กฤษณา
ชื่อเครื่องยา | กฤษณา |
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา | |
ได้จาก | เนื้อไม้กฤษณาที่มีราลง |
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา | กฤษณา |
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา) | ไม้หอม พวมพร้าว จะแน กายูกาฮู กายูการู |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Aquilaria crassna Pierre ex Lecomte. |
ชื่อพ้อง | Aquilaria malaccensis Lamk. มีชื่อพ้องว่า Aquilaria agallocha Roxb. Aquilaria subintegra Hou. Aquilaria hirta |
ชื่อวงศ์ | Thymelaeaceae |
ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
เนื้อไม้ปกติจะมีสีขาวนวล เสี้ยนตรง เนื้อหยาบปานกลาง หากมีน้ำมันสะสมอยู่บ้างเนื้อไม้จะเปลี่ยนสีจากเดิม เป็นสีเหลืองอ่อนๆ และจะมีสีเข้มมากขึ้นตามปริมาณน้ำมันที่สะสมอยู่ในเนื้อไม้ หรือบางครั้งอาจเห็นเป็นจุดเข้มๆ กระจายเป็นแผ่นบางๆ บริเวณผิวไม้ แต่ยังไม่แทรกลึกเข้าไปในเนื้อไม้ หากมีน้ำมันสะสม จะมีกลิ่นหอมซึ่งเกิดจากการที่มีเชื้อราบางชนิดเจริญเข้าไปในเนื้อไม้ ทำให้เนื้อไม้สร้างชันน้ำมัน (oleoresin) เนื้อไม้จึงมีสีเข้มขึ้น เมื่อหักกิ่งจะมีชันน้ำมันไหลเยิ้มออกมา มีกลิ่นหอมเฉพาะ รสเผ็ดร้อน และขม
เครื่องยา กฤษณา
เครื่องยา กฤษณา
เครื่องยา กฤษณา
เครื่องยา กฤษณา
เครื่องยา กฤษณา
ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
ไม้กฤษณาที่มีคุณภาพดี เนื้อไม้จะเป็นสีดำ มีกลิ่นหอม และท่อนไม้จะจมได้ในน้ำ กฤษณาที่มีคุณภาพดีในต่างประเทศเรียกรวมๆกันว่า “ true agaru ” มีรสขมเล็กน้อย กลิ่นหอมชวนดมคล้ายกลิ่นจันทน์หิมาลัย (Sandal wood) หรืออำพันขี้ปลา (Ambergris) เมื่อเผาไฟจะให้เปลวไฟโชติช่วงและมีกลิ่นหอม ชาวอาหรับนิยมเอามาเผาไฟเพื่ออบห้องให้มีกลิ่นหอม และนิยมจำหน่ายเป็นชิ้นไม้ หากมีสีน้ำตาลอ่อนหรือสีน้ำเงิน ลอยปริ่มน้ำ เป็นคุณภาพขนาดกลาง ส่วนชนิดที่มีคุณภาพรองลงมา เรียกกันว่า “dhum” ซึ่งเมื่อนำมากลั่นจะให้น้ำมันระเหยง่ายที่เรียกว่า “agar attar” มีกลิ่นหอมเหมือนน้ำมันดอกยี่สุ่น (rose oil) ในยุโรปเอามาใช้ทำน้ำหอมชนิดคุณภาพดี สำหรับท่อนที่ลอยน้ำ มักจะไม่มีกลิ่นหอม หรือไม่มีสารหอมสะสม เป็นเนื้อไม้ที่คุณภาพต่ำ
โบราณแบ่งชั้นคุณภาพของกฤษณาโดยใช้สีและน้ำหนักเป็นเกณฑ์ แบ่งเป็น
1) เนื้อไม้ (หรือไม้หอม) ชนิดนี้มีคุณภาพดีที่สุด มีสีดำเข้มตลอดกันหมด แข็งมาก และหนักมาก หนักกว่าน้ำ และมีชันอยู่ในปริมาณสูง ชนิดนี้มีหลักฐานบันทึกว่าไทยเราเคยส่งไปเป็นบรรณาการในประเทศอังกฤษ มักไม่นำไปกลั่นน้ำมัน แต่จะจำหน่ายเป็นชิ้นไม้ ใช้ในพิธีกรรม และประโยชน์ด้านอื่นๆ
2) กฤษณา เป็นชนิดที่มีคุณภาพรองลงมา มีสีน้ำตาลเข้มถึงดำ แข็ง และหนักกว่าน้ำ ชนิดนี้โบราณมักใช้ทำยา
3) ลูกผุด เป็นชนิดที่มีคุณภาพด้อยกว่า เนื้อไม้สีอ่อนกว่า มีสีน้ำตาลเข้มหรือดำเฉพาะที่ หรือเป็นจุดๆ ชนิดนี้จะเบากว่าน้ำ ใช้นำมากลั่นเอาน้ำมัน
สรรพคุณ:
เนื้อไม้ซึ่งเป็นสีดำ และมีกลิ่นหอม รสขม ตามตำรายาไทย: ใช้ คุมธาตุ บำรุงโลหิตและหัวใจ ทำให้หัวใจชุ่มชื่น ใช้ผสมยาหอม แก้ลมวิงเวียนศีรษะ บำรุงกำลัง บำรุงธาตุ บำรุงตับและปอดให้ปกติ เป็นยาอายุวัฒนะ แก้อาเจียน ท้องร่วง แก้ไข้ต่างๆ บำบัดโรคปวดบวมตามข้อ ต้มดื่มแก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้เสมหะ โดยนำมาผสมกับยาหอมกิน หรือนำมาต้มน้ำดื่ม กรณีกระหายน้ำมาก
ในตำราพระโอสถพระนารายณ์: มีการนำแก่นไม้กฤษณาไปใช้หลายตำรับ โดยเป็นตัวยาผสมกับสมนุไพรชนิดอื่นๆ อีกหลายชนิดในตำรับเพื่อรักษาอาการของโรคต่างๆ เช่น ตำรับยาขี้ผึ้งบี้พระเส้น หรือยาถูนวดเส้น ตำรับยาน้ำมันมหาวิศครรภราชไตล ทำให้โลหิตไหลเวียนดี และเป็นยาคลายเส้น ตำรับยาทรงทาพระนลาฎ ใช้ทาหน้าผากแก้เลือดกำเดาที่ทำให้ปวดศีรษะ ยามโหสถธิจันทน์ เป็นยาแก้ไข้ตัวร้อน และยังปรากฏเป็นส่วนประกอบในตำรับยาหอมเทพจิตร ซึ่งมีสมุนไพรชนิดอื่นๆร่วมอยู่ด้วยในตำรับ ตามบัญชียาจากสมุนไพร พ.ศ. 2549 ประกาศคณะกรรมการแห่งชาติด้านยาของไทย
ในแหลมมลายู: ใช้กฤษณาเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางและใช้บำบัดโรคผิวหนังหลายชนิด ผงกฤษณาใช้โรยบนเสื้อผ้าหรือบนร่างกายเพื่อฆ่าหมัดและเหา
ในประเทศมาเลเซีย: นำเอากฤษณาผสมกับน้ำมันมะพร้าว นำมาทาบรรเทาอาการปวดเมื่อย หรือบรรเทาอาการของโรครูมาติซัม
ยาพื้นบ้านของอินเดียและหลายประเทศในเอเชีย: ใช้กฤษณาเป็นส่วนผสมในยาหอม ยาบำรุง ยากระตุ้นหัวใจ และ ยาขับลม นอกจากนี้ยังใช้เป็นยาแก้ปวด แก้อัมพาตและเป็นตัวยา รักษาโรคมาลาเรีย
ชาวอาหรับ: ใช้ผงไม้กฤษณาโรยเสื้อผ้า ผิวหนัง ป้องกันตัวเรือด ตัวไร และมีความเชื่อว่าน้ำมันหอมระเหยของกฤษณาเป็นยากระตุ้นทางเพศ
ชาวฮินดูนิยม: นำมาใช้จุดไฟ ให้มีกลิ่นหอมในโบสถ์
ประเทศจีน: ใช้แก้ปวดหน้าอก แก้อาเจียน แก้ไอ แก้หอบหืด
รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
ไม่มีข้อมูล
องค์ประกอบทางเคมี:
น้ำมันหอมระเหย : พบประมาณ 0.8% สารหลักคือ agoraspirol 16% กลุ่มสารอื่นๆคือ abietane ester , sesquiterpenes , sesquiterpene dehydrofukinone , isobaimuxinol
สารกลุ่ม resins : ประกอบด้วย benzylacetone , ?-methoxybenzylacetone , hydrocinnamic acid , ?-methoxyhydrocinnamic acid
สารกลุ่มอื่นๆ : benzylacetone , ?-methoxy-benzylacetone , anisic acid , ?-agarofuran
เนื้อไม้ที่เป็นแผล : ประกอบด้วย สารกลุ่ม chromones
การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
ฤทธิ์ยับยั้งอาการแพ้อย่างเฉียบพลัน : สารสกัดน้ำจากแก่นกฤษณา สามารถยับยั้งอาการแพ้อย่างเฉียบพลัน ที่แสดงออกทางผิวหนังในหนู โดยยับยั้งการหลั่ง histamine จาก mast cell
ฤทธิ์ลดความดันโลหิต : สารสกัดจากแก่นกฤษณามีฤทธิ์ลดความดันโลหิตในแมวที่สลบ ซึ่งความดันโลหิตจะลดลงทันทีเมื่อให้สารสกัดทางหลอดเลือดดำ แต่ผลลดความดันโลหิตจะไม่เกิน 40-80 นาที
การศึกษาทางคลินิก:
ไม่มีข้อมูล
การศึกษาทางพิษวิทยา:
กฤษณาสายพันธุ์ Aquilaria agallocha Roxb. เมื่อนำสารสกัดแก่นด้วย อัลกอฮอล์:น้ำ (1:1) ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง หรือกรอกให้หนูถีบจักร ในขนาด 10 ก./ก.ก. ไม่พบพิษ