ว่านกีบแรด
ชื่อเครื่องยา | ว่านกีบแรด |
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา | |
ได้จาก | เหง้า |
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา | ว่านกีบแรด |
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา) | กีบม้าลม กีบแรด ว่านกีบม้า |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Angiopteris evecta (G. Forst.) Hoffm. |
ชื่อพ้อง | Polypodium evectum |
ชื่อวงศ์ | Marattiaceae |
ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
เหง้าใหญ่ มีกลีบแข็ง คล้ายกีบเท้าแรด หรือกีบเท้ากระบือ มีขนาดสั้น ผิวเป็นลูกคลื่น ผิวเหง้าด้านนอกสีน้ำตาลเข้มถึงดำ เนื้อข้างในสีเหลือง
เครื่องยา ว่านกีบแรด
เครื่องยา ว่านกีบแรด
เครื่องยา ว่านกีบแรด
ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
ไม่มีข้อมูล
สรรพคุณ:
ตำรายาไทย เหง้า รสจืดฝาดเย็น แก้พิษไข้ พิษตานซาง แก้พิษกำเดา แก้ฝี รักษาแผลในปากคอ แก้น้ำลายเหนียว แก้กาฬมูตร (ปัสสาวะสีดำ) แก้ปวดศีรษะ ขับปัสสาวะ ฝาดสมาน แก้ท้องเสีย อาเจียน แก้ตาเจ็บ มักใช้ร่วมกับว่านร่อนทอง ราก รสจืดเย็นฝาด ใช้ห้ามเลือด
ตำรับยาโบราณ ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงเลือด โดยใช้เหง้าหั่นตาก ดองเหล้า หรือต้มน้ำกิน แก้ปวดหลัง ปวดเอว ลดความดันโลหิต การใช้รักษาแผลในปากคอ จะนำมาฝนกับน้ำ หรือต้มเคี่ยวให้ข้นๆ ใช้ทา หรืออมไว้ ให้ตัวยาสัมผัสกับแผล
บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา ระบุการใช้เหง้าว่านกีบแรด ร่วมกับสมุนไพรอื่นๆ ใน “ตำรับยาเขียวหอม” สรรพคุณ บรรเทาอาการไข้ ร้อนในกระหายน้ำ แก้พิษหัด พิษอีสุกอีใส (บรรเทาอาการไข้จากหัด และอีสุกอีใส)
รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
ไม่มีข้อมูล
องค์ประกอบทางเคมี:
ไม่มีข้อมูล
การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
ฤทธิ์ลดอาการปวด
การทดสอบฤทธิ์ลดปวด ด้วยวิธี Abdominal Writhing Test โดยการให้สารสกัดเมทานอลจากรากว่านกีบแรด ป้อนให้แก่หนูถีบจักร ในขนาดยา 50, 100, 200 และ 400 mg/kg หนูถูกกระตุ้นให้ปวดด้วยการฉีดกรดอะซีติกเข้าไปยังช่องท้อง ผลการทดลองพบว่าการหดตัวของกล้ามเนื้อส่วนท้องของหนูลดลง เท่ากับ 25.9, 40.7, 48.1 และ 59.3% ตามลำดับ โดยเปรียบเทียบกับยามาตรฐาน aspirin ขนาดยา 200 และ 400 mg/kg การหดตัวของกล้ามเนื้อส่วนท้องของหนูลดลงเท่ากับ 48.1 และ 63.0% ตามลำดับ (Molla, et al., 2014)
ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด
การทดสอบฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด ด้วยวิธี oral glucose tolerance tests (OGTT) โดยการให้สารสกัดเมทานอลจากรากว่านกีบแรด ป้อนให้แก่หนูถีบจักร ในขนาดยา 50, 100, 200 และ 400 mg/kg หลังจากนั้นจึงป้อนน้ำตาลกลูโคสในขนาด 2 กรัม กลูโคส/ kg body weight แก่หนู จากนั้น 2 ชั่วโมง จึงวัดระดับน้ำตาลในเลือดหนู ผลการทดลองพบว่าระดับน้ำตาลในเลือดของหนูลดลงเท่ากับ 11.3, 23.0, 32.8 และ 46.7% ตามลำดับ โดยเปรียบเทียบกับยามาตรฐาน glibenclamide ขนาดยา 10 mg/kg body weight ระดับน้ำตาลในเลือดของหนูลดลง เท่ากับ 47.4% (Molla, et al., 2014)
การศึกษาทางคลินิก:
ไม่มีข้อมูล
การศึกษาทางพิษวิทยา
การทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดเหง้าด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (คิดเป็น 1,111 เท่า เปรียบเทียบกับขนาดรักษาในคน) และให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนู ในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตรวจไม่พบอาการเป็นพิษ (กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, 2546)
การทดสอบพิษเฉียบพลันในหนูถีบจักรด้วยการแบ่งหนูเป็น 9 กลุ่ม แต่ละกลุ่มมีหนู 6 ตัว กลุ่มที่ 1 ได้รับ 1% Tween 80 (2 ml mg/kg body weight) กลุ่มที่ 2-9 ได้รับ สารสกัดว่านกีบแรดขนาด 100, 200, 300, 600, 800, 1000, 2000 และ 3000 mg/kg body weight ติดตามอย่างใกล้ชิดใน 8 ชั่วโมงแรก และติดตามในอีก 2 สัปดาห์ต่อมา พบว่าไม่มีการเกิดพิษใดๆ หนูทดลองมีพฤติกรรมที่ปกติ ไม่เปลี่ยนแปลง และไม่มีการตายของหนูทดลอง (Molla, et al., 2014)
เอกสารอ้างอิง:
1. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. 2546. ประมวลผลงานวิจัยด้านพิษวิทยา ของสถาบันวิจัยสมุนไพร เล่ม 1.โรงพิมพ์การศาสนา:กรุงเทพมหานคร.
2. Molla F, Rahman S, Bashar A, Rahmatullah M.Phytochemical screening and pharmacological studies with Angiopteris evecta roots.World Journal of Pharmaceutical Research. 2014:3(8):105-115.
ข้อมูลตำรับยาเขียวหอม : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/