ละหุ่ง
ชื่อเครื่องยา | ละหุ่ง |
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา | |
ได้จาก | น้ำมันจากเมล็ด |
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา | ละหุ่ง |
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา) | ละหุ่งแดง (ภาคกลาง) ละหุ่งขาว มะโห่ง มะโห่งหิน (ภาคเหนือ) มะหุ่ง |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Ricinus communis L. |
ชื่อพ้อง | |
ชื่อวงศ์ | Euphorbiaceae |
ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
เมล็ดทรงรี เปลือกเมล็ดสีน้ำตาลแดงประขาว หรือจุดสีน้ำตาลปนเทา เป็นลายคล้ายตัวเห็บ มีสีแตกต่างกันไปขึ้นกับพันธุ์ เนื้อในสีขาว(มีโปรตีนที่มีพิษ) ภายในเนื้อในมีน้ำมันอยู่ภายใน น้ำมันจากเมล็ด เป็นของเหลว ข้น เหนียว ใส ไม่มีสี หรือมีสีเหลืองอ่อน มีกลิ่นเล็กน้อย รสเฝื่อน เผ็ดเล็กน้อย มันเอียน
เครื่องยา เมล็ดละหุ่ง
เครื่องยา เมล็ดละหุ่งแดง
เครื่องยา เมล็ดละหุ่ง
ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
น้ำมันมีค่าความถ่วงจำเพาะ 0.958-0.969 ที่ 25?C จุดแข็งตัว -10 ถึง -18?C ค่าความหนืดอยู่ระหว่าง 935-1,033 ซีพี ที่ 20?C
สรรพคุณ:
ตำรายาไทย: น้ำมันจากเมล็ด รสมันเอียน มีฤทธิ์ระบายอุจจาระสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ (ต้องสกัดเอาแต่น้ำมันจากเมล็ดเท่านั้น ไม่ติดส่วนอื่นมาจะเป็นพิษได้ วิธีบีบน้ำมันจากเมล็ดต้องไม่ใช้ความร้อน ถ้าบีบโดยใช้ความร้อนจะมีโปรตีนที่เป็นพิษชื่อ “ricin” ติดมาด้วย ไม่ใช้ทำยา) เมล็ด นำเมล็ดมาทุบเอาเปลือกและดี (ใบอ่อน)ทิ้งไป นำไปต้มกับน้ำนมให้สุก แล้วต้มกับน้ำอีกครั้งเพื่อทำลายพิษ เทน้ำนมและน้ำทิ้งไป ใช้เป็นยาพอกบาดแผล
ยาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี: ใช้ น้ำมันจากเมล็ด เข้ายากับน้ำมันงา ทาแก้กระดูกหัก กระดูกแตก
ทางเภสัชกรรม: ใช้น้ำมันละหุ่ง กินเป็นยาระบายหรือยาถ่ายอย่างอ่อนมีฤทธิ์กระตุ้นผนังลำไส้ให้บีบตัว ขับกากอาหารออกมา มักใช้ในผู้ป่วยโรคท้องเดินเฉียบพลันที่เกิดจากอาหารเป็นพิษ เพื่อขับถ่ายอาหารที่เป็นพิษออกมา หรือใช้ทำความสะอาดลำไส้ก่อนการเอ็กซเรย์ลำไส้และกระเพาะอาหาร แต่ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดมวนท้องได้ นอกจากนี้ยาขี้ผึ้งน้ำมันละหุ่งความเข้มข้นร้อยละ 5-10 ใช้ทาแก้ผิวหนังอักเสบ
รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
กรดไขมัน ricinoleic มีฤทธิ์เป็นยาถ่าย (cathartic effect) มักใช้ในขนาด 15-60 ml ก่อนการผ่าตัด หรือฉายรังสี บริเวณทวารหนัก หรือปลายลำไส้ใหญ่ นอกจากนี้ยังใช้ในอุตสาหกรรม การผลิตเรซิ่น และ lubricant grease, สบู่, น้ำมันหล่อลื่น
องค์ประกอบทางเคมี:
ภายในเมล็ดประกอบด้วยน้ำมันระเหยยาก (fixed oil) ประมาณ 45-55% โปรตีน 15-20% ในน้ำมันมีองค์ประกอบสำคัญ คือ triricinoleoylglycerol ซึ่งสามารถถูก hydrolysed บริเวณลำไส้เล็กโดยน้ำย่อย lipase จากตับอ่อน ได้เป็น ricinoleic (hydroxylated C18 fatty acid) คิดเป็นประมาณ 90% ของกรดไขมันทั้งหมด ที่เหลือเป็น linoleic, oleic, stearic เล็กน้อย ricinoleic มีฤทธิ์เป็นยาถ่าย (cathartic effect)
การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
ไม่มีข้อมูล
การศึกษาทางคลินิก:
ไม่มีข้อมูล
การศึกษาทางพิษวิทยา:
ไม่มีข้อมูล
ข้อควรระวัง:
เมล็ด มีพิษมาก ถ้ากินเพียง 2-3 เมล็ด ปากและคอจะไหม้พอง เลือดออกในกระเพาะอาหาร คลื่นไส้อาเจียน อุจจาระมีเลือด ตับและไตถูกทำลาย ความดันโลหิตลดลงอาจทำให้ตายได้ การสกัดเอาน้ำมันออกจากเมล็ดต้องบีบออกโดยไม่ใช้ความร้อน “บีบเย็น” (cold pressed) เพื่อไม่ให้โปรตีนที่เป็นพิษติดมา
ค้นหาข้อมูลพืชที่ให้เครื่องยา : phar.ubu.ac.th/herb-phargarden/
ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/