ตานหม่อน
ชื่อเครื่องยา | ตานหม่อน |
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา | |
ได้จาก | ใบ |
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา | ตานหม่อน |
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา) | ตานหม่น ตานค้อน ตาลขี้นก ช้าหมากหลอด |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Tarlmounia elliptica (DC.) |
ชื่อพ้อง | Cacalia elaeagnifolia Kuntze, Strobocalyx elaeagnifolia (DC.) Sch.Bip., Strobocalyx elliptica (DC.) Sch.Bip., Vernonia elaeagnifolia DC., Vernonia elliptica |
ชื่อวงศ์ | Asteraceae |
ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
ใบรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ปลายแหลม หรือป้านมน กว้าง 3-4.5 เซนติเมตร ยาว 6-10 เซนติเมตร ขอบใบเรียบ หรือจักฟันเลื่อย ฐานใบป้าน ก้านใบยาว 2-10 มิลลิเมตร เส้นใบย่อย 7-9 คู่ ใบหนาคล้ายหนัง หลังใบเกลี้ยง ท้องใบมีขนนุ่มคล้ายไหมสีเทา
เครื่องยา ตานหม่อน
เครื่องยา ตานหม่อน
ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
ปริมาณความชื้นไม่เกิน 11.0% w/w ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรด ไม่เกิน 2.0% w/w ปริมาณเถ้าชนิดซัลเฟต ไม่เกิน 20.0% w/w ปริมาณสารสกัดเอทานอล ไม่น้อยกว่า 5.0% w/w ปริมาณสารสกัดสารสกัดน้ำ ไม่น้อยกว่า 14.0% w/w ปริมาณสารสกัดสารคลอโรฟอร์ม ไม่น้อยกว่า 4.0% w/w
สรรพคุณ:
ตำรายาไทย ใบมีรสเบื่อ หวานชุ่มเย็น แก้พิษตานซาง บำรุงเนื้อหนังให้ชุ่มชื่น คุมธาตุ ขับไส้เดือนในท้อง ใบ ผสมในตำรับยาประสะมะแว้ง ยอดอ่อน ใบอ่อน ลวก ต้ม รับประทานเป็นผัก
บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการแห่งชาติด้านยา ปรากฏการใช้ใบตานหม่อน ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในกลุ่มอาการของระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ ตำรับ “ยาประสะมะแว้ง” มีสรรพคุณใช้บรรเทาอาการ ไอ มีเสมหะ ทำให้ชุ่มคอ ขับเสมหะ
รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
ไม่มีข้อมูล
องค์ประกอบทางเคมี:
ส่วนเหนือดินพบสารกลุ่ม sesquiterpene lactone ได้แก่ glaucolides A และ B และอนุพันธ์กลุ่ม acetate, สารอื่นๆที่พบ เช่น lupeol, taraxasterol, sitosterol, stigmasterol
การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย
การศึกษาฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรียของสารสกัดเอทานอลและน้ำ ของลำต้นตานหม่อน ต่อการยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย 6 สายพันธุ์ คือ S.aureus, B.subtilis, E.coli, Sh.disenteriae, S.typhi และ C.albicans โดยใช้เทคนิค disk diffusion method ผลการทดลองพบว่าสารสกัดเอทานอลของตานหม่อน สามารถยับยั้งเชื้อ S.aureus, B.subtilisและ C.albicansได้ โดยมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางต่อการยับยั้งเชื้อ (diameter of inhibition zone) เท่ากับ 7-12, 7-12 และ >12-19 มิลลิเมตร ตามลำดับ (Avirutnant and Pongpan, et al., 1983)
ฤทธิ์ต้านเชื้อรา
การศึกษาฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคกลาก ของสารสกัดน้ำ และแอลกอฮอล์ ของเนื้อไม้ตานหม่อน ต่อเชื้อรา 3 ชนิดคือ Trichophyton rubrum, Epidermophyton floccosum และMicrosporum gypseum ผลการทดสอบพบว่าเฉพาะสารสกัดแอลกอฮอล์จากเนื้อไม้ตานหม่อนสามารถยับยั้งเชื้อราได้หนึ่งชนิด คือ M.gypseum (วันดี และแม้นสรวง, 2536)
การศึกษาทางคลินิก:
ไม่มีข้อมูล
การศึกษาทางพิษวิทยา:
ไม่มีข้อมูล
เอกสารอ้างอิง:
วันดี อวิรุทธ์นันท์,แม้นสรวง วุธอุดมเลิศ. ฤทธิ์ต้านเชื้อราของพืชสมุนไพร. วารสารเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. 2536;10(3):87-89.
Avirutnant W, Pongpan A. The antimicrobial activity of some Thai flowers and plants. Mahidol Univ J Pharm Sci. 1983;10(3):81-86.
ข้อมูลตำรับยาประสะมะแว้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/