กวาวเครือแดง
ชื่อเครื่องยา | กวาวเครือแดง |
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา | |
ได้จาก | ราก |
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา | กวาวเครือแดง |
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา) | กวาวเครือ กวาวหัว จานเครือ จอมทอง ตานจอมทอง |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Butea superba Roxb. |
ชื่อพ้อง | |
ชื่อวงศ์ | Leguminosae (Fabaceae)-Papilionoideae |
ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
หัวใต้ดิน รูปทรงกระบอกยาว มีหลายขนาด เมื่อสะกิดที่เปลือก จะมียางสีแดงข้น คล้ายเลือดไหลออกมา
เครื่องยา กวาวเครือแดง
เครื่องยา กวาวเครือแดง
เครื่องยา กวาวเครือแดง
เครื่องยา กวาวเครือแดง
เครื่องยา กวาวเครือแดง
เครื่องยา กวาวเครือแดง
ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
ไม่มีข้อมูล
สรรพคุณ:
ตำรายาไทย: หัว รสเย็นเบื่อเมา บำรุงเนื้อหนังให้เต่งตึง บำรุงสุขภาพ เป็นยาอายุวัฒนะ แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย ทำให้หน้าอกโต บำรุงความกำหนัด ราก แก้ลมอัมพาต แก้โลหิต ผสมรากสมุนไพรอื่นอีกแปดชนิดเรียกว่า พิกัดเนาวโลหะ ได้แก่ รากทองกวาว รากทองหลางหนาม รากทองหลางใบมน รากทองโหลง รากทองพันชั่ง รากขันทองพยาบาท รากใบทอง และรากจำปาทอง ใช้แก้โรคดี เสมหะ ลมที่เป็นพิษ แก้ริดสีดวง ทำลายพยาธิ ดับพิษ ถอนพิษ ชำระล้างลำไส้ แก้โรคตับ แก้ลม ขับระดูร้าย สมานลำไส้ เปลือกเถา รสเย็นเบื่อเมา แก้พิษงู
ตำรายาพม่า: ระบุว่าใช้เป็นยาอายุวัฒนะเช่นเดียวกับกวาวเครือขาว แต่มีฤทธิ์แรงกว่า
ตำรายาไทย: ระบุว่า ชนิดหัวแดงนี้ มีพิษมาก ไม่นิยมนำมาทำยา ถ้ารับประทานมากจะเป็นอันตรายได้ ทำให้มึนเมา คลื่นไส้อาเจียน มีพิษเมามากกว่ากวาวเครือขาว ใช้ทำยาคุมกำเนิดในสัตว์
รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
องค์การอาหารและยาของไทยระบุขนาดการรับประทานกวาวเครือแดง ไม่เกิน 2 มิลลิกรัม ต่อกิโลกรัมต่อวัน (Fitoterapia 77 (2006) 435–438)
องค์ประกอบทางเคมี:
medicarpin (carpin 3-hydroxy-9-methoxypterocarpan); สารกลุ่มฟลาโวนอยด์ ได้แก่ butenin; formononetin (7-hydroxy-4_-methoxy-isoflavone); prunetin (7,4_-dimethoxyisoflavone); 5,4_-dihydroxy-7-methoxy-isoflavone, 7-hydroxy-6,4_-dimethoxyisoflavone
การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
ฤทธิ์ต่อระบบสืบพันธุ์: การทดลองป้อนกวาวเครือแดงในรูปผงป่นละลายน้ำ และสารสกัดเอทานอล ให้แก่หนูแรทเพศผู้ ความเข้มข้น 0.25, 0.5 และ 5 มก./มล. พบว่าหนูแรทที่ได้รับกวาวเครือแดงแบบผงป่นละลายน้ำเข้มข้น 0.5 และ 5 มก./มล. เป็นเวลา 21 วัน ทำให้น้ำหนักตัวของหนูแรท และปริมาณอสุจิเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และหนูแรทที่ได้รับสารสกัดเอทานอลเข้มข้น 5 มก./มล. 21 วัน มีน้ำหนักสัมพัทธ์ของ seminal vesicles ต่อมลูกหมาก และความยาวขององคชาติเพิ่มขึ้น ส่งผลให้หนูแรทมีพฤติกรรมการสืบพันธุ์เพิ่มมากขึ้น เมื่อศึกษาต่อไปถึงระยะ 42 วัน พบว่าหนูแรทที่ได้รับกวาวเครือแดงแบบผงป่นละลายน้ำ มีน้ำหนักสัมพัทธ์ของ seminal vesicles ต่อมลูกหมาก และความยาวขององคชาติ และพฤติกรรมการสืบพันธุ์เพิ่มมากขึ้น แต่หนูกลุ่มที่ได้รับสารสกัดเอทานอล กลับมีน้ำหนักสัมพัทธ์ของ seminal vesicles ลดลง การศึกษาผลของกวาวเครือแดงในระยะยาว และในปริมาณสารสกัดที่มากขึ้น พบว่าทำให้ระดับฮอร์โมน testosterone ของหนูแรทลดลง และปริมาณเอนไซม์ตับสูงขึ้น ดังนั้นการรับประทานกวาวเครือแดงมากเกินไป อาจทำให้เกิดพิษต่อตับได้
เอกสารอ้างอิง พิชานันท์ ลีแก้ว.2553. โรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ. ใน จุลสารข้อมูลสมุนไพร 28 (1):12-13.
การศึกษาทางคลินิก:
ฤทธิ์ต่อระบบสืบพันธุ์: การศึกษาในอาสาสมัครเพศชาย 17 คน อายุระหว่าง 30-70 ปี ที่มีอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศอย่างน้อย 6 เดือน ให้รับประทานกวาวเครือแดงแคปซูลขนาด 250 มก./แคปซูล วันละ 4 แคปซูล เป็นเวลา 3 เดือน ผลการศึกษาพบว่าระดับฮอร์โมน testosterone ไม่แตกต่างจากกลุ่มควบคุม แต่ผลจากการตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับดัชนีชี้วัดสมรรถภาพทางเพศ จากอาสาสมัครพบว่าทำให้สมรรถภาพทางเพศดีขึ้น 82.4% ดังนั้นกวาวเครือแดงจึงช่วยฟื้นฟูผู้ป่วยโรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศได้ และไม่พบการเกิดพิษ
เอกสารอ้างอิง พิชานันท์ ลีแก้ว.2553. โรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ. ใน จุลสารข้อมูลสมุนไพร 28 (1):12-13.
การศึกษาทางพิษวิทยา:
การศึกษาพิษกึ่งเรื้อรังในหนูวิสตาร์เพศผู้โดยป้อนผงกวาวเครือแดงในขนาด 10, 100, 150 และ 200 มก./กก/วัน เป็นเวลา 90 วัน พบว่าหนูที่รับในขนาด 150 มก./กก/วัน น้ำหนักของม้ามเพิ่มขึ้น ระดับเอนไซม์ alkaline phosphatase (ALP) และ aspartate aminotransferase (AST) เพิ่มขึ้น หนูที่ได้รับขนาด 200 มก./กก/วัน พบว่าเม็ดเลือดขาวชนิด neutrophil ลดลง ส่วนเม็ดเลือดขาวชนิด eosinophil ระดับ serum creatinine ลดลง ระดับฮอร์โมน testosterone ลดลง ดังนั้นจึงควรระมัดระวังการใช้ในขนาดสูง เนื่องจากอาจทำให้เกิดอาการอันไม่พึงประสงค์ต่างๆได้ (Maturitas 60 (2008) 131–137)