สมอพิเภก
ชื่อเครื่องยา | สมอพิเภก |
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา | ผล |
ได้จาก | |
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา | สมอพิเภก |
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา) | ลัน สมอแหน แหน แหนขาว แหนต้น สะคู้ |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Terminalia bellirica (Gaertn.) Roxb. |
ชื่อพ้อง | |
ชื่อวงศ์ | Combretaceae |
ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
ผลรูปกลมหรือรี แข็ง กว้างประมาณ 1.5-2 ซม. ยาว 2.5-3 ซม. มีสัน 5 สัน ผิวนอกปกคลุมด้วยขนสีน้ำตาลหนาแน่น เมล็ดเดี่ยวแข็ง ผลอ่อนรสเปรี้ยว ผลแก่รสเปรี้ยวฝาดหวาน(ฝาดสุขุม) เมล็ดในรสฝาด
เครื่องยา สมอพิเภก
เครื่องยา สมอพิเภก
เครื่องยา สมอพิเภก
ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
ปริมาณความชื้นไม่เกิน 11% w/w ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 5% w/w ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรด ไม่เกิน 0.6% w/w ปริมาณสารสกัดเอทานอล ไม่น้อยกว่า 17% w/w ปริมาณสารสกัดเอทานอล(70%) ไม่น้อยกว่า 29% w/w สารสกัดน้ำ ไม่น้อยกว่า 24% w/w ปริมาณแทนนินไม่น้อยกว่า 16% w/w
สรรพคุณ:
ตำรายาไทย: ผลอ่อน แก้ไข้เพื่อเสมหะ และไข้เจือลม เป็นยาระบาย ยาถ่าย ผลแก่ แก้เสมหะจุกคอ ทำให้ชุ่มคอ แก้โรคตา แก้ธาตุกำเริบ บำรุงธาตุ แก้ไข้ แก้ริดสีดวง แก้ท้องร่วงท้องเดิน รักษาโรคท้องมาน เมล็ดใน แก้บิด แก้บิดมูกเลือด
ประเทศพม่า: ใช้ผลแห้งรักษาอาการไอ และโรคตา ในอินโดจีนใช้เป็นยาฝาดสมาน และยาบำรุง ผลสดเป็นยาถ่าย
ตำรายาไทย สมอพิเภกจัดอยู่ใน “พิกัดตรีผลา” คือการจำกัดจำนวนผลไม้ 3 อย่าง มี ลูกสมอพิเภก ลูกสมอไทย ลูกมะขามป้อม สรรพคุณแก้ปิตตะ วาตะ เสมหะ ในกองธาตุ กองฤดู กองอายุ และกองสมุฎฐาน “พิกัดตรีสมอ” คือการจำกัดจำนวนสมอ 3 อย่างมี ลูกสมอพิเภก ลูกสมอไทย ลูกสมอเทศ สรรพคุณแก้เสมหะ บำรุงธาตุ แก้ไข้ ผายธาตุ รู้ถ่ายรู้ปิดเอง
นอกจากนี้บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา ปรากฏการใช้สมอพิเภกในยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) มีส่วนประกอบของสมอพิเภกร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ”ยาหอมนวโกฐ” มีสรรพคุณในการแก้ลมวิงเวียน คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในอก ในผู้สูงอายุ แก้ลมปลายไข้ (หลังจากฟื้นไข้แล้วยังมีอาการ เช่น คลื่นเหียน วิงเวียน เบื่ออาหาร ท้องอืด อ่อนเพลีย)
รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
1. ยาระบายถ่ายท้อง ใช้ผลอ่อน 2-3 ผล ต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว ใส่เกลือเล็กน้อย รับประทานครั้งเดียว
2. แก้ท้องร่วง ท้องเดิน ใช้ผลแก่ 2-3 ผล ต้มกับน้ำ 2 ถ้วยแก้ว ใส่เกลือเล็กน้อย เคี่ยวจนเหลือ 1 ถ้วยแก้ว รับประทาน
องค์ประกอบทางเคมี:
chebulagic acid, ellagic acid, gallic acid, chebulagic acid
การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
ฤทธิ์ควบคุมการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหาร
การศึกษาผลของยาตรีสมอต่อการควบคุมและการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหาร ซึ่งตำรับยาตรีสมอประกอบด้วยพืชทั้งสิ้น 3 ชนิด คือสมอพิเภก สมอไทย และสมอเทศ ในอัตราส่วนที่เท่ากัน โดยทำการทดลองทั้งในหลอดทดลอง และในร่างกายหนูทดลอง ทำการทดสอบผลในร่างกายหนู โดยศึกษาผลของสารทดสอบในการทำให้กระเพาะอาหารว่าง และการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหาร และลำไส้ในหนูแรทเพศผู้สายพันธุ์ Sprague-Dawley และการทดสอบในหลอดทดลองโดยใช้ลำไส้เล็กส่วนปลาย (ileum) ที่แยกมาจากหนูตะเภาเพศผู้ ผลการทดลองพบว่าสารสกัดในขนาด 1000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม มีผลลดระยะเวลาในการขนส่งอาหารออกจากกระเพาะอาหาร และยังมีผลกระตุ้นการเคลื่อนไหวของระบบย่อยอาหาร ส่วนการทดลองในลำไส้เล็กส่วนปลายของหนูตะเภาที่แยกออกมา พบว่าสารสกัดที่ความเข้มข้นต่ำ (0.1 นาโนกรัม/มิลลิลิตร) ทำให้เกิดการหดตัวของลำไส้เล็กส่วนปลายของหนูตะเภาที่แยกออกมา แต่อย่างไรก็ตามผลในการกระตุ้นการหดตัวของลำไส้เล็กส่วนปลายของหนูตะเภาจะลดลงอย่างมากที่ความเข้มข้นของสารสกัดที่สูงขึ้น (0.2-1 นาโนกรัม/มิลลิลิตร) จากงานวิจัยนี้จึงสรุปได้ว่าตำรับยาตรีสมอสามารถนำไปใช้เป็นยาระบาย และแก้ท้องร่วงได้ (Wannasiri, et al., 2015)
การศึกษาทางคลินิก:
ไม่มีข้อมูล
การศึกษาทางพิษวิทยา:
การทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดผลด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (คิดเป็น 1,515 เท่า เปรียบเทียบกับขนาดรักษาในคน) ตรวจไม่พบอาการเป็นพิษ และเมื่อให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนู ในขนาด 1 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมพบว่าขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่ง (LD50) เท่ากับ 6.156 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, 2546)
เอกสารอ้างอิง:
1. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. 2546. ประมวลผลงานวิจัยด้านพิษวิทยา ของสถาบันวิจัยสมุนไพร เล่ม 1.โรงพิมพ์การศาสนา:กรุงเทพมหานคร.
2. Wannasiri S, Jaijoy K, Chiranthanut N,Soonthornchareonnon N, Sireeratawong S.Effect of Tri-sa-maw recipe on gastrointestinal regulation and motility. J Med Assoc Thai. 2015;98(Suppl.2): S1-S7.