สมุลแว้ง

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

สมุลแว้ง

ชื่อเครื่องยา สมุลแว้ง
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา
ได้จาก เปลือกต้น
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา สมุลแว้ง
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา) เชียกใหญ่ เฉียด ฝนแสนห่า พะแว มหาปราบ โมงหอม อบเชย ขนุนมะแว้ง จวงดง แสงแวง ระแวง มหาปราบตัวผู้
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cinnamomum bejolghota (Buch.-Ham.) Sweet
ชื่อพ้อง Cinnamomum bazania (Buch.-Ham.) Nees, Cinnamomum obtusifolium (Roxb.) Nees, Cinnamomum sikkimense Lukman., Cinnamomum van-houttei Lukman., Laurus bejolghota Buch.-Ham., Laurus obtusifolia
ชื่อวงศ์ Lauraceae

ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:

            เปลือกหนา ผิวนอกสีน้ำตาลอ่อน มีรอยแตก ขรุขระ เนื้อในสีน้ำตาลแดง เป็นมัน ขนาดความกว้าง 1-3 เซนติเมตร ยาว 3-7 เซนติเมตร หนา 0.2-0.8 เซนติเมตร มีกลิ่นหอมเฉพาะ รสร้อนปร่า

 

เครื่องยา สมุลแว้ง

 

เครื่องยา สมุลแว้ง

เครื่องยา สมุลแว้ง

 

ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:

          ปริมาณความชื้นไม่เกิน 10% w/w  ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 10% w/w  ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรด ไม่เกิน 2% w/w  ปริมาณสารสกัดเฮกเซน, ไดคลอโรมีเทน, แอลกอฮอล์ และน้ำ ไม่น้อยกว่า 5, 1, 20, 15% w/w  ตามลำดับ (นพมาศ และนงลักษณ์, 2551)

 

สรรพคุณ:

            ตำรายาไทย เปลือกต้น หอมฉุน รสร้อนปร่า แก้ลมวิงเวียน และลมที่ทำให้ใจสั่น แก้พิษหวัด กำเดา ขับลมในลำไส้ แก้ธาตุพิการ

            ตำราพระโอสถพระนารายณ์: ระบุ “ตำรับยาทรงนัตถุ์”  เข้าเครื่องยา 15 สิ่ง ใช้ปริมาณเท่าๆกัน รวมทั้ง สมุลแว้งด้วย ผสมกัน บดเป็นผงละเอียด ใช้สำหรับนัตถุ์ หรือห่อผ้าบาง ใช้ดมแก้ปวดหัว วิงเวียน แก้สลบ แก้ริดสีดวงจมูก คอ และตา

            บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา ระบุการใช้เปลือกสมุลแว้งในยารักษากลุ่มอาการทางระบบทางเดินอาหาร ปรากฏในตำรับ “ยาธาตุบรรจบ” มีส่วนประกอบของเปลือกสมุลแว้งร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณ บรรเทาอาการท้องอืดเฟ้อ และอาการอุจจาระธาตุพิการ ท้องเสียที่ไม่ติดเชื้อ

 

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:

            ไม่มีข้อมูล

 

องค์ประกอบทางเคมี:

            น้ำมันหอมระเหย 0.08% ประกอบด้วย α–terpineol, (E)-nerolidol, 1,8 cineole

 

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

           ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดและต้านอนุมูลอิสระ

          การทดสอบฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด และการต้านอนุมูลอิสระ ของสารสกัดเปลือกสมุลแว้งด้วยเมทานอล ทำการทดลองในหนูแรทเพศผู้สายพันธุ์วิสตาร์ หนูถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานด้วยสาร streptozotocin แล้วให้สารสกัดสมุลแว้ง ขนาด 250 หรือ 500 mg/kg วันละครั้ง เป็นเวลา 15 วัน แก่หนู บันทึกผลโดยการวัดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูหลังได้รับสารสกัด ที่เวลา 0, 30, 60, 90 และ 120 นาที รวมทั้งวัดค่าการทำงานของตับ และกระบวนการเมตาบอลิซึมของตับ  ผลการทดลองพบว่าสารสกัดสมุลแว้งทั้ง 2 ขนาด สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดที่เวลา 60, 90 และ 120 นาที หลังได้รับสารสกัด และลดการเกิดอนุมูลอิสระได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยทำให้ระดับ LDL ลดลง, และลดระดับเอนไซม์ตับทั้ง 3 ชนิด ได้แก่ aspartate transminase, alanine transminase และ alkaline phosphatate ลดการเกิด lipid peroxidation เพิ่มระดับ HDL เพิ่มระดับของเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระในตับ ได้แก่  catalase และ glutathione และสารสกัดสามารถปกป้องเนื้อเยื่อตับอ่อนให้มีสภาพปกติได้ (Gogoi, et al., 2014)

 

การศึกษาทางคลินิก:

            ไม่มีข้อมูล

 

การศึกษาทางพิษวิทยา:

            การทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดเปลือกด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (คิดเป็น 4,000 เท่า เปรียบเทียบกับขนาดรักษาในคน) และให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนู ในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตรวจไม่พบอาการเป็นพิษ (กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, 2546)

 

เอกสารอ้างอิง:

1.       กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. 2546. ประมวลผลงานวิจัยด้านพิษวิทยา ของสถาบันวิจัยสมุนไพร เล่ม 1.โรงพิมพ์การศาสนา:กรุงเทพมหานคร.

2.       นพมาศ สุนทรเจริญนนท์, นงลักษณ์ เรืองวิเศษ. คุณภาพเครื่องยาไทย จากงานวิจัย สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน. คอนเซ็พท์ เมดิคัส จำกัด: กรุงเทพมหานคร, 2551.

       3.      Gogoi B, Kakoti BB, Borah S, Borah NS.Antihyperglycemic and in vivo antioxidative activity evaluation ofCinnamomum bejolghota (Buch.-Ham.) in streptozotocin induced diabetic rats: an ethnomedicinal plant in Assam. Asian Pac J Trop Med 2014;7(Suppl1):S427-S434.

 

ข้อมูลตำรับยาธาตุบรรจบ : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 101
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่