หอยขม
ชื่อเครื่องยา | หอยขม |
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา | หอยจุ๊บ |
ได้จาก | เปลือกหอยขม |
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา | |
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา) | |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Filopaludina sumatrensis Dunker. |
ชื่อพ้อง | |
ชื่อวงศ์ | Viviparidae |
ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
เป็นหอยน้ำจืดชนิดฝาเดียวขนาดเล็ก ยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร รูปร่างเป็นกระเปาะเกือบเป็นทรงกลม มีเปลือกเกลียวกลมยอดแหลม เปลือกหนาและแข็ง ผิวชั้นนอกเป็นสีเขียวแก่ ฝาปิดเปลือกเป็นแผ่นกลม ตีนใหญ่ จงอยปากสั้นทู่ ตามีสีดำอยู่ตรงกลางระหว่างโคนหนวด หอยขมมีอวัยวะเพศทั้งเพศผู้และเพศเมียอยู่ในตัวเดียวกัน ออกลูกเป็นตัว เปลือกที่เผาแล้วมีรสกร่อย
เครื่องยา เปลือกหอยขม
เครื่องยา เปลือกหอยขม
เครื่องยา เปลือกหอยขม
ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
ไม่มีข้อมูล
สรรพคุณ:
เปลือก ขับลมในลำไส้ ล้างลำไส้ แก้กระษัย ขับนิ่ว ขับปัสสาวะ แก้ไตพิการ บำรุงกระดูก
ตำรายาไทย: หอยขม จัดอยู่ใน “พิกัดเนาวหอย” คือการจำกัดจำนวนเปลือกหอย 9 ชนิดที่ใช้ในการปรุงยา คือ เปลือกหอยกาบ เปลือกหอยขม เปลือกหอยแครง เปลือกหอยนางรม เปลือกหอยพิมพการัง เปลือกหอยตาวัว เปลือกหอยจุ๊บแจง เปลือกหอยมุก และเปลือกหอยสังข์หนาม สรรพคุณ หอยทั้งเก้า เอามาเผาไฟให้สุกดี จะได้ “ปูนหอย” ใช้เป็นยาแก้กรดในกระเพาะอาหาร ขับลมในลำไส้ แก้จุกเสียดแน่นท้อง ทำให้มีลมผายและลมเรอ ล้างลำไส้ แก้กระษัย ขับนิ่ว ขับปัสสาวะ แก้ไตพิการ บำรุงกระดูก
ในคัมภีร์กระษัย: กล่าวถึงโรคกระษัยที่ทำให้เกิดความเสื่อมโทรมของร่างกาย คือ “กระษัยล้น” เกิดเพราะน้ำเหลือง ให้ใช้กระดูกโคเผา หอยกาบเผา หอยแครงเผา หอยขมเผา หอยอีรมเผา หอยมือเสือ หอยพิมพการังเผา หอยนมนางเผา เบญจกูล สิ่งละ 1 ส่วน พริกไทย 25 ส่วน ทำเป็นผง บดทำแท่งไว้ สรรพคุณแก้กระษัยล้น ให้ธาตุปูน ลดกรดในกระเพาะอาหาร ขับลม แก้จุกเสียดแน่น บำรุงไฟธาตุ
ในคัมภีร์ธาตุวิภังค์: มียาแก้เส้นเอ็นกำเริบและพิการ ดังนี้ เอาเปลือกหอยโข่ง เปลือกหอยขม เปลือกหอยนางรม เปลือกหอยกาบ กาบหอยแครง กาบหอยตาวัว กาบหอยพิมพการัง หอยสังข์ หอยมุก กระดูกวัว กระดูกเสือ กระดูกแพะ กระดูกเลียงผา ยาทั้งหมดนี้เผาให้ไหม้ เอาสิ่งละ 1 ส่วน
นอกจากนี้ยังมีการใช้เปลือกหอยขม ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆในตำรับ อีกหลายขนานเช่น รักษา “กระษัยจุก” มีหอยขมเผา เป็นส่วนประกอบร่วมกับพืชวัตถุ สัตว์วัตถุ และหอยชนิดอื่นๆอีก สรรพคุณ ขับลม ล้างลำไส้ ขับปัสสาวะ รักษา “กระษัยไฟ” มีหอยขม เป็นส่วนประกอบร่วมกับพืชวัตถุ และหอยชนิดอื่นๆอีก มีสรรพคุณ แก้ไจ้ บำรุงกำลัง ขับลม ขับปัสสาวะ ล้างลำไส้ แก้ท้องร่วง สมานลำไส้
ในคัมภีร์อติสารและยาแก้บิด: ว่าด้วยอาการไข้ และยาแก้ไข้ ชื่อ “ยามหานิลแท่งทอง” มีส่วนผสมของเปลือกหอยขม ร่วมกับ พืชวัตถุ สัตว์วัตถุอื่นๆ
ในคัมภีร์มุจฉาปักขันทิกา: ยาแก้โทษสันทฆาตหรือภาวะอาการโลหิตจาง มีหอยขม ร่วมกับส่วนประกอบพืชวัตถุ ธาตุวัตถุอื่นๆ
รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
การปรุงยาจากเปลือกหอย ต้องทำการ “สะตุหอย” โดยการนำเปลือกหอยที่ใช้เป็นยามาใส่ในหม้อดินแล้วตั้งไฟ ตั้งไฟไปเรื่อยๆ จนเปลือกหอยสุกเป็นสีขาว เผาจนเป็นผง หรือนำมาตำให้ละเอียด แล้วร่อนเอาผงที่ละเอียดมาปรุงเป็นยา
องค์ประกอบทางเคมี:
ที่เปลือกมี Calcium carbonate (CaCO3) เปลือกที่เผาแล้วจะเกิดเป็น แคลเซียมออกไซด์ (CaO)
การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
ไม่มีข้อมูล
การศึกษาทางคลินิก:
ไม่มีข้อมูล
การศึกษาทางพิษวิทยา:
ไม่มีข้อมูล