สมอไทย
ชื่อเครื่องยา | สมอไทย |
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา | สมอ |
ได้จาก | ผล |
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา | สมอไทย |
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา) | กกส้มมอ สมอ มาแน่ สมออัพยา หมากแน่ะ |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Terminalia chebula Retz. |
ชื่อพ้อง | T. acuta Walp., T. gangetica Roxb., T. parviflora Thwaites, T. reticulata Roth, T. zeylanica Van Heurck & Müll. Arg., Buceras chebula (Retz.) Lyons, Myrobalanus chebula (Retz.) Gaertn., M. gangetica |
ชื่อวงศ์ | Combretaceae |
ลักษณะภายนอกของเครื่องยา
ผลรูปทรงกลม หรือรูปไข่ กว้าง 1-2.5 ซม. ยาว 2-4 ซม. ผลสดสีเขียวอมเหลือง หรือบางครั้งมีสีแดงปน ผิวเรียบ มีสัน 5 สัน เมล็ดเดี่ยว แข็ง รูปรี ขนาดใหญ่ ผลแห้งสีดำเข้ม ผิวย่น ผลอ่อนรสเปรี้ยว ผลแก่มีรสฝาดติดเปรี้ยว ขม ไม่มีกลิ่น เนื้อผลรสฝาดเปรี้ยว เมื่อชิมจะขมเล็กน้อยในตอนแรกและจะหวานในตอนหลัง เมล็ดมีรสขม
เครื่องยา สมอไทย
เครื่องยา สมอไทย
เครื่องยา สมอไทย
เครื่องยา สมอไทย และ สมอไทย(สด)
ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
ปริมาณความชื้นไม่เกิน 11% w/w ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 3.5% w/w ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรด ไม่เกิน 0.6% w/w ปริมาณสารสกัดเอทานอล ไม่น้อยกว่า 20% w/w ปริมาณสารสกัดเอทานอล(70%) ไม่น้อยกว่า 29% w/w สารสกัดน้ำ ไม่น้อยกว่า 28% w/w ปริมาณแทนนินไม่น้อยกว่า 14% w/w และ Foaming index ไม่น้อยกว่า 170 (THP II)
สรรพคุณ:
ตำรายาไทย: ผล ระบายอ่อนๆ แก้ลมป่วง แก้พิษร้อนใน คุมธาตุ แก้ลมจุกเสียด รู้ผายธาตุ รู้ระบายรู้ถ่ายอุจจาระ ถ่ายพิษไข้ คุมธาตุในตัวเสร็จ แก้ไข้เพื่อเสมหะ ผลอ่อน มีฤทธิ์เป็นยาระบาย ถ่ายอุจจาระ ถ่ายเสมหะ ลดไข้ ขับลมในลำไส้ แก้โลหิตในท้อง แก้น้ำดี ผลแก่ เป็นยาฝาดสมาน แก้ท้องเดิน แก้ไข้เพื่อเสมหะ แก้โลหิตในอุทร แก้น้ำดี ถ่ายอุจจาระ รู้ถ่ายรู้ปิดเอง(ระบายแล้วหยุดเอง) แก้ลมป่วง แก้พิษร้อนภายใน แก้ลมจุกเสียด ถ่ายพิษไข้ คุมธาตุ แก้ไอเจ็บคอ ขับน้ำเหลืองเสีย แก้เสมหะเป็นพิษ แก้ดีพลุ่ง แก้อาเจียน บำรุงร่างกาย แก้นอนสะดุ้งผวา บดเป็นผงโรยแผลเรื้อรัง เนื้อผล รสฝาดเปรี้ยว แก้บิด แก้ท้องผูก แก้ท้องขึ้นอืดเฟ้อ แก้โรคเกี่ยวกับน้ำดี แก้โรคท้องมาน แก้ตับม้ามโต แก้อาเจียน แก้สะอึก แก้หืดไอ แก้ท้องร่วงเรื้อรัง ทำเป็นยาชงใช้อมกลั้วคอแก้เจ็บคอ เมล็ด รสขม ทำให้เจริญอาหาร
ตำรายาไทย สมอไทยจัดอยู่ใน “พิกัดตรีผลา” คือการจำกัดจำนวนผลไม้ 3 อย่าง มี ลูกสมอพิเภก ลูกสมอไทย ลูกมะขามป้อม สรรพคุณแก้ปิตตะ วาตะ เสมหะ ในกองธาตุ กองฤดู กองอายุ และกองสมุฎฐาน “พิกัดตรีสมอ” คือการจำกัดจำนวนสมอ 3 อย่างมี ลูกสมอพิเภก ลูกสมอไทย ลูกสมอเทศ สรรพคุณแก้เสมหะ บำรุงธาตุ แก้ไข้ ผายธาตุ รู้ถ่ายรู้ปิดเอง “พิกัดตรีฉันทลามก” คือการจำกัดจำนวนตัวยาแก้ธาตุลามกให้ตกไป 3 อย่างมี โกฐน้ำเต้า สมอไทย รงทอง สรรพคุณ บำรุงธาตุ ขับลม แก้ไข้เพื่อเสมหะ ถ่ายโลหิตและน้ำเหลือง
นอกจากนี้บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา ปรากฏการใช้สมอไทย ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆในตำรับ ในยารักษากลุ่มอาการทางระบบทางเดินอาหาร รวม 2 ตำรับ คือ “ยาถ่ายดีเกลือฝรั่ง” สรรพคุณ แก้อาการท้องผูก กรณีที่ใช้ยาอื่นแล้วไม่ได้ผล และ “ยาธาตุบรรจบ” ใช้บรรเทาอาการท้องอืดเฟ้อ และอาการอุจจาระธาตุพิการ ท้องเสียที่ไม่ติดเชื้อ
รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
ยาระบายถ่ายท้อง ใช้ผลอ่อน 5-6 ผล หรือ 30 กรัม ต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว ใส่เกลือเล็กน้อย รับประทานครั้งเดียว จะถ่ายหลังให้ยาประมาณ 2 ชั่วโมง
องค์ประกอบทางเคมี:
gallic acid, chebulic acid, chebulinic acid, chebulagic acid, corilagin, terchebin, glucogallin, ellagic acid, sennoside A, chebulin, catechol, tannic acid
การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
ฤทธิ์ต่อการเคลื่อนไหวของลำไส้
การศึกษาผลของสารสกัดสมอไทยต่อการเคลื่อนไหวของลำไส้ โดยประเมินจากระยะเวลาที่อาหารเคลื่อนผ่านลำไส้ (intestinal transit time) ในหนูเม้าส์ สายพันธุ์ Swiss albino โดยการป้อนสารสกัดที่ได้จากการต้มผลแก่สมอไทย ที่นำมาเตรียมใน 2 รูปแบบ คือแบบผง และแบบตอกอัดเม็ด ในขนาด 550 mg/kg ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดทั้ง 2 รูปแบบ สามารถลดระยะเวลาที่อาหารเคลื่อนผ่านลำไส้ได้ใกล้เคียงกัน เท่ากับ 37.94% และ 35.85% ตามลำดับ ให้ผลไม่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าผลสมอไทยทำให้ลำไส้มีการเคลื่อนไหวตัว เพื่อขับอุจจาระออกมาได้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้อาจเกิดจากการที่สารสกัดสามารถทำลายแรงยึดเกาะระหว่างอุจจาระกับผนังลำไส้ ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดอาการท้องผูกได้ หรืออาจเกิดจากการกระตุ้นระบบประสาทที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของลำไส้ ได้ (Jirankalgikar, et al., 2012)
ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย
การศึกษาฤทธิ์ในการต้านเชื้อ Helicobacter pyroli ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียก่อโรคที่พบที่กระเพาะอาหาร โดยนำผลเนื้อผลแห้งของสมอไทย จำนวน 10 กรัม มาหมัก ด้วยน้ำ, อีเธอร์ หรือเอทานอล ที่อุณหภูมิ 35ºC เป็นเวลา 24 ชั่วโมง แล้วนำสารสกัดมาทดสอบฤทธิ์โดยใช้เทคนิค agar diffusion method ผลการทดลองพบว่าสารสกัดน้ำของสมอไทย แสดงฤทธิ์ในการต้านเชื้อ H. Pyroli ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยมีค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถยับยั้งเชื้อได้ (MIC) เท่ากับ 125 มิลลิกรัม/ลิตร และมีค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรีย (MBC) เท่ากับ 150 มิลลิกรัม/ลิตร โดยสารสกัดจะมีฤทธิ์เพิ่มขึ้นหลังจากผ่านการนึ่งฆ่าเชื้อโดยใช้ไอน้ำร้อน และแรงดันสูง (autoclave) เป็นเวลา 30 นาที ที่อุณหภูมิ 121 °C นอกจากนี้ยังพบว่าสารสกัดน้ำของสมอไทยที่ความเข้มข้น 1.5 และ 2.5 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร สามารถยับยั้งเอนไซม์ urease ของเชื้อ H. pylori ได้ภายในเวลา 60 นาทีโดยฤทธิ์จะเพิ่มขึ้นตามความเข้มข้นของสารสกัด โดยเอนไซม์ urease จะลดลง 24% และ 67% ตามลำดับ (Malekzadeh, et al., 2001)
ฤทธิ์ควบคุมการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหาร
การศึกษาผลของยาตรีสมอต่อการควบคุมและการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหารซึ่งตำรับยาตรีสมอประกอบด้วยพืชทั้งสิ้น 3 ชนิด คือสมอไทย สมอเทศ และสมอพิเภก ในอัตราส่วนที่เท่ากัน โดยทำการทดลองทั้งในหลอดทดลอง และในร่างกายหนูทดลอง ทำการทดสอบผลในร่างกายหนู โดยศึกษาผลของสารทดสอบในการทำให้กระเพาะอาหารว่าง และการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหาร และลำไส้ในหนูแรทเพศผู้สายพันธุ์ Sprague-Dawley และการทดสอบในหลอดทดลองโดยใช้ลำไส้เล็กส่วนปลาย (ileum) ที่แยกมาจากหนูตะเภาเพศผู้ ผลการทดลองพบว่าสารสกัดในขนาด 1000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม มีผลลดระยะเวลาในการขนส่งอาหารออกจากกระเพาะอาหาร และยังมีผลกระตุ้นการเคลื่อนไหวของระบบย่อยอาหาร ส่วนการทดลองในลำไส้เล็กส่วนปลายของหนูตะเภาที่แยกออกมา พบว่าสารสกัดที่ความเข้มข้นต่ำ (0.1 นาโนกรัม/มิลลิลิตร) ทำให้เกิดการหดตัวของลำไส้เล็กส่วนปลายของหนูตะเภาที่แยกออกมา แต่อย่างไรก็ตามผลในการกระตุ้นการหดตัวของลำไส้เล็กส่วนปลายของหนูตะเภาจะลดลงอย่างมากที่ความเข้มข้นของสารสกัดที่สูงขึ้น (0.2-1 นาโนกรัม/มิลลิลิตร) จากงานวิจัยนี้จึงสรุปได้ว่าตำรับยาตรีสมอสามารถนำไปใช้เป็นยาระบาย และแก้ท้องร่วงได้ (Wannasiri, et al., 2015)
การศึกษาทางคลินิก:
การศึกษาฤทธิ์ป้องกันฟันผุของสารสกัดน้ำของผลสมอไทย โดยทำการทดลองในตัวอย่างน้ำลาย และทดสอบฤทธิ์ในการป้องกันฟันผุในรูปแบบของน้ำยาบ้วนปาก โดยเตรียมสารสกัดน้ำจากผลของสมอไทย และทำการเจือจางในน้ำกลั่นให้ได้ความเข้มข้น 10% แล้วทดสอบในคนที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดฟันผุ จำนวน 50 คน โดยทำการวัด pH, วัดความสามารถในการสะเทิน (buffering capacity) และวัดปริมาณแบคทีเรีย ก่อนที่จะทำการทดสอบ เมื่อหลังการทดสอบผ่านไป 10 นาที, 30 นาที และ 1 ชั่วโมง พบว่ามีการเพิ่มขึ้นของ pH และความสามารถในการสะเทิน ส่วนปริมาณของแบคทีเรียมีค่าลดลง จากการทดลองนี้จึงแสดงว่าสารสกัดผลของสมอไทย มีประสิทธิภาพในการป้องกันฟันผุได้ (Carounanidy, et al., 2007)
การศึกษาทางพิษวิทยา:
การทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดผลด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (คิดเป็น 1,000 เท่า เปรียบเทียบกับขนาดรักษาในคน) และให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนู ในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตรวจไม่พบอาการเป็นพิษ (กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, 2546)
การทดสอบความเป็นพิษของสารสกัดสมอไทย โดยการให้สารสกัดเอทานอลจากผลสมอไทย ขนาด100-500 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน แก่หนูแรทเพศผู้สายพันธุ์วิสตาร์ ซึ่งจะค่อยๆ เพื่มความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ (graded dose) เป็นเวลา 30 วัน ผลการทดลองพบว่าสารสกัดสมอไทย ไม่มีผลต่อพฤติกรรมของสัตว์ทดลองและหลังจบการทดสอบ สัตว์ทดลองทุกตัวยังรอดชีวิต และไม่พบอาการและอาการแสดง เช่น กระวนกระวาย,หายใจลำบาก, ท้องเสีย, ชัก,ไม่รู้สึกตัว ผลการตรวจเอนไซม์ต่างๆ เช่น aspartate transaminase (AST), alanine transaminase (ALT) และ alkaline phosphatase (ALP) มีค่าปกติ แสดงว่าสารสกัดสมอไทยไม่มีความเป็นพิษเฉียบพลัน (Kumar, et al., 2006)
เอกสารอ้างอิง:
1. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. 2546. ประมวลผลงานวิจัยด้านพิษวิทยา ของสถาบันวิจัยสมุนไพร เล่ม 1.โรงพิมพ์การศาสนา:กรุงเทพมหานคร.
2. Carounanidy U, Satyanarayanan R, Velmurugan A. Use of an aqueous extract of Terminalia chebula as an anticaries agent: A clinical study. Indian Journal of Dental Research. 2007;18(4):152-156.
3. Jirankalgikar YM, Ashok BK, Dwivedi RR. A comparative evaluation of intestinal transit time of two dosage forms of Haritaki [Terminalia chebula Retz]. Ayu. 2012;33(3):447-449.
4. Kumar GPS, Arulselvan P, Kumar DS, Subramanian SP. Anti-diabetic activity of fruits of Terminalia chebula on streptozotocin induced diabetic rats. Journal of health science. 2006;52(3):283-291.
5. Malekzadeh F, Ehsanifar H, Shahamat M, Levin M, Colwell RR. Antibacterial activity of black myrobalan (Terminalia chebula Retz) against Helicobacter pylori. International Journal of Antimicrobial Agents. 2001;18:85-88.
6. Wannasiri S, Jaijoy K, Chiranthanut N, Soonthornchareonnon N, Sireeratawong S. Effect of Tri-sa-maw recipe on gastrointestinal regulation and motility. J Med Assoc Thai. 2015;98(Suppl.2):S1-S7.
ค้นหาข้อมูลพืชที่ให้เครื่องยา: phar.ubu.ac.th/herb-phargarden/
ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/
ข้อมูลตำรับยาธาตุบรรจบ : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/