อบเชย

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

อบเชย

ชื่อเครื่องยา อบเชย
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา
ได้จาก เปลือกต้นชั้นใน
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา อบเชย
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา) อบเชยต้น มหาปราบ เซียด ฝักดาบ พญาปราบ ฮักแกง สุรามริด โมง โมงหอม เคียด กะทังหัน
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cinnamomum spp.
ชื่อพ้อง
ชื่อวงศ์ Lauraceae

ชื่อวิทยาศาสตร์         Cinnamomum  spp.
           1. อบเชยเทศ  หรือ  อบเชยลังกา  (Cinnamomum  verum J. Presl.) มีชื่อพ้อง  Cinnamomum zeylanicum  Nees.
           2. อบเชยไทย   (Cinnamomum  bejolghotha (Buch-Ham.)Sweet หรือได้จาก Cinnamomum iners  Reinw. Ex Blume.
           3. อบเชยญวน  (Cinnamomum  loureirii  Nees.)  
           4. อบเชยจีน  (Cinnamomum  aromaticum  Nees, C. cassia Blume.)  
           5. อบเชยชวา  (Cinnamomum  burmannii  (Nees.) Blume.)  
     
ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
           อบเชยเป็นเครื่องยา และเครื่องเทศ ที่ได้จากการขูดเอาเปลือกชั้นนอกออกให้หมด  แล้วลอกเปลือกชั้นในออกจากแก่นลำต้น โดยใช้มีดกรีดตามยาวของกิ่ง แล้วรวบรวมนำไปผึ่งที่ร่มสลับกับการนำออกตากแดดประมาณ 5 วัน  ขณะตากใช้มือม้วนขอบทั้งสองข้างเข้าหากัน  จนเปลือกแห้งจึงมัดรวมกัน เปลือกอบเชยที่ดีจะมีสีน้ำตาลอ่อน(สีสนิม) มีความตรงและบางสม่ำเสมอ ยาวประมาณ 1 เมตร มีกลิ่นหอมเฉพาะ รสสุขุม เผ็ด หวานเล็กน้อย

 

เครื่องยา อบเชย

 

เครื่องยา อบเชย

 

เครื่องยา อบเชย

 


ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
           ข้อกำหนดของอบเชยเทศ ตาม WHO กำหนด คือ ปริมาณสิ่งแปลกปลอมไม่เกิน 2% w/w  ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 6% w/w  ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรด ไม่เกิน 4.0% w/w  ปริมาณสารสกัดด้วยเอทานอล (90%) ไม่น้อยกว่า 14-16% w/w  ปริมาณน้ำมันระเหยง่าย ไม่น้อยกว่า 1.2% v/w  

สรรพคุณ:
           ตำรายาไทย: น้ำต้มเปลือกต้น ดื่มแก้ตับอักเสบ อาหารไม่ย่อย แก้ท้องเสีย ลำไส้เล็กทำงานผิดปกติ ขับพยาธิ มีสรรพคุณบำรุงดวงจิต  แก้อ่อนเพลีย  ชูกำลัง  ขับผายลม  บำรุงธาตุ  แก้บิด  แก้ลมอัณฑพฤกษ์   แก้ไข้สันนิบาต   ใช้ปรุงเป็นยานัตถุ์แก้ปวดหัว รับประทานแก้เบื่ออาหาร  แก้จุกเสียด แน่นท้อง อาหารไม่ย่อย  แก้ไอ  แก้ไข้หวัด  ลำไส้อักเสบ  ท้องเสียในเด็ก  อาการหวัด  ปวดปะจำเดือน แก้อ่อนเพลีย  คลื่นไส้อาเจียน  แก้ปวดประจำเดือน  ห้ามเลือด บดเป็นผงโรยแผลกามโรค สมานแผล
           อบเชยมีการนำมาใช้ในพิกัดยาไทย คือ “พิกัดตรีธาตุ” ประกอบด้วย กระวาน ดอกจันทน์ และอบเชย เป็นยาแก้ธาตุพิการ แก้ลม แก้เสมหะ แก้ไข้  “พิกัดตรีทิพย์รส” คือการจำกัดจำนวนของที่มีรสดี 3 อย่าง คือโกฐกระดูก เนื้อไม้ และอบเชยไทย มีสรรพคุณบำรุงธาตุ บำรุงกระดูก บำรุงตับปอดให้เป็นปกติ แก้ลมในกองเสมหะ บำรุงโลหิต “พิกัดจตุวาตะผล” คือการจำกัดจำนวนตัวยาแก้ลม ประกอบด้วยผล 4 อย่าง คือ เหง้าขิงแห้ง กระลำพัก อบเชยเทศ และโกฐหัวบัว มีสรรพคุณแก้ไข้ แก้พรรดึก แก้ตรีสมุฏฐาน ขับผายลม บำรุงธาตุ แก้ลมกองริดสีดวง “พิกัดทศกุลาผล” คือการจำกัดจำนวนตัวยาตระกูลเดียวกัน 10 อย่าง มีชะเอมทั้ง 2 (ชะเอมไทย ชะเอมเทศ) ลูกผักชีทั้ง 2 (ผักชีล้อม ผักชีลา) อบเชยทั้ง 2 (อบเชยไทย อบเชยเทศ) ลำพันทั้ง 2 (ลำพันแดง ลำพันขาว) ลูกเร่วทั้ง 2 (เร่วน้อย เร่วใหญ่) มีสรรพคุณ แก้ไข้เพื่อดีและเสมหะ ขับลมในลำไส้ บำรุงธาตุ บำรุงปอด แก้รัตตะปิตตะโรค แก้ลมอัมพฤกษ์ อัมพาต บำรุงกำลัง บำรุงดวงจิตให้แช่มชื่น แก้ไข้

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
           ไม่มีข้อมูล

องค์ประกอบทางเคมี:
           น้ำมันหอมระเหยที่เป็นองค์ประกอบหลักคือ cinnamaldehyde ประมาณ 51-76% พบ eugenol เล็กน้อยประมาณ 5-18%

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
           ต้านแบคทีเรียและเชื้อรา แก้ปวดและต้านอักเสบ ต้านออกซิเดชั่น ต้านมะเร็งเม็ดเลือดขาว ลดความดัน ลดการหดเกร็งของหลอดลม ลำไส้เล็ก  ลำไส้ใหญ่ และกระเพาะอาหาร ช่วยให้แผลหายเร็วขึ้นในหนู ลดน้ำตาลและไขมันในเลือดหนู มีฤทธิ์ต้านมะเร็ง

การศึกษาทางคลินิก:
           ไม่มีข้อมูล

การศึกษาทางพิษวิทยา:
           การทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดเปลือกอบเชยญวณด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (คิดเป็น 926 เท่า เปรียบเทียบกับขนาดรักษาในคน) และให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนู ในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตรวจไม่พบอาการเป็นพิษ

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 200
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่