ผักกระโฉม

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ผักกระโฉม

ชื่อเครื่องยา ผักกระโฉม
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา
ได้จาก ใบ
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา ผักกระโฉม
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา) อ้มกบ ผักกะโสม ราน้ำ
ชื่อวิทยาศาสตร์ Limnophila rugosa (Roth) Merr.
ชื่อพ้อง Herpestis rugosa
ชื่อวงศ์ Plantaginaceae

ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:

            ผิวใบเกลี้ยงหรือมีขนหยาบแข็ง แผ่นใบรูปไข่ถึงรูปขอบขนานแกมรูปไข่ กว้าง 0.8-4.5 เซนติเมตร ยาว 2-8 เซนติเมตร โคนใบเป็นครีบถึงก้านใบ มีกลิ่นหอม ลำต้นอ้วนสั้น สูง 15-40 เซนติเมตร

 

เครื่องยา ผักกระโฉม

เครื่องยา ผักกระโฉม

เครื่องยา ผักกระโฉม

 

ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:

          ไม่มีข้อมูล

 

สรรพคุณ:

            ตำรายาไทยใบและต้น รสหอมเย็นกระทุ้งพิษ ขับพิษไข้หัว จำพวก เหือด หัด สุกใส ดำแดง ฝีดาษ และระงับความร้อน ผสมในยาเขียว ขับเสมหะ แก้แน่นหน้าอก แก้ไอ แก้แน่นท้อง ปวดท้อง ลดการบวมน้ำ เจริญอาหาร ขับปัสสาวะ ตำพอกรักษาบาดแผล

            บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา ระบุการใช้ใบผักกระโฉม ร่วมกับสมุนไพรอื่นๆ ใน “ตำรับยาเขียวหอม”  สรรพคุณ บรรเทาอาการไข้ ร้อนในกระหายน้ำ แก้พิษหัด พิษอีสุกอีใส (บรรเทาอาการไข้จากหัด และอีสุกอีใส)

 

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:

          ไม่มีข้อมูล

 

องค์ประกอบทางเคมี:

         ไม่มีข้อมูล

 

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

       ฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน

      การทดสอบฤทธิ์กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในหลอดทดลอง ของสารสกัดใบผักกระโฉมต่อการเพิ่มจำนวนของลิมโฟไซต์ที่ได้จากม้ามหนูขาวเพศผู้ สายพันธุ์วิสต้าร์ และขบวนการฟาโกไซโทซิสโดยเซลล์เพาะเลี้ยงมาโครฟาจ ชนิด J774A.1 (ขบวนการจับกินเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอม)และดูผลของสารสกัดต่อการผลิตไซโตไคน์ จากผลการทดลองพบว่าสารสกัดผักกระโฉม ที่ความเข้มข้น 12.5 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร มีผลต่อการเพิ่มจำนวนของลิมโฟไซต์ (เซลล์เม็ดเลือดขาว) การทดสอบสารสกัดหยาบของผักกระโฉมพบว่า สามารถกระตุ้นการเพิ่มจำนวนของลิมโฟไซต์ได้ดี โดยที่ไม่มีผลต่อการกระตุ้นฟาโกไซโทซิส นอกจากนี้ยังสามารถเหนี่ยวนำให้เซลล์มาโครฟาจ หลั่ง IL-12 ได้มากด้วย การศึกษานี้ได้ให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับผลของสารสกัดผักกระโฉม ต่อการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งอาจมีประโยชน์สำหรับใช้กระตุ้นภูมิคุ้มกันในการรักษาโรคเอดส์ โรคติดเชื้อ และโรคมะเร็ง เป็นต้น (Boonarkart, 2003)

       ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา

       การศึกษาฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียของสารสกัดเมทานอล จากใบของผักกระโฉม ในขนาด 5, 25, 50, 100 และ 250 μg/ml โดยใช้เทคนิค agar  cup method โดยใช้สารสกัดขนาด 5, 25, 50, 100, 250 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ทำการทดสอบฤทธิ์ต่อเชื้อแบคทีเรียก่อโรคในมนุษย์ ได้แก่ เชื้อแกรมบวกสองชนิดคือ Staphylococcus aureus (MTCC 96), Streptococcus pyogenes (MTCC 442) เชื้อแกรมลบสองชนิด คือ  Escherichia coli (MTCC 443), Pseudomonas aeruginosa (MTCC 424)  และเชื้อรา  ได้แก่ Aspergillus niger (MTCC 282), Aspergillus clavatus (MTCC 1323) และ Candida albicans (MTCC 227) วัดขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของการยับยั้งเชื้อ  (zone of inhibition) ผลการทดลองพบว่าฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา จะเพิ่มขึ้นตามขนาดยาแบบแปรผันเป็นเส้นตรง เมื่อเปรียบเทียบกับยามาตรฐาน โดยขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียโดยรวม เท่ากับ 11-20 มิลลิเมตร และในเชื้อราโดยรวม เท่ากับ13-19 มิลลิเมตร สารสกัดขนาด 25, 50, 100, 250 μg/ml  พบขนาดของเส้นผ่านศูนย์กลางของการยับยั้งเชื้อ (12, 15, 16, 17 มิลลิเมตร) ต่อเชื้อ E. coli,  (13, 14, 15, 17 มิลลิเมตร) ต่อเชื้อ P. aeruginosa, (13, 16, 17, 19 มิลลิเมตร) ต่อเชื้อ S. aureus, (12, 13, 16, 18 มิลลิเมตร) ต่อเชื้อ S. pyrogenes, (13, 14, 17, 19 มิลลิเมตร) ต่อเชื้อ A. niger และ(12,14, 17, 18 มิลลิเมตร) ต่อเชื้อ C. albicans, (14, 15, 19, 21 มิลลิเมตร) ต่อเชื้อ A.  clavatus (Acharya, et al., 2014)

 

การศึกษาทางคลินิก:

        ไม่มีข้อมูล

 

การศึกษาทางพิษวิทยา:

        การทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดทั้งต้นด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกินในขนาด 16 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (LD50>32)  และให้โดยการฉีด (LD50=12.7) เข้าใต้ผิวหนังหนู ตรวจไม่พบอาการเป็นพิษ (กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, 2546)

 

เอกสารอ้างอิง:

1. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. 2546. ประมวลผลงานวิจัยด้านพิษวิทยา ของสถาบันวิจัยสมุนไพร เล่ม 1.โรงพิมพ์การศาสนา:กรุงเทพมหานคร.

2. Boonarkart C. Immunostimulation of some Thai medicinal plant extracts. Master of Science in Biomedicinal Chemistry. Bangkok. Chulalongkorn University; 2003.

3. Acharya R, Padiya RH, Patel ED, Harisha CR, Shukla VJ. Microbial evaluation of Limnophila rugosa Roth. (Merr) leaf. Ayu. 2014;35(2):207-210.

 

ข้อมูลตำรับยาเขียวหอม : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 13
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่