หม่อน

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

หม่อน

ชื่อเครื่องยา หม่อน
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา
ได้จาก ใบ
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา หม่อน
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา) มอน (ตะวันออกเฉียงเหนือ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Morus alba L.
ชื่อพ้อง
ชื่อวงศ์ Moraceae

ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
           ใบ รูปไข่ หรือรูปไข่กว้าง ขอบเรียบหรือหยักเว้าเป็นพู ขึ้นกับพันธุ์ กว้าง 8-14 เซนติเมตร ยาว 12-16 เซนติเมตร ผิวใบสากคาย ปลายเรียวแหลมยาว ฐานใบกลม หรือรูปหัวใจ หรือค่อนข้างตัด ใบอ่อนขอบจักเป็นพูสองข้างไม่เท่ากัน ขอบพูจักเป็นซี่ฟัน เส้นใบมี 3 เส้น ออกจากโคนยาวไปถึงกลางใบ และเส้นใบออกจากเส้นกลางใบ 4 คู่ เส้นร่างแหเห็นชัดด้านล่าง ใบสีเขียวเข้ม  ผิวใบสากคาย ใบ มีรสจืดเย็น ฝาดและขมเล็กน้อย มีกลิ่นอ่อนๆ

 

เครื่องยา ใบหม่อน

 

เครื่องยาื ใบหม่อน

 

เครื่องยา ใบหม่อน

 


ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
           ปริมาณความชื้นไม่เกิน 11% w/w  ปริมาณสิ่งแปลกปลอมไม่เกิน 2% w/w  ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 11% w/w  ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรด ไม่เกิน 5% w/w  ปริมาณสารสกัดเอทานอล ไม่น้อยกว่า 4% w/w  สารสกัดน้ำ ไม่น้อยกว่า 17% w/w  
 
สรรพคุณ:
           ยาพื้นบ้าน: ใช้ ใบ รสจืดเย็น เป็นยาขับเหงื่อ แก้ไข้ แก้ตัวร้อน แก้ร้อนในกระหายน้ำ ทำยาต้มใช้อมแก้เจ็บคอ และทำให้เนื้อเยื่อชุ่มชื้น แก้ไอ ระงับประสาท หรือต้มเอาน้ำล้างตา แก้ตาแดง แฉะ ฝ้าฟาง ใบแก่ ตากแห้งมวนสูบเหมือนบุหรี่ แก้ริดสีดวงจมูก ใบ แก้ไอ ระงับประสาท หรือต้มเอาน้ำล้างตา แก้ตาแดง แฉะฝ้าฟาง ใบ ใช้ทำชามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ใบ น้ำต้มและยาชง มีฤทธิ์เป็นยาชะล้าง ใช้ล้างตาแก้ตาอักเสบ ใบอังไฟและทาด้วยน้ำมันมะพร้าวใช้วางบนแผล หรือตำใช้ทาแก้แมลงกัด เป็นยาขับเหงื่อ แก้ไอ ยาหล่อลื่นภายนอก น้ำต้มใบใช้กลั้วคอแก้เจ็บคอ ใช้ล้างตา แก้อาการติดเชื้อ ผสมกับหอมหัวใหญ่เป็นยาพอก รักษาแผลจากการนอนกดทับ
           ในจีน: ใช้ เปลือกราก กิ่งอ่อน ใบ ผล เป็นยาบำรุง แก้โรคเกี่ยวกับทรวงอก ขับปัสสาวะ แก้ไอ หืด วัณโรคปอด การสะสมน้ำในร่างกายผิดปกติ โรคปวดข้อ เปลือกต้น เป็นยาถ่าย และยาขับพยาธิ

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
           ใบ 5-9 กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม แก้อาการปวดศีรษะ ตาลาย และเวียนศีรษะ

           ขนาดยาทั่วไป 5-10 กรัม ต่อวัน

องค์ประกอบทางเคมี:
          ใบ มี สารกลุ่มฟลาโวนอยด์ ได้แก่ rutin, quercetin, quercitrin, moracetin, morin, albafuran C, aromadendrin, astragalin, chalcomoracin, kaempferol, kuwanol, kuwanon  สารกลุ่มอัลคาลอยด์ ได้แก่ fagomine, nojirimycin, calystegin B-2, 1-deoxy ribitol, zeatin riboside  สารกลุ่มคูมาริน ได้แก่ bergapten, marmesin, scopoletin, umbelliferone สารกลุ่มลิกแนน ได้แก่ broussonin A, broussonin B

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
           ลดน้ำตาลในเลือด ขับปัสสาวะ ลดความดันโลหิต บำรุงผิว กำจัดหอยทาก
           ฤทธิ์ควบคุมภาวะเลือดมีน้ำตาลมากเกินหลังอาหาร

           สารสกัดใบหม่อนด้วยเอทานอลมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ disaccharidase ในลำไส้เล็ก ทั้งในหนูแรทปกติและหนูเบาหวาน โดยทำให้การย่อยสลายน้ำตาลเชิงซ้อนช้าลง และการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือดช้าลง เป็นผลให้ระดับกลูโคสหลังอาหารลดต่ำลง ใกล้เคียงกับการให้ยามาตรฐาน

 

การศึกษาทางคลินิก:
           ลดอาการปวดศีรษะ ตัวร้อน เป็นไข้ ไอ และเจ็บคอ

การศึกษาทางพิษวิทยา:
           เมื่อฉีดสารสกัดใบหม่อน 10% เข้าช่องท้องหนูถีบจักร ขนาด 60 เท่า ของขนาดที่ใช้ในคนเป็นเวลาติดต่อกัน 21 วัน ไม่พบอาการพิษ และเมื่อให้ในขนาดสูงเกิน 250 เท่า ของขนาดที่ใช้ในคน พบว่ามีพิษต่อตับ ไต และปอด สารสกัดใบหม่อน ไม่ทำให้เกิดอาการระคายเคือง ไม่ทำลายเม็ดเลือด และไม่ทำให้เกิดอาการแพ้

 

ค้นหาข้อมูลพืชที่ให้เครื่องยา : phar.ubu.ac.th/herb-phargarden/

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง :            phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 13
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่