ส้มโอ

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ส้มโอ

ชื่อเครื่องยา ส้มโอ
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา
ได้จาก เปลือกผล
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา ส้มโอ
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา) โกรัยตะลอง มะขุน มะโอ ส้มมะโอ ลีมาบาลี สังอู
ชื่อวิทยาศาสตร์ Citrus grandis (L.) Osbeck
ชื่อพ้อง C.maxima (Burm.f.) Merr., Citrus aurantium L. var. grandis L., C. pamplemos Risso., Aurantium maxima
ชื่อวงศ์ Rutaceae

ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
           ผลรูปทรงกลมหรือรูปแพร์ เส้นผ่านศูนย์กลาง 11-17 ซม. บริเวณขั้วผลนูนขึ้นเป็นกระจุก ผลอ่อนมีสีเขียวพอแก่มีสีเขียวอมเหลือง เปลือกผลหนา 1-2 ซม. ผิวผลเรียบ มีต่อมน้ำมันมาก ข้างในมีเยื่อสีขาวหรือสีชมพู ลักษณะหยุ่นนุ่มรสหวานหรือขมเล็กน้อยกั้นเนื้อผลที่เป็นถุงน้ำ  เปลือกผล มีรสขมเฝื่อน ปร่า หอมร้อน

 

เครื่องยา ผิวส้มโอ

 

เครื่องยา ผิวส้มโอ

 

เครื่องยา ผิวส้มโอ

 


ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
        
   ปริมาณน้ำไม่เกิน 11% v/w, ปริมาณเถ้ารวม ไม่เกิน 5 % v/w, ปริมาณสาร naringin ไม่น้อยกว่า 3.5 % v/w (เภสัชตำรับจีน)
 
สรรพคุณ:
           เปลือกผล มีรสปร่าหอม แก้ลมวิงเวียน หน้ามืด ตาลาย ใจสั่น ช่วยขับลม ขับเสมหะ แก้อึดอัด แก้จุกแน่นหน้าอก แก้ไอ แก้ปวดท้องน้อยและไส้เลื่อน แก้ลมในกองลมป่วง แก้ลมในกอง แก้จุกเสียดแน่นเฟ้อ แก้อาเจียน  ตำพอกฝี ปรุงยาหอมแก้ลมวิงเวียน หน้ามืด ตาลาย ใจสั่น แก้ลม ท้องขึ้นอืดเฟ้อ ต้มน้ำอาบแก้คัน รักษาโรคผิวหนังจำพวกลมพิษ
           ประเทศจีน: ใช้เป็นยาแก้ธาตุไม่ปกติ และแก้ไอ ผสมในยาหอมกินแล้วทำให้ชื่นใจ
           ตำรายาไทย: ผิวส้มโอ จัดอยู่ใน “เปลือกส้ม 8 ประการ” ประกอบด้วย ผิวส้มโอ ผิวส้มเขียวหวาน ผิวส้มจีน ผิวส้มซ่า ผิวส้มตรังกานู ผิวมะงั่ว ผิวมะนาว หรือผิวส้มโอมือ และผิวมะกรูด มีสรรพคุณแก้ลมกองละเอียด กองหยาบ แก้เสมหะโลหะ ใช้ปรุงยาหอม แก้ทางลม
           นอกจากนี้บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา (ฉบับที่ 5)    ปรากฏการใช้ผิวส้มโอ ในยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) ปรากฏตำรับ”ยาหอมเทพจิตร” มีส่วนประกอบของผิวส้มโอ อยู่ใน ”เปลือกส้ม 8 ประการ” ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณในการแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง บำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
           ใช้รักษาโรคลมพิษที่ผิวหนัง ใช้เปลือกผลครั้งละ 0.5-1 ผล หั่นเป็นชิ้นๆ ต้มกับน้ำอาบ หรือทาบ่อยๆบริเวณที่เป็น

           ขนาดการใช้ทั่วไป กำหนดในเภสัชตำรับจีนเท่ากับ 3-6 กรัม


องค์ประกอบทางเคมี:
           acridone, acronycine, anthranilate, apigenin, bergamottin, camphor, citral, hesperidine, limonene, limonin, linalool, myricetin, naringenin, nerol, nomilin, pinene, quercetin, rutin, scopoletin, umbelliferone สารขมในเปลือกชื่อ naringin

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
           ต้านเชื้อรา ต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านไวรัส ฆ่าแลง ฆ่าเห็บวัว ยับยั้งเอนไซม์ cyclooxygenase ลดการอักเสบ ยับยั้งการทำงานของต่อมไทรอยด์ ยับยั้งการกลายพันธุ์ ต้านออกซิเดชัน ขับเสมหะ แก้ไอ เพิ่มปริมาณน้ำนมในวัว เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง

การศึกษาทางคลินิก:
           ไม่มีข้อมูล

การศึกษาทางพิษวิทยา:
           ไม่มีข้อมูล

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 83
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่