ว่านน้ำ

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ว่านน้ำ

ชื่อเครื่องยา ว่านน้ำ
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา
ได้จาก รากและลำต้นใต้ดิน
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา ว่านน้ำ
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา) ว่านน้ำเล็ก ตะไคร้น้ำ คาเจียงจี้ ทิสืปุตอ ผมผา ส้มชื่น ฮางคาวน้ำ ฮางคาวบ้าน ฮางคาวผา
ชื่อวิทยาศาสตร์ Acorus calamus L.
ชื่อพ้อง Acorus angustatus Raf., Acorus angustifolius Schott, Acorus belangeri Schott, Acorus calamus-aromaticus Clairv., Acorus casia Bertol., Acorus commersonii Schott, Acorus commutatus Schott, Acorus elatus Salisb., Acorus europaeus Dumort., Acorus flexuosus Raf., Acorus floridanus Raf., Acorus griffithii Schott, Acorus nilghirensis Schott, Acorus odoratus Lam., Acorus terrestris Spreng., Acorus undulatus Stokes, Acorus verus
ชื่อวงศ์ Acoraceae

ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
           เหง้าทอดนอน หนา 1-2 เซนติเมตร รูปทรงกระบอกค่อนข้างแบน ลักษณะเป็นข้อๆ มองเห็นชัดเจน ผิวนอกสีน้ำตาลอ่อนหรือสีน้ำตาลอมชมพู มีรากฝอยเป็นเส้นเล็กยาว ติดอยู่ทั่วไป พันรุงรังตามข้อปล้องของเหง้า เนื้อภายในสีเนื้อแก่ กลิ่นหอม รสเผ็ดร้อนฉุน ขม

 

เครื่องยา ว่านน้ำ

 

เครื่องยา ว่านน้ำ

 

เครื่องยา ว่านน้ำ

 


ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
           ปริมาณน้ำไม่เกิน 12% w/w  ปริมาณสิ่งแปลกปลอมไม่เกิน 2% w/w  ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 7% w/w  ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรด ไม่เกิน 1.0% w/w  ปริมาณน้ำมันระเหยง่าย ไม่น้อยกว่า 1.2% v/w  ปริมาณสารสกัดด้วยน้ำไม่น้อยกว่า 11% w/w  สารสกัดเอทานอล ไม่น้อยกว่า 5% w/w  

สรรพคุณ:
           ตำรายาไทย: เหง้า เป็นยาขับลม ยาหอม แก้ธาตุพิการ เป็นยาขมช่วยเจริญอาหาร ช่วยได้ในอาการท้องเสีย อาหารไม่ย่อย และอ่อนเพลีย ราก แก้ไข้มาลาเรีย แก้หวัด หลอดลมอักเสบ แก้เจ็บคอ แก้ปวดฟัน  เป็นยาระบาย แก้เส้นกระตุก บำรุงหัวใจ แก้หืด แก้เสมหะ เผาให้เป็นถ่านรับประทานถอนพิษสลอด แก้ปวดศีรษะ แก้ลงท้อง พอกแก้ปวดตามข้อและกล้ามเนื้อ แก้บิด แก้ไอ แก้ปวดท้อง แก้จุกเสียด หัว ใช้ขับลมในท้อง แก้ท้องขึ้นอืดเฟ้อ แน่นจุกเสียด ช่วยย่อยอาหาร แก้โรคกระเพาะอาหาร แก้ธาตุพิการ แก้ลมจุกแน่นในทรวงอก แก้ลมที่อยู่ในท้องแต่นอกกระเพาะและลำไส้ บำรุงธาตุน้ำ แก้ข้อกระดูหักแพลง ขับเสมหะ แก้ปวดท้อง แก้ท้องเสีย แก้บิด ขับพยาธิ กินมากทำให้อาเจียน บำรุงกำลัง แก้โรคลม แก้ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ แก้ไข้จับสั่น บำรุงประสาท หลอดลม บิดในเด็ก ขับเสมหะ ขับระดู ขับปัสสาวะ รากฝนกับสุราทาหน้าอกเด็กเพื่อเพื่อเป็นยาดูดพิษแก้หลอดลมและปอดอักเสบ เหง้าต้มรวมกับขิงและไพลกินแก้ไข้ ผสมชุมเห็ดเทศ ทาแก้โรคผิวหนัง
           ตำรายาไทยแผนโบราณ: ว่านน้ำ จัดอยู่ใน “พิกัดจตุกาลธาตุ” ประกอบด้วย หัวว่านน้ำ รากนมสวรรค์ รากแคแตร รากเจตมูลเพลิงแดง สรรพคุณแก้ธาตุพิการ บำรุงธาตุ แก้จุกเสียด แก้เสมหะ แก้โลหิตในท้อง แก้ไข้ แก้ลม
           นอกจากนี้บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา  ปรากฏการใช้เหง้าว่านน้ำ ในยารักษาอาการโรคในระบบต่างๆ ของร่างกาย ได้แก่ ตำรับ “ยาประสะกานพลู” มีส่วนประกอบของเหง้าว่านน้ำ ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดท้อง จุกเสียด แน่นเฟ้อจากอาหารไม่ย่อย เนื่องจากธาตุไม่ปกติ  ตำรับ “ยาประสะไพล” มีส่วนประกอบของเหง้าว่านน้ำ ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้ในสตรีที่ระดูมาไม่สม่ำเสมอ หรือมาน้อยกว่าปกติ ขับน้ำคาวปลาในสตรีหลังคลอดบุตร

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
           ใช้เป็นยาเจริญอาหาร บำรุงธาตุ ขับลม เหง้าแห้ง 1-3 กรัม ชงน้ำร้อนดื่ม ควรระมัดระวังการใช้เนื่องจากมีรายงานว่าสาร β-asarone เป็นสารก่อมะเร็งและมีพิษต่อตับได้ และการรับประทานมากทำให้อาเจียน

องค์ประกอบทางเคมี:
           น้ำมันระเหยง่าย 0.5-10% ประกอบด้วย β-asarone, cis-methylisoeugenol, asaryl aldehyde, acorone, acoroxide, acorin, calcmene, linalool, calamol, calameone, azulene, pinene, cineole, camphor
           สารกลุ่ม sesquiterpene ประกอบด้วย acoragermacrone, acolamone, isoacolamone

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

ฤทธิ์ลดอาการปวดเส้นประสาท

       ศึกษาฤทธิ์ลดการเจ็บปวดเส้นประสาท ของสารสกัด 50% เอทานอลของเหง้าว่านน้ำ ขนาด 100 และ 200 mg/kg  เมื่อป้อนให้หนูขาวแต่ละกลุ่มกินเป็นระยะเวลา 14 วัน หนูได้รับ vincristine ขนาด 75 μg/kg ฉีดเข้าทางช่องท้อง เป็นระยะเวลา 10 วัน เพื่อไปกระตุ้นให้เกิดการเจ็บปวดที่เส้นประสาท ผลการทดสอบพบว่าในวันที่ 21 สารสกัดว่านน้ำสามารถลดฤทธิ์ของ vincristine ที่ทำให้เกิดการเจ็บปวดที่เส้นประสาทได้ คาดว่ากลไกเกิดผ่านการยับยั้งปฏิกิริยาออกซิเดชัน ต้านการอักเสบ และลดการสะสมของแคลเซียม (Muthuraman, et al, 2011)      

ฤทธิ์ขับปัสสาวะ

      ศึกษาฤทธิ์ขับปัสสาวะของสารสกัดเอทานอลจากว่านน้ำในหนูขาว โดยใช้สารสกัด ขนาด 250, 500 และ 750 mg/kg แล้วทำการวัดปริมาณปัสสาวะ และความเข้มข้นของ electrolytes (Na+และ K+) ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดขนาด 750 mg/kg สามารถเพิ่มปริมาณปัสสาวะได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p< 0.001) และเพิ่มการขับออกของ electrolytes (Na+และ K+) ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05) โดยออกฤทธิ์ได้ใกล้เคียงกับยามาตรฐาน furosemide (Ghelani, et al, 2016)

ฤทธิ์ยับยั้งการสะสมเซลล์ไขมัน

     การศึกษาผลของน้ำมันหอมระเหย และสาร β-asarone ซึ่งเป็นสารสำคัญที่พบในน้ำมันหอมระเหยจากว่านน้ำ ต่อการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เริ่มต้นของเซลล์ไขมัน (preadipocyte) ไปเป็นเซลล์ไขมัน (adipocyte) โดยทำการศึกษาในหลอดทดลองกับเซลล์ 3T3-L1 preadipocyte ทำการกระตุ้นให้เซลล์เกิดการเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์ไขมัน ให้น้ำมันหอมระเหย ขนาด 25, 62.5 และ 125 µg/ml ในหนูแต่ละกลุ่มการทดสอบตามลำดับ ทุก 3 วัน เป็นระยะเวลารวม 9 วัน  และตรวจสอบการแสดงออกของโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของเซลล์โดยวิธี RT-PCR และ western blot analysis ผลการทดลองพบว่าน้ำมันหอมระเหย สามารถยับยั้งการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ 3T3-L1 preadipocyte ไปเป็นเซลล์ไขมัน (ตรวจสอบจากปริมาณไตรกลีเซอไรด์) ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติขึ้นกับขนาดความเข้มข้นที่ใช้ โดยที่ความเข้มข้น 125 µg/ml ทำให้มีการสะสมไขมันภายในเซลล์เพียง 35% และที่ความเข้มข้นนี้ไม่ทำให้เกิดความเป็นพิษต่อเซลล์เมื่อทดสอบด้วยวิธี MTT assay ผลการทดสอบของสารบริสุทธิ์ β-asarone ขนาด 0.25 mM พบว่าสามารถลดปริมาณไขมันภายในเซลล์ได้ใกล้เคียงกับภาวะที่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์ไขมัน และยังลดการแสดงออกของโปรตีน และ mRNA ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ไขมันได้แก่ C/EBPβC/EBPα และ PPARγ อย่างมีนัยสำคัญ โดยลดระดับ mRNA ได้ 24, 34 และ 56% ตามลำดับ ลดระดับการแสดงออกของโปรตีนได้ 44, 33 และ 45% ตามลำดับ จากผลการทดลองแสดงให้เห็นว่าสาร β-asarone ในน้ำมันหอมระเหยจากต้นว่านน้ำ มีฤทธิ์ยับยั้งการสะสมเซลล์ไขมัน ซึ่งอาจนำมาประยุกต์ใช้ประโยชน์เพื่อลดความอ้วนได้ (Lee, et al, 2011)


การศึกษาทางคลินิก:
           ไม่มีข้อมูล


การศึกษาทางพิษวิทยา:
           การทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดรากด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกินในขนาด 10 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (คิดเป็น 1,111 เท่า เปรียบเทียบกับขนาดรักษาในคน) และเมื่อให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตรวจพบไม่อาการเป็นพิษ  (กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, 2546)

          การศึกษาพิษเฉียบพลัน และพิษกึ่งเฉียบพลันของเหง้าว่านน้ำสกัดจาก 50% เอทานอล การศึกษาพิษเฉียบพลันในหนูถีบจักร โดยสังเกตลักษณะพฤติกรรม และอัตราการตายภายใน 24 ชั่วโมง ส่วนการศึกษาพิษกึ่งเฉียบพลันในหนูขาว จะประเมินการตาย น้ำหนักร่างกาย การตรวจทางโลหิตวิทยา การตรวจทางชีวเคมี การเปลี่ยนแปลงทางจุลพยาธิวิทยา ผลการวิจัยพบว่าการให้สารสกัดว่านน้ำทางปากครั้งเดียวในขนาด 2,500-10,000 mg/kg จะชักนำให้เกิดความผิดปกติของพฤติกรรมในหนู และอัตราการตายจะเพิ่มขึ้นเมื่อให้สารสกัดว่านน้ำในปริมาณที่เพิ่มสูงขึ้น (LD50 = 5,070.59 mg/kg) เมื่อให้สารสกัดว่านน้ำทุกวันทางปาก วันละ 1 ครั้ง ในขนาด 200, 500 และ 1,000 mg/kg เป็นเวลา 28 วัน ในหนูแต่ละกลุ่ม พบว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญต่อร่างกาย และน้ำหนักของหนูทดลอง แต่พบว่ามีปริมาณของเอนไซม์ตับ ได้แก่ alanine transaminase (ALT), aspartate transaminase (AST) เพิ่มขึ้นเล็กน้อย เมื่อให้สารสกัดในขนาด 1,000 mg/kg พบลักษณะเนื้อเยื่อตับเปลี่ยนแปลงซึ่งแสดงถึงความเป็นพิษต่อตับ (Muthuraman and Singh, 2012)

 

เอกสารอ้างอิง:

1. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. 2546. ประมวลผลงานวิจัยด้านพิษวิทยา ของสถาบันวิจัยสมุนไพร เล่ม 1.โรงพิมพ์การศาสนา:กรุงเทพมหานคร.

2. Ghelani H, Chapala M, Jadav P. Diuretic and antiurolithiatic activities of an ethanolic extract of Acorus calamus L. rhizome in experimental animal models. Journal of Traditional and Complementary Medicine. 2016;6: 431–436.

3. Lee M-H, Chen Y-Y, Tsai J-W, Wang S-C, Watanabe T, Tsai Y-C.  Inhibitory effect of β-asarone, a component of Acorus calamus essential oil, on inhibition of adipogenesis in 3T3-L1 cells. Food Chemistry. 2011;126:1-7

4. Muthuraman A, Singh N. Acute and sub-acute oral toxicity profile of Acorus calamus (Sweet flag) in rodents. Asian Pacific Journal of Tropical Biomedicine. 2012:S1017-S1023.

 

ข้อมูลตำรับยาประสะไพล:  phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 69
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่