กำแพงเจ็ดชั้น

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

กำแพงเจ็ดชั้น

ชื่อเครื่องยา กำแพงเจ็ดชั้น
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา ตาไก้
ได้จาก ลำต้น เนื้อไม้
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา) ตะลุ่มนก (ราชบุรี) ตาไก้ (พิษณุโลก) น้ำนอง มะต่อมไก่ (เหนือ) หลุมนก (ใต้) ขอบกระด้ง พรองนก (อ่างทอง); ขาวไก่, เครือตากวาง, ตากวาง, ตาไก่ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ); กระดุมนก (ประจวบคีรีขันธ์); กลุมนก
ชื่อวิทยาศาสตร์ Salacia chinensis L.
ชื่อพ้อง Salacia prinoides
ชื่อวงศ์ Celastraceae (Hippocrateaceae)

ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
           ไม้เถาเนื้อแข็ง หรือไม้พุ่มรอเลื้อย เปลือกลำต้นเรียบสีเทานวล เนื้อไม้มีวงปีสีน้ำตาลแดงเข้มจำนวนหลายชั้นเห็นชัดเจน เรียงซ้อนกันเป็นชั้น 7-9 ชั้น ต้นมีรสเมาเบื่อ ฝาด สุขุม

 

เครื่องยา กำแพงเจ็ดชั้น

 

เครื่องยา กำแพงเจ็ดชั้น

 

เครื่องยา กำแพงเจ็ดชั้น

 

ต้นกำแพงเจ็ดชั้นที่แสดงในงานสมุนไพรแห่งชาติ

 


ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
           ไม่มีข้อมูล

สรรพคุณ:
           ยาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี: ใช้ เนื้อไม้ ต้มน้ำดื่ม แก้โรคไต แก้ท้องผูก ยาระบาย แก้ลมตีขึ้น ลำต้น แก้ปวดเมื่อย คลายเส้นเอ็น (เข้ายากับ ตาไก่ ตากวง อ้อยดำ ขมิ้นเกลือ ดูกหิน ตับเต่า ใช้ลำต้นของทุกต้นรวมกัน มาต้มน้ำดื่ม) ยาระบาย (เข้ายากับ ยาปะดง ตากวง ดูกไส คอแลน พาสาน) ขับปัสสาวะ (เข้ายากับ แก่นตาไก้ แก่นตากวง แก่นดูกไส แก่นตานนกกด) แก้ริดสีดวงทวาร (เข้ายากับ ว่านงวงช้าง แก่นกระถิน ปูนขาว แล้วต้ม)
           ตัวอย่างตำรับยาของตาไก้ ใช้เป็นยาแก้ปวดเมื่อย แก้กระษัย บำรุงกำลัง ใช้ตาไก้ ตากวง เถาวัลย์เปรียง เถาวัลย์เหล็ก (เครือเขาแกลบ) ต้มกินเป็นประจำ ตัวอย่างตำรับยาระบาย ใช้ตาไก้ ตากวง แก่นนมสาว แก่นดูกใส รากเกียงปืน กาฝากต้นติ้ว ต้มกิน ตัวอย่างตำรับยาแก้เบาหวาน ใช้กำแพงเจ็ดชั้น(ตาไก้) แส้ม้าทะลาย รากคนทา รากมะแว้ง เครือเถามวกขาว เถามวกแดง รากลำเจียก ชะเอมไทย อย่างละ 2 บาท ต้มกินจนยาจืด
           ยาพื้นบ้าน: ใช้ ต้น รสเมาเบื่อฝาดสุขุม ต้มน้ำดื่ม หรือดองสุรา แก้ปวดเมื่อย หรือเข้ายาระบาย (ผสมกับรากตูมกาขาว รากชะมวง และรากปอด่อน) บำรุงโลหิต ฟอกโลหิต แก้โลหิตเป็นพิษทำให้ร้อน บำรุงโลหิต แก้โลหิตจาง แก้ผอมแห้งแรงน้อย ขับระดูขาว แก้ปวดตามข้อ แก้ไขข้อพิการ เข้าข้อ แก้ประดง ขับผายลม ฟอกและขับเลือดระดู รักษาโรคตับอักเสบ (ผสมกับเปลือกต้นมะดูก) แก้หืด (ผสมกับแก่นพลับพลา แก่นโมกหลวง ต้นสบู่ขาว ต้นพลองเหมือด แก่นจำปา และต้นคำรอก) แก้เบาหวาน (ผสมกับรากทองพันชั่ง หัวข้าวเย็นเหนือ หัวข้าวเย็นใต้ หัวร้อยรู แก่นสัก และหญ้าชันกาดทั้งต้น) ราก รสเมาเบื่อฝาด ต้มหรือดองสุราดื่ม ขับโลหิตระดู บำรุงโลหิต ดับพิษร้อนของโลหิต แก้ลมอัมพฤกษ์ รักษาโรคตา บำรุงน้ำเหลือง ใบ แก้มุตกิด (ระดูขาว) ขับระดู ดอก แก้บิดมูกเลือด แก่นและราก ต้มน้ำดื่มเป็นยาระบายแก้เส้นเอ็นอักเสบ
           ยาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดนครราชสีมา: ใช้ ลำต้น บำรุงโลหิต โดยใช้ลำต้นต้มน้ำดื่มวันละ 1-2 ช้อนชา ก่อนอาหารเช้า-เย็น
           กัมพูชา: ใช้ เถา ต้มน้ำดื่ม แก้โรคเบาหวาน

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
           ไม่มีข้อมูล


องค์ประกอบทางเคมี:
    สารกลุ่ม Friedelane-Type Triterpenes ได้แก่ maytenoic acid,  friedelane-3-on-29-ol, 15R-hydroxyfriedelan-3-one, wilfolic acid C, salaspermic acid, orthosphenic acid, salasones A, salasones B, salasones C
    สารกลุ่ม Oleanane-Type Triterpenes ได้แก่ 3β, 22β-dihydroxyolean-12-en-29-oic acid,
maytenfolic acid, β-amyrin, 22α-hydroxy-3-oxoolean-12-en-29-oic acid,  β-amyrenone
    สารกลุ่ม Ursane-Type Triterpenes ได้แก่ tripterygic acid A, demethylregelin
    สารกลุ่ม Norfriedelane-Type Triterpenes ได้แก่ tingenone, tingenin B, regeol A, triptocalline A, salaquinone A, B
    สารกลุ่ม Eudesmane-Type Sesquiterpene ได้แก่ celahin C, salasol A

    สารกลุ่ม Sulfonium ได้แก่ salacinol, kotalanol

    สารกลุ่ม Xanthone ได้แก่ mangiferin


การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
        ฤทธิ์ต้านเบาหวาน โดยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์แอลฟากลูโคซิเดส
        สารสกัดด้วยน้ำจากลำต้น และรากกำแพงเจ็ดชั้น ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์แอลฟากลูโคซิเดสในลำไส้เล็กทั้งสองชนิดในหนูทดลอง โดยสามารถยับยั้งเอนไซม์ซูเครส โดยมีค่า IC50 ของลำต้น และราก เท่ากับ  36.5, 57.9 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร ตามลำดับ  และยับยั้งเอนไซม์มอลเตส โดยมีค่า IC50 ของลำต้น และราก เท่ากับ 87.3, 157.7 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร แสดงว่าลำต้นออกฤทธิ์ได้ดีกว่าในราก  โดยพบว่าสารออกฤทธิ์ดีคือ salacinol และ kotalanol
       ฤทธิ์ต้านเบาหวาน โดยเพิ่มการหลั่งอินซูลิน
       สารแมงจิเฟอริน (mangiferin) ที่แยกได้จากต้นกำแพงเจ็ดชั้น มีฤทธิ์ลดการเกิดออกซิเดชัน ลดการทำลายเซลล์ตับอ่อนจากอนุมูลอิสระ และปกป้องเบต้าเซลล์ของตับอ่อน ในหนูที่เป็นเบาหวานได้ เมื่อให้สารแมงจิเฟอรินในขนาด 40 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวในหน่วยกิโลกรัม เป็นเวลา 30 วัน
       นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าสารแมงจิเฟอรินที่แยกได้จากรากของพืชจีนัส Salacia ชนิดอื่น คือ  Salacia reticulate  มีฤทธิ์ยับยั้งยั้งเอนไซม์แอลฟ่ากลูโคซิเดส 3 ชนิด ในหนูทดลอง ได้แก่ sucrase, isomaltase และ aldose reductase โดยมีค่าการยับยั้ง IC50 เท่ากับ  87, 216  and 1.4 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร ตามลำดับ


การศึกษาทางคลินิก:
           ไม่มีข้อมูล


การศึกษาทางพิษวิทยา:
          การทดสอบความเป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์ เมื่อป้อนสารสกัดน้ำจากลำต้นให้หนูแรทในขนาด 2000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน ในหนูเพศผู้  จำนวน 25 ตัว เป็นเวลา 8 สัปดาห์ ก่อนและหลังผสมพันธุ์ และในหนูเพศเมียจำนวน 25 ตัว เป็นเวลา 2 สัปดาห์ ก่อนและหลังผสมพันธุ์  ตั้งแต่ช่วงตั้งครรภ์จนถึงวันที่ 20 ของการให้นม ไม่พบความผิดปกติในระบบสืบพันธุ์ และการเจริญของอวัยวะระบบสืบพันธุ์ ทั้งเพศผู้ และเพศเมีย

 

ค้นหาข้อมูลพืชที่ให้เครื่องยา : phar.ubu.ac.th/herb-phargarden/

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 34
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่