หอมแดง

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

หอมแดง

ชื่อเครื่องยา หอมแดง
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา หอมหัวแดง
ได้จาก ลำต้นใต้ดิน
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา หอมแดง
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา) หอมแกง (ภาคกลาง ภาคใต้) หอมไทย หอมเล็ก หอมหัว (ภาคกลาง) หอมหัวขาว หอมบัว หอมปั่ว (พายัพ) ผักบั่ว (อีสาน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Allium ascalonicum L.
ชื่อพ้อง Allium carneum Willd., Allium fissile Gray, Allium hierochuntinum Boiss., Porrum ascalonicum
ชื่อวงศ์ Amaryllidaceae

ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
           ลำต้นเป็นหัวอยู่ใต้ดิน รูปไข่ สีแดงหรือสีขาว กว้าง 1-4 ซม.  ยาว 1.5-5 ซม. เป็นโคนใบสะสมอาหาร พองออกเรียงซ้อนกันเป็นรูปทรงค่อนข้างกลม มีเยื่อสีแดงอมม่วงบางๆหุ้ม เนื้อภายในสีม่วงอ่อน ลำต้นเป็นเหง้าเล็กๆติดที่ฐานใบ หัวหนึ่งมี 1-2 กลีบ หัวมีกลิ่นฉุน รสเผ็ดร้อน

 

เครื่องยา หอมแดง

 

เครื่องยา หอมแดง

 

เครื่องยา หอมแดง

 

เครื่องยา หอมแดง

 


ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
          ปริมาณความชื้นไม่เกิน 87% w/w  ปริมาณสิ่งแปลกปลอมไม่เกิน 2% w/w  ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 1% w/w 

สรรพคุณ:
           ตำรายาแผนโบราณ: ใช้หัวแก่จัดๆ กินเป็นยาขับลมในลำไส้  แก้ปวดท้อง  บำรุงธาตุ  แก้หวัดคัดจมูก  ใช้หัวตำสุมหัวเด็กแก้หวัด  ตำผสมพิมเสนและเปราะหอมพอกกระหม่อมเด็กไว้ราว 1 ชม.  แก้หวัดคัดจมูกขยี้ดมแก้ซางชัก  สลบ แก้ไข้เพื่อเสมหะ  อันครืดคราดอยู่ในทรวงอก  แก้ไข้ลดความร้อน แก้ไอ  บำรุงผมให้งอกงาม  ทำเนื้อหนังให้สดชื่น  แก้ไข้ที่ทำให้ร้อนใน  ปวดกระบอกตา  แสบร้อนตา  น้ำตาไหล  ขับเสมหะ ขับปัสสาวะ ขับประจำเดือน แก้โรคปากคอ ฆ่าเชื้อโรค ใช้ภายนอกแก้ลมพิษ ทาแก้สิว แก้พิษแมลงกัด ทาแก้อาการปวดบวมตามข้อ ทำให้ระบบย่อยอาหารดี เจริญอาหาร ทำให้ความดันโลหิตต่ำ ลดไขมันในเลือด แก้อาการอักเสบต่างๆ  น้ำหัวหอมใช้ดมเวลาเป็นลม  เป็นยาบำรุงหัวใจ  และหยอดหูแก้ปวดหู  เมื่อนำมาย่างไฟใช้พอกแผลฝี  แผลช้ำ  ใช้ได้ทั้งกินทั้งทาภายนอก   น้ำหัวหอมเป็นยาบำรุงกำหนัด
           ตำรายาไทย: ใช้หัวหอมสด ประมาณ 15-30 กรัม นำมาต้มเอาน้ำดื่ม เป็นยาแก้ท้องอืดแน่น แก้บวมน้ำ ขับพยาธิ  ปวดหลังบริเวณเอว ปวดประจำเดือน แก้ไข้ ขับลม ทำให้ร่างกายอบอุ่น
           ตำรับยาสมุนไพรล้านนา: มีการใช้หัวหอมแดง ในตำรับ “ยาเลือดขึ้น” (ยารักษาโรคความดัน) ให้เอาเทียนทั้ง 5 (เทียนดำ เทียนแดง เทียนขาว เทียนข้าวเปลือก และเทียนตาตั๊กแตน) ขิง หอมแดง พริกไทย ใบตาล นำมาคั่วให้เหลือง แล้วบดผสมกัน แล้วนำไปสูบ ถ้าสูบไม่ได้ ให้ทำหลอดพ่นเข้ารูจมูก จะหายค่าคำนับครูมี 5 บาทถ้วน

           บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ระบุการใช้หัวหอมแดงในตำรับ "ยาประสะไพล" มีส่วนประกอบของหัวหอมแดงร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณรักษาระดูมาไม่สม่ำเสมอหรือมาน้อยกว่าปกติ บรรเทาอาการปวดประจำเดือน  และขับน้ำคาวปลาในหญิงหลังคลอดบุตร

รูปแบบ และขนาดวิธีใช้ยา:

           ขนาดยาทั่วไป ใช้ 15-30 กรัม ต้มน้ำ

           1.แก้หวัดคัดจมูก ใช้หัว 2-4 หัว ทุบพอบุบ ห่อผ้าขาวบางวางไว้บนหัวนอน
           2.แก้พิษแมลงสัตว์ กัดต่อย ใช้หัวประมาณ 1 หัว ขยี้หรือตำให้แหลกแล้วนำมาทา

องค์ประกอบทางเคมี:
           หัวหอมมีน้ำมันระเหยง่ายที่มีกำมะถัน diallyl disulphide เป็นองค์ประกอบ  มีธาตุฟอสฟอรัสสูง

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

ฤทธิ์ต้านอักเสบ

       ทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบของส่วนสกัดหัวหอมแดงในเอทานอลในหลอดทดลอง ทำการทดสอบความมีชีวิตรอดของเซลล์ด้วยวิธี 3-[4,5-dimethylthiazol-2-yl]-2,5-dyphenyl tetra-zolium bromide (MTT) ศึกษาผลของส่วนสกัดต่อการแสดงออกของยีนที่เป็นสื่อกลางการอักเสบได้แก่ inducible nitric oxide synthase (iNOS), cyclooxygenase (COX)-2, COX-1, tumor necrosis factor (TNF)-α, interleukin (IL)-1β และ IL-6 ในเซลล์เพาะเลี้ยงมาโครฟาจ (RAW 264.7) ที่ได้รับการกระตุ้นด้วยสาร Lipopolysaccharide (LPS) โดยวัดปริมาณยีนที่แสดงออกด้วยวิธี reverse transcription polymerase chain reaction (RT-PCR) วิเคราะห์หาปริมาณฟีนอลรวม และฟลาโวนอยด์รวม ของส่วนสกัดโดยใช้ปฏิกิริยาการเกิดสีกับสาร Folin-Ciocalteu และสารอลูมิเนียมคลอไรด์ ตามลำดับ ผลการศึกษาพบว่าที่ความเข้มข้น 62.5, 125 และ 250 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ส่วนสกัดหอมแดงในเอทานอลไม่มีความเป็นพิษต่อเซลล์ และมีฤทธิ์ยับยั้งการแสดงออกของยีนที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบได้แก่ iNOS, TNF-α, IL-1β และ IL-6 เพิ่มขึ้นตามความเข้มข้น ส่วนสกัดหอมแดงไม่มีผลต่อการแสดงออกของยีน COX-2 แต่ยับยั้งการแสดงออกของยีน COX-1 อย่างมีนัยสำคัญ โดยมีปริมาณสารฟีนอลรวมคิดเป็น 15.964±0.122 สมมูลกับกรดแกลลิก/กรัม และมีปริมาณสารฟลาโวนอยด์รวม 11.742 ±0.012 มก. สมมูลกับสารเคอร์ซิทิน/กรัม (Werawattanachai, et al, 2015)

ฤทธิ์ปกป้องตับและไต

       การศึกษาความสามารถในการป้องกันความเสียหายของตับและไตจากการติดเชื้อมาลาเรีย โดยเตรียมสารสกัดหอมแดงอย่างหยาบด้วยน้ำ จากนั้นนำไปทดสอบฤทธิ์ในหนูถีบจักร สายพันธุ์ ICR ที่ติดเชื้อมาลาเรีย Plasmodium berghei  ANKA ปริมาณ 6x106เซลล์ ต่อหนูทดลอง โดยให้หนูทดลองได้รับสารสกัดทางหลอดอาหารวันละครั้ง เป็นเวลา 4 วันติดต่อกัน และทำการตรวจวัดค่าบ่งชี้ความเสียหาย ได้แก่ ระดับเอนไซม์ตับ aspartate aminotransferase (AST), alanine aminotransferase (ALT) และตัวบ่งชี้การทำงานของไต ได้แก่ blood urea nitrogen (BUN) และ creatinine โดยใช้ชุดตรวจสำเร็จรูป ผลการทดลองพบว่าความเข้มข้นสูงสุดของสารสกัดหอมแดงที่ไม่ก่อให้เกิดความเป็นพิษ คือ 3,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และในขณะที่มีการติดเชื้อมาลาเรียนั้นจะพบความเสียหายของตับ และไตเกิดขึ้นในวันที่ 10 หลังจากติดเชื้อโดยดูได้จากระดับของ AST, ALT, BUN และ creatinine ที่สูงที่สุด แต่สารสกัดหอมแดงที่ขนาด 3,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม สามารถป้องกันความเสียหายของตับและไต จากการติดเชื้อมาลาเรียได้โดยดูจากตัวบ่งชี้ที่มีระดับปกติ จากผลการศึกษาสามารถสรุปได้ว่าสารสกัดหอมแดงมีฤทธิ์ป้องกันความเสียหายของตับและไตจากการติดเชื้อมาลาเรียในหนูทดลองได้ (วรวุฒิ และคณะ, 2558)


การศึกษาทางคลินิก:
           ไม่มีข้อมูล

 

อาการไม่พึงประสงค์:
           น้ำมันนี้มีรสเผ็ดร้อน  ทำให้เคืองตา  แสบจมูก  และอาจทำให้ผิวหนังปวดแสบปวดร้อน
           ตำรายาไทยกล่าวว่า หัวหอม ไม่ควรกินมากเกินไป หรือกินเป็นประจำ เพราะอาจทำให้ประสาทเสีย ทำให้หลงลืมได้ง่าย ทำให้มีกลิ่นตัว ฟันเสีย เลือดน้อย และตาฝ้ามัวไม่แจ่มใส


การศึกษาทางพิษวิทยา:

          ไม่มีข้อมูล

 

เอกสารอ้างอิง:

1. วรวุฒิ สมศักดิ์, สุกัญญา ชาชิโย, สมเดช ศรีชัยรัตนกูล, ชัยรัตน์ อุทัยพิบูลย์. ฤทธิ์ของสารสกัดหอมแดงต่อความเสียหายของตับและไตจากการติดเชื้อมาลาเรีย Plasmodium berghei ในหนูทดลอง. การประชุมหาดใหญ่วิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 6, วันที่ 26 มิถุนายน 2558 ณ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ จ.สงขลา.

2. Werawattanachai N, Kaewamatawong R, Junlatat J, Sripanidkulchai B. Anti-Inflammatory potential of ethanolic bulb extract of Allium ascalonicum. Journal of Science & Technology, Ubon ratchathani University. 2015;17(2):63-68.

 

ข้อมูลตำรับยาประสะไพล:  phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 101
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่