มะแว้งเครือ

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

มะแว้งเครือ

ชื่อเครื่องยา มะแว้งเครือ
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา
ได้จาก ผล
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา มะแว้งเครือ
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา) มะแว้งเขา มะแว้งเถา แขว้งเคีย
ชื่อวิทยาศาสตร์ Solanum trilobatum L.
ชื่อพ้อง
ชื่อวงศ์ Solanaceae

ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:

            ผลรูปทรงกลม (ผลสดเมื่อดิบสีเขียวมีลายสีขาว เมื่อสุกสีแดง) ขนาด 0.5-1 เซนติเมตร ผิวเรียบเกลี้ยงเป็น เมล็ดแบน ขนาดเล็ก มีจำนวนมาก

 

เครื่องยา มะแว้งเครือ

 

 

 

เครื่องยา มะแว้งเครือ

 

ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:

              ปริมาณความชื้นไม่เกิน 6.0% w/w  ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรด ไม่เกิน 1.0 % w/w  ปริมาณเถ้าชนิดซัลเฟต ไม่เกิน 11.0% w/w  ปริมาณสารสกัดเอทานอล ไม่น้อยกว่า 3.0% w/w  ปริมาณสารสกัดสารสกัดน้ำ ไม่น้อยกว่า 5.0% w/w  ปริมาณสารสกัดสารคลอโรฟอร์ม ไม่น้อยกว่า 1.0% w/w 

 

สรรพคุณ:

            ตำรายาไทย ผลรสขมขื่นเปรี้ยว ผลสดตำผสมเกลือเล็กน้อย อมหรือจิบแก้ไอแก้เจ็บคอ ขับเสมหะ ผลแห้งปรุงยาแก้ไอ ขับปัสสาวะ ทำให้เจริญอาหาร แก้เบาหวาน บำรุงน้ำดี

            บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการแห่งชาติด้านยา ปรากฏการใช้ผลมะแว้งเครือ ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในกลุ่มอาการของระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ ตำรับ “ยาประสะมะแว้ง”  มีสรรพคุณใช้บรรเทาอาการ ไอ มีเสมหะ ทำให้ชุ่มคอ ขับเสมหะ

 

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:

            ผลสด 5-10 ผล โขลกพอแตกคั้นเอาแต่น้ำ ใส่เกลือเล็กน้อย จิบบ่อยๆ เวลาไอ

 

องค์ประกอบทางเคมี:

           ไม่มีข้อมูล

 

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

           ฤทธิ์ต้านการอักเสบ

          การศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบของสารสกัดจากผลมะแว้งเครือในหนูถีบจักร โดยสกัดผลมะแว้งเครือด้วยน้ำ เอทานอล และสกัดด้วยเอทานอล ผสมกรดไฮโดรคลอริก ในอัตราส่วน 10:1 แล้วนำสารสกัดทั้งสามชนิดมาทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบในหนูถีบจักร โดยใช้การเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบทั้งแบบเฉพาะที่ภายนอก และแบบที่เกิดการอักเสบในช่องท้อง การศึกษาประสิทธิภาพของสารสกัดจากผลมะแว้งเครือทั้งในการป้องกันและการรักษาอาการบวมของใบหูหนูถีบจักร ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบโดยการทาสาร ethyl-phenylpropiolate (EPP) และสารทดสอบบริเวณใบหูของหนูถีบจักรด้านใน และด้านนอก การศึกษาฤทธิ์ป้องกันโดยการทาสารสกัดจากผลมะแว้งเครือก่อนเป็นเวลา 2 ชั่วโมง แล้วเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบด้วย EPP ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดทั้ง 3 ชนิด ขนาด 0.5, 1 และ 2 มก/หู สามารถป้องกันการบวมของใบหูของหนูถีบจักร โดยแปรผันตรงตามความเข้มข้นของสารสกัด สำหรับการทดสอบฤทธิ์ในการรักษาการอักเสบ ศึกษาในหนูถีบจักรเช่นกัน โดยเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบของใบหูด้วยการทา EPP เป็นเวลา 1 ชั่วโมงก่อน แล้วทดสอบฤทธิ์ของสารสกัดน้ำ และสารสกัดเอทานอล ขนาด 0.5, 1 และ 2 มก/หู และสารสกัดเอทานอล ผสมกรดไฮโดรคลอริก ขนาด 0.25, 0.5 และ 1 มก/หู พบว่าสารสกัดทั้ง 3 ชนิด สามารถลดการบวมของใบหูของหนูถีบจักร ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.01) ซึ่งแปรผันตามความเข้มข้นของสารสกัด สารสกัดทั้ง 3 ชนิด แสดงฤทธิ์ป้องกัน และรักษาการอักเสบตลอด 4 ชั่วโมง ของการทดลอง เมื่อเปรียบเทียบกับสารมาตรฐาน เดกซาเมทาโซน 0.05 มก/หู ส่วนการทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบของสารสกัดจากผลมะแว้งเครือด้วยเอทานอล โดยใช้การทดสอบการอักเสบในช่องท้อง 2 วิธี ได้แก่ กรดอะซิติกเหนี่ยวนำให้เกิดการเคลื่อนที่ของของเหลวออกนอกหลอดเลือด และคาราจีแนนเหนี่ยวนำให้เกิดการเคลื่อนที่ของเม็ดเลือดขาว พบว่าสารสกัดเอทานอล (200, 400 และ 600 มก/กก) แสดงฤทธิ์ต้านการอักเสบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P< 0.001) ในทั้ง 2 วิธีการทดสอบ อย่างไรก็ตามพบว่าสารสกัดมีฤทธิ์ต้านการอักเสบน้อยกว่าสารมาตรฐานสำหรับลดการอักเสบ (เดกซาเมทาโซน 1 มก/กก และอินโดเมทาซิน 10 มก/กก) จากการศึกษาดังกล่าวนี้ สรุปได้ว่าสารสกัดน้ำ สารสกัดเอทานอล และสารสกัดเอทานอล ผสมกรดไฮโดรคลอริก จากผลมะแว้งเครือมีฤทธิ์ต้านการอักเสบในรูปแบบการทาภายนอก และยังพบว่าสารสกัดเอทานอลมีฤทธิ์ต้านการอักเสบเมื่อให้โดยป้อนทางปากด้วย ผลการทดลองนี้แสดงถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากผลมะแว้งเครือ ซึ่งสนับสนุนการศึกษาทางคลินิกเพื่อนำไปใช้ในการรักษาอาการอักเสบต่อไป (วันทณี, 2549)

           ฤทธิ์แก้คัน

          การศึกษาฤทธิ์ต้านอาการคันของสารสกัดจากผลมะแว้งเครือในหนูถีบจักร โดยสกัดผลมะแว้งเครือด้วยน้ำ เอทานอล และสกัดด้วยเอทานอล ผสมกรดไฮโดรคลอริก ในอัตราส่วน 10:1 แล้วนำสารสกัดทั้งสามชนิดมาทดสอบฤทธิ์ พบว่าสารสกัดเอทานอล ขนาด 200, 400 และ 600 มก/กก สามารถยับยั้งพฤติกรรมการเกาของหนูถีบจักรที่ถูกเหนี่ยวนำด้วยฮีสตามีน ซึ่งให้ผลเช่นเดียวกับการให้สารมาตรฐานสำหรับลดการคัน (เดกซาเมทาโซน 1 มก/กก และคลอฟินิรามีน 10 มก/กก) (วันทณี, 2549)

          ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย

          การทดสอบสารสกัดมะแว้งเครือที่สกัดด้วย chloroform, methanol, petroleum ether และ น้ำ ทดสอบฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรีย 8 ชนิด ด้วยวิธี agar disc diffusion method ใช้เชื้อแบคทีเรียแกรมบวก 3 ชนิด คือ Staphylococcus aureus, Bacillus subtilis, Streptococccus pyrogens  และเชื้อแบคทีเรียแกรมลบ 5 ชนิด คือ Salmonella typhiPseudomonas aeruginosa,  Klebsiella pneumoniaEscherichia coli  และ Proteus vulgaris ใช้สารสกัดมะแว้งเครือ ในขนาด 25, 10 และ 5 mg/ml การทดสอบพบว่าสารสกัดออกฤทธิ์ดีในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียทั้ง 8 ชนิด  เมื่อเทียบกับยามาตรฐาน streptomycin โดยฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียขึ้นกับความเข้มข้นของสารสกัด โดยสารสกัดที่ให้ผลต้านเชื้อแบคทีเรียดีที่สุด คือสารสกัดจากคลอโรฟอร์ม ความเข้มข้น 25 mg/ml  สามารถยับยั้งเชื้อ Bacillus subtilis และ Streptococccus pyrogens ได้ดีที่สุด โดยมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของบริเวณที่เชื้อไม่ขึ้นเท่ากับ 18 และ 21 มิลลิเมตร ตามลำดับ (Doss, et al., 2008)

         ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด

         การศึกษาฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดของสารสกัดน้ำจากผลมะแว้งเครือ ทำการทดลองในหนูแรทสายพันธุ์วิสตาร์ ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานด้วย streptozotocin (STZ) แล้วป้อนสารสกัดน้ำจากผลมะแว้งเครือ ในขนาด 100 และ 200มก/กก. พบว่าสารสกัดสามารถเพิ่มการทำงานของ hepatic hexokinase (โดยเพิ่มการเกิด กระบวนการ glycolysis ทำให้มีการนำกลูโคสในเลือด มาใช้เป็นพลังงาน) และลดปริมาณ hepatic glucose-6-phosphatase, serum acid phosphatase (ACP), alkaline phosphatase (ALP) และ lactate dehydrogenase (LDH) (สารเหล่านี้จะพบในปริมาณสูงในภาวะเบาหวาน โดยจะหลั่งออกจากเนื้อเยื่อเข้าสู่กระแสเลือด) โดยสรุปสารสกัดมะแว้งเครือสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ ทั้งยังช่วยปกป้องตับได้ (Kumar, et al., 2011)

        การศึกษาโดยสกัดผลมะแว้งเครือ ด้วยตัวทำละลายชนิดต่างๆ ได้แก่ น้ำ, เมทานอล, เอทานอล แล้วนำสารที่สกัดได้มาทดสอบฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดของสัตว์ทดลอง ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดน้ำของมะแว้งเครือ สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดกระต่ายได้หลังจากกระต่ายได้รับสารสกัดสมุนไพร 2 ชั่วโมง โดยสารสกัดสมุนไพรที่สกัดด้วยเอทานอลของมะแว้งเครือ ลดระดับน้ำตาลได้หลังจากกระต่ายได้รับ 2 และ 3 ชั่วโมง จากผลการทดลองนี้แสดงว่า สารสกัดจาผลมะแว้งเครือสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ (สุรัตน์, 2522)

 

การศึกษาทางคลินิก:

        ไม่มีข้อมูล

 

การศึกษาทางพิษวิทยา:

        การศึกษาความเป็นพิษของสารสกัดผลมะแว้งด้วยเอทานอล ในหนูถีบจักรสายพันธุ์ ICR และหนูขาวสายพันธุ์วิสตาร์ โดยการทดสอบพิษเฉียบพลัน ให้สารสกัดทางปาก ในขนาด 5 กรัม/กิโลกรัม เพียงครั้งเดียว ผลพบว่าไม่ทำให้หนูตาย และไม่พบอาการผิดปกติ น้ำหนักตัวหนูไม่เปลี่ยนแปลง การทดสอบพิษเรื้อรังในหนูขาวเพศผู้ โดยป้อนสารสกัดขนาด 1กรัม/กิโลกรัม เป็นเวลา 28 วัน ไม่พบการตายของหนู และไม่พบอาการเกิดพิษ ค่าน้ำหนักตัว อาการทางคลินิก ค่าชีวเคมีในเลือด และเนื้อเยื่อไม่เปลี่ยนแปลง การทดสอบการระคายเคืองของสารสกัด โดยทดสอบที่ผิวหนังของกระต่าย โดยทาสารทดสอบปริมาณ 0.5 มิลลิลิตร (400 mg/ml) หลังทาสารทดสอบที่เวลา 1, 2, 3, 24, 48 และ 72 ชั่วโมง พบว่าไม่เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังกระต่าย (Thongpraditchote, et al., 2014)

 

เอกสารอ้างอิง:

1. วันทณี หาญช้าง.ฤทธิ์ต้านการอักเสบและต้านอาการคันของสารสกัดจากผลมะแว้งเครือ [วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต (เภสัชศาสตร์ชีวภาพ)].กรุงเทพฯ. มหาวิทยาลัยมหิดล; 2549.

2. สุรัตน์ ทัศนวิจิตรวงศ์. การศึกษาทางเคมีและทางชีวเคมี ของสารอินทร์ในพืชที่มีฤทธิ์เป็นยาแก้เบาหวาน [วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาเคมี]. เชียงใหม่. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ :2522.

3. Doss A, Dhanabalan R. Preliminary Phytochemical Screening and Antibacterial Studies of Leaf Extract of Solanum trilobatum L. Ethnobotanical Leaflets. 2008;12: 638-642.

4. Kumar G, Banu GS, Balapala KR. Ameliorate the effect of Solanum trilobatum L. on hepatic enzymes in experimental diabetes. NPAIJ. 2011;7(6): 315-319.

5. Thongpraditchote S, Hanchanga W, Wongkrajang Y, Temsiririrkkul R, Atisuk K. Toxicological Evaluation of Solanum trilobatum L. Fruit Extract. Mahidol University Journal of Pharmaceutical Sciences 2014; 41 (4), 39-46.

 

ข้อมูลตำรับยาประสะมะแว้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 26
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่