ผักชีลา

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ผักชีลา

ชื่อเครื่องยา ผักชีลา
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา
ได้จาก ผล
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา ผักชีลา
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา) ผักชี ผักหอมป้อม ผักหอม ผักหอมน้อย ยำแย้ ผักชีไทย ผักชีหอม
ชื่อวิทยาศาสตร์ Coriandrum sativum L.
ชื่อพ้อง Bifora loureiroi Kostel., Coriandropsis syriaca H.Wolff, Coriandrum globosum Salisb., Coriandrum majus Gouan, Selinum coriandrum
ชื่อวงศ์ Apiaceae

ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:

            ผลแก่แห้งรูปทรงกลม (mericarps) สีน้ำตาลอ่อน ประกอบด้วย cremocarp 2 อัน ผลแก่แห้งแล้วแตก แต่ละ cremocarp มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2-4 มิลลิเมตร ผิวนอกสีเหลืองน้ำตาลถึงสีน้ำตาล มีสันประมาณ 10 อัน ผนังเป็นคลื่น พบส่วนกลีบเลี้ยงและเกสรตัวเมียหลงเหลืออยู่ ผลมีกลิ่นหอมเฉพาะ รสเผ็ด

 

 

เครื่องยา ผักชีลา

 

 

เครื่องยา ผักชีลา

 

 

ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:

            ปริมาณความชื้นไม่เกิน 13% w/w  (เภสัชตำรับอังกฤษ) ปริมาณสิ่งแปลกปลอมไม่เกิน 2% w/w  ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 6% w/w  ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรด ไม่เกิน 1.5% w/w  ปริมาณสารสกัดเอทานอล ไม่น้อยกว่า 10% w/w  สารสกัดน้ำ ไม่น้อยกว่า 19% w/w  ปริมาณน้ำมันหอมระเหย ไม่น้อยกว่า 0.3% v/w (เภสัชตำรับอินเดีย)

 

สรรพคุณ:

            ตำรายาไทย ผล รสหวานฝากร้อนหอม (สุขุม) แก้พิษตานซาง ขับลม แก้ท้องอืดเฟ้อ บำรุงธาตุ แก้สะอึก แก้กระหายน้ำ แก้คลื่นไส้อาเจียน เป็นน้ำกระสาย ยาแก้อาเจียน แก้ตาเจ็บ แก้ลมวิงเวียน บำรุงกระเพาะอาหาร ทำให้เจริญอาหาร แก้บิด ถ่ายเป็นเลือด คั่วบดผสมสุรากินแก้ริดสีดวงทวารมีเลือดออก ต้มเอาน้ำอมบ้วนปาก แก้ปวดฟัน แก้เจ็บในปากคอ

            บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา ระบุการใช้ผลผักชีลา ในยารักษากลุ่มอาการทางระบบทางเดินอาหาร ปรากฏในตำรับ “ยาธาตุบรรจบ” มีส่วนประกอบของผลผักชีลา ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณ บรรเทาอาการท้องอืดเฟ้อ และอาการอุจจาระธาตุพิการ ท้องเสียที่ไม่ติดเชื้อ

 

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:

           ไม่มีข้อมูล

 

องค์ประกอบทางเคมี:

       น้ำมันหอมระเหย พบประมาณ 1% ประกอบด้วย D-(+)-linalool 55-77%, monoterpene hydrocarbon 20%

 

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

      ฤทธิ์ป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร

     ทำการทดลองโดยให้ผงเมล็ดผักชีลา นำมากระจายตัวในน้ำ ในขนาด 250 และ 500 mg/kg แก่หนูแรท สายพันธุ์วิสตาร์ โดยให้สายอาหารไปยังกระเพาะอาหารหนู เป็นเวลา 30 นาที ก่อนจะได้รับสารที่กระตุ้นให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร ได้แก่ 25% NaCl, 0.2M NaOH, 80% ethanol และยาต้านการอักเสบ indomethacin (30mg/kg) ผลยับยั้งการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร พบว่าผงผักชีลา ขนาด 250 mg/kg ลดการเกิดแผลในกระเพาะอาหารที่เหนี่ยวนำด้วย NaCl ได้ ผลผักชีลาขนาด 500 mg/kg ลดการเกิดแผลในกระเพาะอาหารที่เหนี่ยวนำด้วย NaCl และ ethanol ได้ ผลต่อการปกป้องเยื่อเมือกที่กระเพาะอาหาร ที่เหนี่ยวนำให้เยื่อเมือกในกระเพาะอาหารลดลง ด้วย 80% ethanol พบว่าการให้ผงผักชีลาในขนาด 250 และ 500 mg/kg แก่หนูแรท ก่อนให้เอทานอล ทำให้ระดับของเยื่อเมือกกลับมาสู่ภาวะปกติได้  แต่ผงผักชีลาไม่สามารถยับยั้งการเกิดแผลในกระเพาะอาหารที่เหนี่ยวนำด้วย indomethacin (Al-Mofleh, et al., 2006)

ฤทธิ์คลายความวิตกกังวล

     การศึกษาฤทธิ์คลายกังวล ของสารสกัดน้ำจากเมล็ดผักชีลา ในหนูถีบจักรเพศผู้ ด้วยวิธี elevated plus-maze ซึ่งเป็นวิธีประเมินฤทธิ์คลายกังวลโดยทดสอบความกลัว และอาการวิตกกังวลของหนู เมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่อันตราย โดยถ้าสารมีฤทธิ์คลายกังวล หนูจะเข้าไปใน open arm หรือใช้เวลาใน open arm นานขึ้นภายในเวลา 5 นาที การทดสอบใช้สารสกัดในขนาด 10, 25, 50,100 mg/kg โดยการฉีดเข้าช่องท้องของหนู พบว่าที่ขนาด 100 mg/kg มีฤทธิ์ในการคลายกังวล โดยทำให้หนูใช้เวลาอยู่ใน  open arm นานขึ้น ดังนั้นสารสกัดน้ำจากเมล็ดผักชีลา จึงมีศักยภาพในการนำไปพัฒนายาคลายความวิตกกังวล และอาจมีฤทธิ์เป็นยานอนหลับได้ด้วย (Emamghoreishi, et al., 2005)

 

การศึกษาทางคลินิก:

          ไม่มีข้อมูล

 

อาการไม่พึงประสงค์:

           การใช้ทางผิวหนัง อาจทำให้แพ้ได้ถ้าถูกแสง เนื่องจากผลผักชีมีสารกลุ่มคูมาริน (นพมาศ และนงลักษณ์, 2551)

 

การศึกษาทางพิษวิทยา:

        การทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดผลด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (คิดเป็น 6,250 เท่า เปรียบเทียบกับขนาดรักษาในคน) และให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนู ในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตรวจไม่พบอาการเป็นพิษ (กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, 2546)

 

เอกสารอ้างอิง:

 1. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. 2546. ประมวลผลงานวิจัยด้านพิษวิทยา ของสถาบันวิจัยสมุนไพร เล่ม 1.โรงพิมพ์การศาสนา:กรุงเทพมหานคร.

 2. นพมาศ สุนทรเจริญนนท์, นงลักษณ์ เรืองวิเศษ. คุณภาพเครื่องยาไทย จากงานวิจัย สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน. คอนเซ็พท์ เมดิคัส จำกัด: กรุงเทพมหานคร, 2551.

3. Al-Mofleh IA, Alhaider AA, Mossa JS, Al-Sohaibani MO, Rafatullah S, Qureshi S. Protection of gastric mucosal damage byCoriandrum sativum L. pretreatment in wistar albino rats. Environmental Toxicology and Pharmacology 2006;22:64–69.

4. Emamghoreishi M, Khasaki M, AazamMF.Coriandrum sativum: evaluation of its anxiolytic effect in the elevated plus-maze. J Ethnopharmacology. 2005;96:365–370.

 

ข้อมูลตำรับยาธาตุบรรจบ : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 68
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่