มะแว้งต้น
ชื่อเครื่องยา | มะแว้งต้น |
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา | |
ได้จาก | ผล |
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา | มะแว้งต้น |
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา) | มะแค้งขม มะแค้งดำ (เหนือ อีสาน) |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Solanum indicum L. |
ชื่อพ้อง | |
ชื่อวงศ์ | Solanaceae |
ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
ผลรูปกลม (ผลสดเมื่อดิบสีเขียวอ่อน ไม่มีลาย เมื่อสุกสีส้ม) ผิวเรียบเกลี้ยงเป็นมัน เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร ภายในผลมีเมล็ดรูปกลมแบน สีน้ำตาลอ่อน ขนาดเล็ก จำนวนมาก
เครื่องยา มะแว้งต้น
เครื่องยา มะแว้งต้น
เครื่องยา มะแว้งต้น
ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
ไม่มีข้อมูล
สรรพคุณ:
ตำรายาไทย ผลรสขมขื่นเปรี้ยว แก้ไอ ขับเสมหะ แก้ไข้ที่มีเสมหะ ขับปัสสาวะ ลดน้ำตาลในเลือดได้เล็กน้อย ทำให้เจริญอาหาร บำรุงน้ำดี (หากใช้ติดต่อกันนานอาจเป็นโทษต่อไตได้) ผลสุก รสขื่นขม กัดเสมหะในลำคอ แก้ไอ ผลดิบ รสขื่น ขม บำรุงน้ำดี
บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการแห่งชาติด้านยา ปรากฏการใช้ผลมะแว้งต้น ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในกลุ่มอาการของระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ ตำรับ “ยาประสะมะแว้ง” มีสรรพคุณใช้บรรเทาอาการ ไอ มีเสมหะ ทำให้ชุ่มคอ ขับเสมหะ
รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
ผลสด 5-10 ผล โขลกพอแตกคั้นเอาแต่น้ำ ใส่เกลือเล็กน้อย จิบบ่อยๆ เวลาไอ
องค์ประกอบทางเคมี:
ไม่มีข้อมูล
การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
ฤทธิ์ลดปวด ลดไข้ ต้านการอักเสบ และกดระบบประสาทส่วนกลาง
การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารสกัดเมทานอลจากผลมะแว้งต้น โดยใช้หนูทดลองทั้งเพศผู้และเพศเมีย แบ่งเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มละ 6 ตัว ทำการทดสอบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา 4 วิธี ได้แก่ ฤทธิ์ลดปวด, ฤทธิ์ต้านการอักเสบ, ฤทธิ์ลดไข้ และฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง การทดสอบฤทธิ์ลดปวดในหนูทดลอง โดยให้สารสกัดมะแว้งต้นขนาด 250, 500 mg/kg เปรียบเทียบกับยามาตรฐาน aspirin ขนาด 100 mg/kg การทดสอบฤทธิ์ลดไข้ในหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้มีไข้จากยีสต์ โดยให้สารสกัดมะแว้งต้น ขนาด 250, 500 mg/kg เปรียบเทียบกับยามาตรฐาน paracetamol 150 mg/kg การทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบในหนูทดลอง โดยให้สารสกัดมะแว้งต้น ขนาด 250, 500 mg/kg เปรียบเทียบกับยามาตรฐาน diclofenac sodium ขนาด 1 mg/kg การทดสอบฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลางในหนูทดลอง โดยให้สารสกัดมะแว้งต้นขนาด 250, 500 mg/kg เปรียบเทียบกับยามาตรฐาน diazepam ขนาด 0.5 mg/kg เมื่อทำการวิเคราะห์ผลที่เกิดขึ้นพบว่า สารสกัดมะแว้งต้นมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาต่อการทดสอบทั้ง 4 วิธี (p ≤0.05) (Deb, et al., 2014)
ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด
สกัดผลมะแว้งต้น ด้วยตัวทำละลายชนิดต่างๆ ได้แก่ น้ำ, เมทานอล, เอทานอล แล้วนำสารที่สกัดได้มาทดสอบฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดของสัตว์ทดลอง ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดน้ำของมะแว้งต้น สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดกระต่ายได้หลังจากกระต่ายได้รับสารสกัดสมุนไพร 2 ชั่วโมง โดยสารสกัดสมุนไพรที่สกัดด้วยเอทานอลของมะแว้งต้น ลดระดับน้ำตาลได้หลังจากกระต่ายได้รับ 2, 3 และ 4 ชั่วโมง จากผลการทดลองนี้แสดงว่า สารสกัดจาผลมะแว้งต้น สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ (สุรัตน์, 2522)
การศึกษาทางคลินิก:
ไม่มีข้อมูล
การศึกษาทางพิษวิทยา:
การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารสกัดเมทานอลของผลมะแว้งต้น โดยใช้หนูแรทเพศผู้สายพันธุ์วิสตาร์ทั้งเพศผู้และเพศเมีย ให้สารสกัดมะแว้งต้นความเข้มข้น 250, 500,2000 mg/kg ทางปาก พบว่าการติดตามผลใน 4 ชั่วโมงแรก ไม่พบความผิดปกติของหนูทดลองเมื่อได้รับสารสกัดขนาด 2000 mg/kg (Deb, et al., 2014)
เอกสารอ้างอิง:
1. สุรัตน์ ทัศนวิจิตรวงศ์. การศึกษาทางเคมีและทางชีวเคมี ของสารอินทรีย์ในพืชที่มีฤทธิ์เป็นยาแก้เบาหวาน [วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาเคมี]. เชียงใหม่. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่:2522.
2. Deb PK, Ghosh R, Chakraverty R, Debnath R, Das L, Bhakta T. Phytochemical and Pharmacological Evaluation of Fruits of Solanum indicum L. Int J Pharm Sci Rev Res. 2014;25(2):28-32.
ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/
ค้นหาข้อมูลพืชที่ให้เครื่องยา : phar.ubu.ac.th/herb-phargarden/
ข้อมูลตำรับยาประสะมะแว้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/