ส้มจีน
ชื่อเครื่องยา | ส้มจีน |
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา | ส้มเกลี้ยง |
ได้จาก | เปลือกผล |
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา | ส้มจีน |
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา) | ส้มตรา ส้มเกลี้ยง น้ำผึ้ง |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Citrus sinensis Osbeck. |
ชื่อพ้อง | |
ชื่อวงศ์ | Rutaceae |
ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
ผลกลม เปลือกติดเนื้อ ไม่ล่อน ผิวเปลือกหนา ไม่เรียบ สีเหลือง พบต่อมน้ำมันที่ผิวด้านนอก พบรอยที่เคยมีก้านผลติดอยู่ เนื้อผลชั้นกลางสีขาวเหลือง หรือสีน้ำตาลเหลือง หนา 0.3-1.2 เซนติเมตร เปลือกผล มีกลิ่นหอม รสร้อนขม เปรี้ยวเล็กน้อย
เครื่องยา ผิวส้มจีน
เครื่องยา ผิวส้มจีน
เครื่องยา ผิวส้มจีน
ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
ปริมาณน้ำไม่เกิน 15%, ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 7%, ปริมาณสิ่งสกัดด้วย 70%เอทานอล ไม่น้อยกว่า 12%, ปริมาณสาร synephrine ไม่น้อยกว่า 0.3 % (เภสัชตำรับจีน)
สรรพคุณ:
ตำรายาไทย: ผิวส้มจีน ใช้เข้ายาแก้ลมวิงเวียน หน้ามืด ตาลาย ใจสั่น
ตำรายาไทยผิวส้มจีน จัดอยู่ใน “เปลือกส้ม 8 ประการ” ประกอบด้วย ผิวส้มจีน ผิวส้มเขียวหวาน ผิวส้มซ่า ผิวส้มโอ ผิวส้มตรังกานู ผิวมะงั่ว ผิวมะนาว หรือผิวส้มโอมือ และผิวมะกรูด มีสรรพคุณแก้ลมกองละเอียด กองหยาบ แก้เสมหะโลหะ ใช้ปรุงยาหอม แก้ทางลม
นอกจากนี้บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา ปรากฏการใช้ผิวส้มจีน ในยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) ปรากฏตำรับ”ยาหอมเทพจิตร” มีส่วนประกอบของผิวส้มจีน อยู่ใน ”เปลือกส้ม 8 ประการ” ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณในการแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง บำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น
รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
น้ำมันจากผิวส้มจีน ในทางสุคนธบำบัด ใช้ลดอาการเครียด หรืออาการนอนไม่หลับเนื่องจากความกังวล ช่วยกระตุ้นให้เบิกบาน ใช้สำหรับผิวหนังอักเสบ ช่วยลดริ้วรอย ฆ่าเชื้อโรค คลายกล้ามเนื้อเรียบ ขับน้ำดี ช่วยย่อยอาหาร กระตุ้นการทำงานของน้ำเหลือง แนะนำให้ใช้ไม่เกิน 1.4%
ขนาดการใช้ทั่วไป กำหนดในเภสัชตำรับจีน 3-10 กรัม
องค์ประกอบทางเคมี:
น้ำมันหอมระเหยจากผิวส้มจีนด้วยวิธีบีบเย็นเปลือกผล มีน้ำมันหอมระเหยราวร้อยละ 0.3-0.5 การสกัดด้วยน้ำมีน้ำมันหอมระเหยร้อยละ 0.8 มีองค์ประกอบคือ limonene (95.37%), myrcene (2.08%), linalool (0.25%), alpha-pinene, neral, citronellal, geraniol, decanal, sabinene, octanal
การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
ต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านเชื้อรา ต้านอักเสบ ขับลม ช่วยเจริญอาหาร บรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน
การศึกษาทางคลินิก:
ไม่มีข้อมูล
การศึกษาทางพิษวิทยา:
น้ำมันจากผิวส้มจีนมีสาร limonene ซึ่งเป็นสารที่เกิดออกซิเดชันได้ง่าย และจะเปลี่ยนรูปเป็นสารที่ทำให้เกิดภาวะเป็นพิษเมื่อโดนแสงได้ ดังนั้นจึงควรเก็บรักษาน้ำมันในภาชนะกันแสง