ส้มเขียวหวาน
ชื่อเครื่องยา | ส้มเขียวหวาน |
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา | |
ได้จาก | เปลือกผล |
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา | ส้มเขียวหวาน |
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา) | มะขุน มะเขียว มะแง มะจุก มะบาง ส้มแก้วเกลี้ยง ส้มแก้วโบราณ ส้มขี้ม้า ส้มจีนเปลือกล่อน ส้มจันทบูร ส้มจุก ส้มเชียงตุง ส้มตรังกานู ส้มแป้นกระดาน ส้มแป้นเกลี้ยง ส้มแป้นขี้ม้า ส้มแป้นหัวจุก ส้มแสงทอง ส้มเหม็น |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Citrus reticulata Blanco |
ชื่อพ้อง | C. chrysocarpa Lushington. , C. crenatifolia Lushington. , C. crenatifolia Lushington var. lycopersicaeformis Lushington, C. deliciosa Tenore, C. nobilis Lour. var. genuina Tanaka , C. nobilis Lour. var papaillaris Wester, C. papillaris Blanco , C. papillaris |
ชื่อวงศ์ | Rutaceae |
ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
ผิวผลไม่เรียบ เปลือกผลสีส้ม หรือส้มแกมเขียว เปลือกอ่อน ผิวหนาประมาณ 2 มิลลิเมตร มีต่อมน้ำมันขนาดเล็กหนาแน่นที่เปลือก บริเวณขอบผิวมักหด และม้วนเข้าด้านใน ผิวผลด้านในสีขาวหรือสีเทาอ่อน เนื้อเปลือกเบา เปราะ เปลือกผลมีกลิ่นหอม รสปร่า ขม และเผ็ดร้อนเล็กน้อย
เครื่องยา ผิวส้มเขียวหวาน
เครื่องยา ผิวส้มเขียวหวาน
เครื่องยา ผิวส้มเขียวหวาน
ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
ปริมาณน้ำไม่เกิน 13%, ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 5%, ปริมาณสาร hesperidin ไม่น้อยกว่า 3.5% (ข้อกำหนดเภสัชตำรับจีน)
ปริมาณความชื้นไม่เกิน 13%, ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 4%, ปริมาณสารสกัดด้วยเอทานอลเจือจางไม่น้อยกว่า 30%, ปริมาณน้ำมันระเหยง่ายไม่น้อยกว่า 0.4%, ปริมาณสาร hesperidin ไม่น้อยกว่า 4% (ข้อกำหนดเภสัชตำรับญี่ปุ่น)
ปริมาณความชื้นไม่เกิน 12%, ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 5%, ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรดไม่เกิน 1%, ปริมาณสารสกัดด้วย 50% เอทานอลไม่น้อยกว่า 12%, ปริมาณน้ำมันระเหยง่ายไม่น้อยกว่า 0.2 มิลลิลิตร (เครื่องยา50 กรัม) (ข้อกำหนดเภสัชตำรับเกาหลี)
ปริมาณสิ่งแปลกปลอมไม่เกิน 1%, ปริมาณน้ำไม่เกิน 13%, ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 4%, ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรดไม่เกิน 1%, ปริมาณสารสกัดด้วยน้ำไม่น้อยกว่า 39%, ปริมาณสารสกัดด้วยเอทานอลไม่น้อยกว่า 29%, ปริมาณรวมของสาร hesperidin และ narirutin ไม่น้อยกว่า 2.9%, ปริมาณรวมของสาร nobiletin และ tangeretin ไม่น้อยกว่า 0.071% (ข้อกำหนดเภสัชตำรับฮ่องกง)
สรรพคุณ:
ตำรายาไทย: เปลือกส้มเขียวหวาน ใช้แก้ลมวิงเวียน หน้ามืด ตาลาย ใจสั่น แก้ลมท้องขึ้น อืดเฟ้อ รักษาโรคผมร่วง ใช้ปรุงยาหอมแก้ลมวิงเวียน หน้ามืดตาลาย แก้ลมจุกเสียดแน่นเฟ้อ
ตำรายาไทยผิวส้มเขียวหวานจัดอยู่ใน “เปลือกส้ม 8 ประการ” ประกอบด้วย ผิวส้มเขียวหวาน ผิวส้มจีน ผิวส้มซ่า ผิวส้มโอ ผิวส้มตรังกานู ผิวมะงั่ว ผิวมะนาว หรือผิวส้มโอมือ และผิวมะกรูด มีสรรพคุณแก้ลมกองละเอียด กองหยาบ แก้เสมหะโลหะ ใช้ปรุงยาหอม แก้ทางลม
นอกจากนี้บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา (ฉบับที่ 5) ปรากฏการใช้ผิวส้มเขียวหวาน ในยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) ปรากฏตำรับ”ยาหอมเทพจิตร” มีส่วนประกอบของผิวส้มเขียวหวาน อยู่ใน ”เปลือกส้ม 8 ประการ” ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณในการแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง บำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น
รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
ขนาดการใช้ทั่วไปกำหนดในเภสัชตำรับจีน 3-10 กรัม
องค์ประกอบทางเคมี:
anthranilic acid, apigenin, caryophyllene, geraniol, hesperidin, limonene, linalool, myrcene, naringenin, nobiletin, nerol, nomilin, ocimene, phellandrene, pinene, sabinene, sinensetin, tangeretin
การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
ต้านไวรัส ยับยั้งการสังเคราะห์โปรตีนของเชื้อไวรัส ผสมในยารักษาโรคตับอักเสบ ต้านอะมีบา ไล่แมลง ต้านยีสต์ ต้านแบคทีเรีย ต้านเชื้อรา ต้านอนุมูลอิสระ ต้านอาการหัวใจเต้นผิดปกติ คลายกล้ามเนื้อเรียบ ต้านอาการตัวเหลือง ต้านการก่อกลายพันธุ์ ไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ ต้านมะเร็ง เป็นพิษต่อเซลล์มะเร็ง ผสมในยาห้ามเลือด ต้านพยาธิ ฆ่าเห็บ รักษาโรคเกี่ยวกับนิ่วในถุงน้ำดี
การศึกษาทางคลินิก:
ไม่มีข้อมูล
การศึกษาทางพิษวิทยา:
การทดสอบความเป็นพิษพบว่า เมื่อป้อนน้ำมันหอมระเหยให้หนู หรือกระต่าย ขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายเป็นจำนวนครึ่งหนึ่งคือ มากกว่า 5 ก./กก.