่อมีอาการ
           3.นำรากที่มีอายุ 1 ปีขึ้นไป ขนาดรากเท่านิ้วก้อย ตัดความยาวเท่าที่มือจับ โขลกหรือฝนผสมกับน้ำสะอาด หรือน้ำซาวข้าว รับประทานครั้งละ 1 แก้ว (250 ซีซี) วันละ 1 ครั้ง หรือรับประทานเมื่อมีอาการ

องค์ประกอบทางเคมี:
           ฟลาโวนอยด์, ฟีนอลิก, apigenin, cosmosin, delphinidin-3,5-di-O-beta-D-glucoside, chlorogenic acid, caffeic acid, lutein

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
           ต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านเชื้อไวรัสเริม ต้านการอักเสบ ลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิต ปกป้องตับ ต้านอนุมูลอิสระ ทำให้สารฆ่าแมลงในร่างกายลดลง ลดพิษของสารฆ่าแมลงออกาโนฟอสเฟต พาราควอท และพาราไธออนในหนู ป้องกันการเสื่อมของระบบประสาทจากพิษตะกั่ว
           สารสกัดน้ำ เอทานอล และอะซิโทน มีฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์ โดยยับยั้งการเกิดมะเร็ง เนื่องจากสาร 2-aminoanthracene ได้ร้อยละ 87 เมื่อวิเคราะห์ด้วยแบคทีเรีย Salmonella typhimurium TA 98 และสามารถเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ควิโนนรีดักเทส ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ใช้ในการกำจัดเซลล์มะเร็งระยะเริ่มต้น ได้ตั้งแต่ 1.35-2.8 เท่า

 

การศึกษาทางคลินิก:
           ลดสารเคมีตกค้างในกระแสเลือดเกษตรกร

          รักษาผู้ป่วยพิษแมงดาทะเล รายงานผู้ป่วย 4 ราย กินยำไข่แมงดาทะเล อาการขึ้นกับปริมาณที่ได้รับ ทุกรายมีอาการชารอบปาก และคลื่นไส้อาเจียน อาการชาจะลามไปกล้ามเนื้อมัดต่างๆ ที่เป็นอันตรายคือทำให้หายใจไม่ได้ ผู้ป่วย 2 รายหมดสติ ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ระยะที่เริ่มแสดงอาการตั้งแต่ 40 นาที จนถึง 4 ชั่วโมง หลังรับประทาน เนื่องจากพิษของแมงดาทะเล คือเทโทรโดทอกซินไม่มียาแก้พิษต้องรักษาตามอาการ หลังจากได้น้ำสมุนไพรรางจืด 50 มล. ทางหลอดสวนจมูก-กระเพาะอาหาร ผู้ป่วยเริ่มรู้สึกตัว และอาการดีขึ้นตามลำดับ ภายหลังจากได้รับน้ำสมุนไพร 40 นาที ผู้ป่วยอีกรายได้รับการกรอกน้ำรางจืดเช่นกัน ในขนาด 50 มล. ทุก 1 ชม. 5 ครั้ง ภายหลังจากได้รับน้ำสมุนไพร 5 ชม. ผู้ป่วยเริ่มรู้สึกตัว และอาการดีขึ้นตามลำดับ



การศึกษาทางพิษวิทยา:
           การทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลันที่ป้อนหนูทดลองครั้งเดียว ทั้งขนาดปกติและขนาดสูง ไม่พบความผิดปกติใด ๆ และป้อนติดต่อกัน 28 วัน ขนาด 500 มก.ต่อน้ำหนักตัว 1 กก. ไม่พบอาการผิดปกติเช่นกัน แต่อาจทำให้น้ำหนัก ตับ ไต สูงกว่ากลุ่มควบคุม  ค่าชีวเคมีที่เกี่ยวกับไตสูงขึ้น และ AST สูงขึ้น

          การศึกษาพิษเรื้อรังของสารสกัดน้ำจากใบ โดยป้อนหนูแรทขนาด 20  200  1,000  2,000 มก./กก./วัน หรือคิดเป็น 1, 10, 50 และ 100 เท่า ของขนาดที่ใช้ในคนเป็นเวลา 6 เดือน พบว่าไม่มีผลต่อน้ำหนักตัว การกินอาหาร พฤติกรรม และสุขภาพทั่วไปของหนู อวัยวะภายในทั้งระดับมหพยาธิวิทยาและจุลพยาธิยังคงปกติ และไม่ทำให้เกิดพิษสะสม ไม่ทำให้หนูตาย


ข้อควรระวังในการใช้:
           1.ไม่ควรดื่มติดกันเป็นเวลานานเกิน 30 วัน
           2.ควรระวังในการใช้ในผู้ป่วยเบาหวาน เพราะอาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
           3.ไม่ควรใช้ร่วมกับยาชนิดอื่นเป็นระยะเวลานานเนื่องจากอาจขับสารเคมี หรือตัวยาในร่างกายออก

 

ค้นหาข้อมูลพืชที่ให้เครื่องยา : phar.ubu.ac.th/herb-phargarden/

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 59
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่